Highlights
--------------------
การตัดสินใจแยกทางระหว่าง ลีดส์ ยูไนเต็ด กับ มาร์เซโล บิเอลซา ผู้สร้างและนำทีมเลื่อนชั้นกลับสู่พรีเมียร์ลีก ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย
เมื่อสถานะปัจจุบันของทีมยูงทองอยู่ในช่วง "ดิ่งลง" ชนิดฉุดไม่อยู่ ด้วยสถิติเสียประตูมากที่สุดในลีก จนเข้าใกล้โซนตกชั้นทุกขณะ
เพียงไม่นานหลังจากมีรายงานว่า บิเอลซา เตรียมอำลาตำแหน่ง ชื่อของ เจสซี มาร์ช อดีตโค้ชชาวอเมริกันของ แอร์เบ ไลป์ซิก ก็ปรากฎขึ้นในฐานะตัวเลือกเดียวของ ลีดส์ ยูไนเต็ด ทันควัน
สำหรับแฟนบอลอังกฤษ ชื่อของ มาร์ช อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เจ้าตัวก็ถือเป็นศิษย์อีกคนของปรมาจารย์วงการฟุตบอลเยอรมนี ราล์ฟ รังนิก
รวมถึงเคยถูกวางเส้นทางล่วงหน้า ให้ขึ้นเป็นเฮดโค้ชของ แอร์เบ ไลป์ซิก ซึ่งถือเป็นสโมสรเรือธงของ เร้ด บูลล์ ในยุโรป ตามโรดแมปของผู้บริหาร แต่กลับถูกปลดจากตำแหน่งหลังเข้างานต่อจาก ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ เพียงไม่กี่เดือน
การรับตำแหน่งต่อจาก บิเอลซา ที่ เอลแลนด์ โร้ด จึงเป็นโอกาสอีกครั้งของเจ้าตัวที่จะได้พิสูจน์ตัวเองในลีกใหญ่ของยุโรป
เด็กหัวกะทิจากไอวีลีก
มาร์ช เกิดและโตที่วิสคอนซิน แต่ขณะที่เด็กชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ถ้าไม่เลือกเล่นเบสบอล บาสเกตบอล หรือ อเมริกันฟุตบอล
สิ่งที่เจ้าตัวเลือก คือ "ซอคเกอร์" หรือฟุตบอลที่คนทั่วโลกเล่นกัน
จนเมื่อเข้าเรียนที่พรินซ์ตัน หนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับหัวแถวของสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า ไอวีลีก
มาร์ช ก็กลายเป็นดาวเด่นของพรินซ์ตันบนเส้นทางนี้ ด้วยผลงาน 29 ประตู 15 แอสซิสต์ ใน 4 ฤดูกาล พร้อมดีกรีดาวซัลโวฟุตบอลไอวีลีก และทีมยอดเยี่ยมประจำฤดูกาล 1994 และ 1995 ทั้งที่เล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์
ก่อนถูกดราฟท์เข้าสู่ เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ (เอ็มแอลเอส) ในยุคตั้งไข่ เมื่อปี 1996 และลงเล่นให้ ดีซี ยูไนเต็ด, ชิคาโก ไฟเออร์ และ คิวาส ยูเอสเอ รวม 14 ฤดูกาล ได้แชมป์ เอ็มแอลเอส คัพ 3 สมัย ก่อนรีไทร์ในปี 2010
นอกจากเรื่องผลงานแล้ว อีกเหตุการณ์หนึ่งที่อาจทำให้หลายคนจำ มาร์ช ได้ คือการเผชิญหน้ากับ เดวิด เบ็คแฮม ของ แอลเอ แกแล็กซี ในสนาม สมัยที่เจ้าตัวเล่นให้ คิวาส นั่นเอง
มาร์ช ถูกดึงเข้าเป็นหนึ่งในสตาฟฟ์โค้ชทีมชาติสหรัฐฯ ชุดฟุตบอลโลก 2010 ของ บ็อบ แบรดลีย์ ซึ่งเคยร่วมงานกันมาก่อนที่พรินซ์ตัน, ชิคาโก และ คิวาส
หลังจบนัดชิงชนะเลิศ โกลด์ คัพ 2011 ที่ สหรัฐฯ แพ้ เม็กซิโก ในนัดชิงชนะเลิศ มาร์ช ก็ได้เริ่มงานในฐานะเฮดโค้ชครั้งแรก กับ มอนทรีออล อิมแพกต์ และ นิวยอร์ค เร้ดบูลล์ ใน เอ็มแอลเอส ก่อนเริ่มตระเวนรอบโลกเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในลีกต่าง ๆ ทั่วโลก
เรียนรู้จาก เดอะโปรเฟสเซอร์
ผลงานการคุม เร้ดบูลล์ นิวยอร์ค ที่เข้าตาผู้บริหารคือเหตุผลสำคัญให้ มาร์ช ได้ออกสู่โลกกว้างเพื่อเรียนรู้ศาสตร์ฟุตบอลจาก รังนิก ในฐานะผู้ช่วยโค้ชที่ แอร์เบ ไลป์ซิก
มาร์ช ยอมรับว่าเรื่องนี้อยู่เหนือความคาดหมายของตนมาก
เพราะย้อนไปตอนสัมภาษณ์เพื่อรับงานที่นิวยอร์ก เขาโต้เถียงไอเดียเรื่องฟุตบอลโดยเฉพาะการเพรสสูงเพื่อโต้กลับ หรือ "เกเกนเพรสซิ่ง" กับ รังนิก อย่างดุเดือด
แต่เมื่อได้ร่วมงานกับ รังนิก จริง ๆ แล้ว ก็พบว่ามีเรื่องมากมายที่ตนต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะความละเอียดในการทำงานสไตล์ รังนิก ที่วางรากฐานให้วงการฟุตบอลเยอรมนี และสโมสรในเครือของ เร้ดบูลล์
ปีนั้น รังนิก และ มาร์ช นำไลป์ซิก จบฤดูกาลในอันดับ 3 พร้อมสิทธิ์ไปเล่นใน ยูเอฟา แชมเปียนส์ลีก และแพ้ต่อ บาเยิร์น มิวนิค อย่างน่าเสียดายในนัดชิงชนะเลิศ เดเอฟเบ โพคาล
และมากพอจะเป็นเครดิตให้ผู้บริหารของกลุ่มเร้ดบูลล์ มอบโอกาสให้เขาได้เป็นเฮดโค้ชเต็มตัว ที่ ซัลซ์บวร์ก ในปี 2019 และนำต้นสังกัดคว้าดับเบิลแชมป์ลีกออสเตรีย รวมถึงการได้เป็นโค้ชชาวอเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ที่นำทีมลงเล่นในแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาลถัดมา
ความล้มเหลวที่ ไลป์ซิก
นับจากการสร้างชื่อที่ นิวยอร์ค มาร์ช ใช้เวลาถึงเจ็ดปี เรียนรู้ระบบของ เร้ดบูลล์ จนได้รับงานที่ใหญ่ที่สุดในเครือสโมสร นั่นคือการเป็นเฮดโค้ชของ แอร์เบ ไลป์ซิก ในบุนเดสลีกา
แต่เจ้าตัวกลับมีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเองไม่ถึงครึ่งฤดูกาล เมื่อแรงกดดันมหาศาลที่ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ ฝากไว้ก่อนย้ายไป บาเยิร์น มิวนิค
และการหาตัวตายตัวแทนของสตาร์ดังที่ย้ายออกไปในช่วงซัมเมอร์ ไม่ประสบผลสำเร็จ
โอลิเวอร์ มินท์ซลาฟฟ์ ซิอีโอ ไลป์ซิก ยืนกรานว่าผู้เล่นในทีมนั้นอยู่ในระดับหัวแถวของนุนเดสลีกา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือความไม่เข้ากันระหว่างโค้ชกับผู้เล่น
มาร์ช จึงต้องรับผิดชอบกับผลงานที่เกิดขึ้น
และเคยตกเป็นข่าวย้ายมาเป็นผู้ช่วยของ รังนิก ที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วย แต่เรื่องนี้ก็ไม่เกิดขึ้น กระทั่ง ลีดส์ ยูไนเต็ด ประกาศปลด บิเอลซา
มาร์ช ซึ่งถูกจับตาในฐานะหนึ่งในศิษย์ของ รังนิก ที่เน้นฟุตบอลเพรสซิ่งสูง จึงถูกเลือกเพื่อเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ของทีมยูงทอง และจะเป็นผู้จัดการทีมชาวอเมริกันคนล่าสุดในพรีเมียร์ลีก ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ย้อนรอยโค้ชอเมริกันในดินแดน "ซอคเกอร์"
ฟุตบอลสำหรับคนอเมริกัน และต้นกำเนิดกีฬาชนิดนี้อย่างอังกฤษนั้นแตกต่างกันมาก
กว่าที่ผู้เล่นชาวอเมริกันจะพิสูจน์ตัวเองในยุโรปรวมถึงอังกฤษได้ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าทศวรรษ
แต่ในช่วงยี่สิบปีหลังสุด ผู้เล่นตัวหลักของทีมชาติสหรัฐฯ อย่าง ทิม ฮาวเวิร์ด, คลินท์ เดมพ์ซีย์ หรือ แลนดอน โดโนแวน ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านักเตะชาวอเมริกันนั้น สามารถเล่นฟุตบอลในระดับสูงได้
แต่ในระดับโค้ชนั้น กลับมีไม่มากนัก
เกร็ก แบร์ฮัลเทอร์ คือโค้ชอเมริกันคนแรกที่ได้โอกาสคุมสโมสรในลีกยุโรป หลังเซ็นสัญญาคุม ฮัมมาร์บี ในสวีเดน เมื่อราวสิบปีที่แล้ว
และเป็นการปูทางให้เพื่อนร่วมชาติได้พิสูจน์ตัวเองในเวลาถัดมา
ในพรีเมียร์ลีกนั้น จนถึงปัจจุบัน เพิ่งมีผู้จัดการทีมชาวอเมริกันเพียงสองคน คือ บ็อบ แบรดลีย์ อาจารย์คนแรกของ มาร์ช นั่นเอง
แบรดลีย์ เข้ามารับงานคุม สวอนซี ซิตี้ ในเดือนตุลาคม 2016 แทน ฟรานเชสโก กุยโดลิน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าเขาได้รับงานนี้ เพียงแค่เพราะเจ้าของทีมเป็นคนอเมริกันเท่านั้น
สุดท้าย แบรดลีย์ ก็ถูกปลดจริง ๆ ในอีกสองเดือนถัดมา เพราะนำทีมแพ้ถึง 7 จาก 11 นัด
อีกรายอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก คือ เดวิด วากเนอร์ ซึ่งเข้ามาทำงานในอังกฤษ ก่อน แบรดลีย์ ด้วยซ้ำ ในฐานะผู้จัดการทีมฮัดเดอร์สฟิลด์ ในเดอะแชมเปียนชิพ เมื่อปี 2015
แต่หลังจากนั้นสองปี วากเนอร์ ก็เป็นผู้จัดการทีมคนที่สองในพรีเมียร์ลีก หลังนำฮัดเดอร์สฟิลด์ เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จ และยังนำทีมรอดพ้นการตกชั้นได้ด้วย แต่สุดท้าย วากเนอร์ ก็ต้องจากไปอยู่ดี ในเดือนมกราคม 2019
มาร์ช จึงจะเป็นผู้จัดการทีมอเมริกันคนที่สามเท่านั้นในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก
และมีเดิมพันสูงทีเดียว นั่นคือการนำลีดส์ อยู่รอดในลีกสูงสุดอังกฤษให้ได้ เพื่อพิสูจน์ว่าเขาดีพอสำหรับการคุมทีมในลีกใหญ่ยุโรป หลังได้รับโอกาสเป็นครั้งที่สอง ในเวลาห่างกันเพียงไม่กี่เดือน
--------------------
SOURCE