svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สคบ.เรียก “OPPO - Realme” แจงปมแอปฯกู้เงินเถื่อน

สคบ. เรียก “OPPO - Realme แจงปมแอปฯกู้เงินเถื่อน เผย 2 ตัวแทนไม่ขอพบสื่อ ยังไม่ชัดใครเป็นนายทุนเงินกู้ - ส่วนเจ้าของแอปฯ รู้แค่ว่าเป็นคนจีน ด้านเหยื่อคนไทยคลิกกู้เงิน หากเข้ามาร้องเรียน สคบ.พร้อมคุ้มครอง และประสาน ตำรวจ ปคบ. เอาผิดอาญา

จากกรณีสมาร์ทโฟน 2 ค่ายดัง  OPPO และ Realme เเอบติดตั้งแอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อน "สินเชื่อความสุข" และ "Fineasy" หลังจากวานนี้ (13 ม.ค.2568) กสทช.เรียกตัวแทน OPPO และ Realme เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งภายหลังการชี้แจง กสทช. ได้ขีดเส้นให้ทั้ง 2 ค่ายส่งข้อมูล และ ระบุวันลบแอปฯแบบเร่งด่วนภายใน 16 ม.ค.นี้

ความคืบหน้าวันนี้ (14 ม.ค.2568) เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. พบว่า ทางบริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO และ บริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายมือถือยี่ห้อ Realme ได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ สคบ.

ภายหลังตัวแทน 2 บริษัท เข้าชี้แจงกว่า 2 ชั่วโมง นายอนุพงศ์ เจริญเวช ผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวกล่าวว่า จากการพูดคุยในเบื้องต้น ตัวแทนทั้งสองบริษัทไม่สะดวกที่จะออกมาพบกับสื่อมวลชน  ทาง สคบ. จึงสอบสวน เพราะอยากได้ข้อมูลเชิงลึกของทั้งแอปฯ และ ผู้ให้บริการสินเชื่อทั้ง 2 แอปฯ

ซึ่งภายหลังสอบสวนไป 2 ชม. นั้น ยังไม่ได้ข้อมูลในเชิงลึก จึงต้องใช้เวลาในการสอบสวนต่อ และ ในวันพรุ่งนี้ (15 ม.ค.2568) น.ส. จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้นำเอาผลการสอบสวน ไปรายงาน และประชุมกันต่อที่ทำเนียบรัฐบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ต้องสอบถามให้ได้ข้อมูลเชิงลึกให้มากขึ้นว่า ธุรกิจสินเชื่อเงินกู้ทำถูกต้องตามกฏหมายของไทยหรือไม่

ส่วนตัวเลขผู้ลงทะเบียนใช้เงินกู้ทั้ง 2 แอปฯ ฝั่งตัวแทนมีการให้ข้อมูลกับ สคบ. แล้ว แต่ยังไม่ได้บอกทั้งหมดเราจึงคั้นต่อเพื่ออยากได้ข้อมูลทั้งหมด

ส่วนเครือข่ายเงินกู้ที่อยู่ในแอปฯ จะทำการตรวจสอบ เรียกมาขยายผลต่อไป รวมทั้งตรวจสอบถึงนายทุนที่แท้จริงด้วย แต่เจ้าของแอปฯที่แท้จริงยังไม่มีข้อมูลสาวไปถึงโดยเบื้องต้นรู้เพียงว่าอยู่ประเทศจีนเท่านั้น

ส่วนประเด็นที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นต้นทางของมือถือทั้งสองยี่ห้อนี้ อนุญาตให้ติดตั้งแอปฯนี้ ด้วยหรือไม่นั้น นายอนุพงศ์ บอกว่า  ในการสอบสวน ตัวแทนที่มาวันนี้บอกว่า มันติดมาจากในเครื่อง ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้

ส่วนการติดตั้งแอปฯ เป็นการตั้งใจมาหลอกให้คนไทย ให้กู้เงินหรือไม่ นายอนุพงศ์ บอกว่า “อาจจะคิดแบบนั้นก็ได้“ ซึ่งการทำธุรกิจสินเชื่อทำได้ แต่ต้องดูกฎหมายของประเทศนั้นๆด้วย

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (15 ม.ค.2568) อาจมีความชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรกับประเทศจีนที่เป็นผู้ผลิตฯ หรือหากเอาผิดไม่ได้ หรือ ความผิดไปไม่ถึง ตัวแทนในประเทศไทยต้องรับผิดชอบ ส่วนจะรับรับผิดชอบได้มากน้อยแค่ไหนนั้นจะไปหารือกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำรัฐบาล

ส่วนประเด็นที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า แอปฯ เงินกู้ จดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย ทาง สคบ. บอกว่า กำลังตรวจสอบอยู่ เพื่อหาตัวนักพัฒนาแอปฯ หรือเจ้าของและนายทุน

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องไปตรวจถึงที่โรงงานและดูสัญญาหรือไม่ ประเด็นนี้ อนุพงศ์ บอกว่า ทาง สคบ. มีอำนาจเรียกดูสัญญา ถ้าเกี่ยวข้องกับคดีอาญาเราเรียกสอบอยู่แล้ว ส่วนต่างประเทศ สคบ.ไปไม่ถึง แต่ของประเทศไทยเราต้องมาดูกันต่อ เพราะคนที่จะทำธุรกิจร่วมกันมันต้องมีผลประโยชน์อะไรบางอย่างอยู่แล้ว

ส่วนเครือข่ายที่นำโทรศัพท์มือถือมาขายตามศูนย์ฯ ตัวเอง หรือไม่ นายอนุพงศ์ กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไปจะเชิญทุกเครือข่ายมาพูดคุย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นตัวสะท้อน ในอนาคตว่าการที่จะรับเครื่องมาขายนั้น ก็ต้องตรวจสอบ หรือในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องมีมาตรการที่ตรวจสอบให้มากขึ้น

พร้อมช่วยเหยื่อแอปฯกู้เงินเถื่อน

นาย อนุพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้นในตอนนี้มีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนต่อ สคบ. 9-10 ราย แต่ยังไม่ได้กดเข้าไปกู้เงิน เป็นเพียงลงทะเบียนใช้แอปฯเท่านั้น ซึ่งผู้เสียหายเหล่านี้ที่มาร้องเรียนเป็นกังวลเรื่องข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล

ส่วนผู้เสียหายที่กู้เงินหลักหมื่น และ เป็นหนี้เกือบล้าน นายอนุพงศ์ กล่าวว่า ให้ร้องเรียนมาที่ สคบ. จากนั้นเราจะประสานไปยังตำรวจ ปคบ. เพราะเป็นความผิดอาญาต่อกฎหมายอื่น ซึ่งการปล่อยเงินกู้เรียกดอกเบี้ย ผิดตาม พ.ร.บ.ทวงหนี้ ของประเทศไทย เราจะดำเนินการทันที แต่หนี้ดังกล่าวจะเป็นโมฆะหรือไม่ อาจจะทำไม่ได้ เพราะเป็นหนี้ก็ต้องใช้ แต่จะมาดูต่อไปว่าดอกเบี้ยที่จ่ายไปสมดุลกับจ่ายไปแล้วหรือไม่ หากจ่ายไปเกินเงินต้นที่กู้มาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินที่เหลือ เช่นเดียวกันกับคุณไปนอกระบบที่ต้องมีการไกล่เกลี่ยกัน