HIGHLIGHTS
- น้ำมันรั่วลงทะเลเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทบทั่วทุกมุมโลก โดยมีระดับความร้ายแรงต่างกันตามพื้นที่
- ผลกระทบที่เกิดกับธรรมชาติคือความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ ร้ายแรงจนทำให้สูญเสียชีวิตสัตว์น้ำไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงปนเปื้อนสัตว์น้ำในพื้นที่จนไม่อาจนำมาใช้บริโภค
- ตามมาด้วยการสูญเสียบางอาชีพในพื้นที่จากการปนเปื้อนสารพิษ ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไปโดยสิ้นเชิง
- ปัจจุบันแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมยังไม่ชัดเจนหรือได้ผลมากนักในทั่วทุกมุมโลก
การรั่วไหลของน้ำมันคือข่าวที่เราได้ยินกันจนชาชิน ล่าสุดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลเกิดขึ้นในโรงกลั่นน้ำมันของซีเรีย ลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนและกำลังไหลลงบนเกาะไซปรัสในไม่ช้า เป็นการรั่วไหลของถังน้ำมัน 15,000 ตันในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนตรงชายฝั่งแถบซีเรีย มาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม และการวิเคราะห์ด้วยภาพถ่ายการรั่วไหลของน้ำมันครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่า 800 ตารางกิโลเมตรทีเดียว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในโลกที่มีอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหลลงท้องทะเล แม้แต่ในประเทศไทยเองก็เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อยู่ทุกปี สถิติล่าสุดจากกรมเจ้าท่าเองในปี 2563 มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลเกิดขึ้น 6 ครั้ง เป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป และหนึ่งในครั้งใหญ่สุดในประเทศไทยคงเป็นเคสปี 2556 โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล กับการรั่วไหลมากกว่า 50,000 ลิตร
เมื่อเกิดการรั่วไหลหากเป็นในปริมาณน้อยอาจสามารถควบคุมความเสียหายอยู่ในวงจำกัด หรือปล่อยให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติได้ แต่นั่นสามารถทำได้เพียงกับปริมาณน้อยและจำกัดเพียงบางชนิด อีกทั้งต้องมีการติดตามผลกระทบของคราบน้ำมันอย่างใกล้ชิดในกรณีเกิดความเปลี่ยนแปลง
แต่หากปริมาณการรั่วไหลมีมากเกินจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หาไม่ผลกระทบที่ตามมามากพอจะฆ่าทั้งท้องทะเลและมนุษย์เราไปพร้อมกัน
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและท้องทะเลที่อาจไม่กลับมาเหมือนเก่า
ไม่ใช่ทุกครั้งเมื่อมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ด้วยอาจเกิดการรั่วไหลขึ้นในพื้นที่กลางทะเลห่างไกลจากชายฝั่ง หรือคลื่นลมพัดพาจนเกิดผลกระทบขึ้นไม่มาก แต่บางกรณีก็สร้างผลกระทบร้ายแรง เช่น การรั่วไหลน้ำมันของ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล กลางอ่าวไทย จังหวัดระยอง, การรั่วไหลของน้ำมันในแถบชายฝั่งมอริเซียส หรือการรั่วไหลน้ำมันดิบบีพีในสหรัฐฯ เป็นต้น
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสัตว์น้ำเกิดขึ้นในหลายระดับ ในเบื้องต้นเมื่อน้ำมันปนเปื้อนร่างกายและผิวหนังจะทำให้ขนสัตว์จับตัวเป็นก้อน น้ำซึมลึกเข้าถึงผิวหนังจนอาจทำให้เกิดการจมน้ำ อีกทั้งการรักษาอุณหภูมิร่างกายทำได้ยาก จนเกิดอัตราการตายทั้งจากความหนาวหรือร้อนตายเป็นจำนวนมาก บางครั้งยังอาจไปอุดตันปากและจมูกได้อีกด้วย
นอกจากส่งผลทางตรงยังทำให้เกิดการปนเปื้อนในสัตว์น้ำเป็นวงกว้าง เป็นพิษต่อทางเดินอาหารของสัตว์น้ำและทำลายเนื้อเยื่อในอวัยวะภายใน เป็นอีกสาเหตุให้สัตว์น้ำเสียชีวิต และเมื่อมีการปนเปื้อนหรือตายไปเป็นจำนวนมาก ห่วงโซ่อาหารย่อมได้รับผลกระทบ ตามมาด้วยความเสียหายต่อระบบนิเวศทั้งหมดโดยรวม
ยิ่งไปกว่านั้นสารประกอบหรือสารเคมีในน้ำมันล้วนส่งผลให้ปะการังเกิดการฟอกขาวและตายลง ส่งผลกระทบกับปลาและความสมบูรณ์ภายในระบบนิเวศอย่างร้ายแรง ขัดขวางการสังเคราะห์แสงของปะการัง หญ้าทะเล สาหร่าย ไปจนถึงแพลนตอน ทั้งยังทำให้การวางไข่และขยายพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด เช่น เต่ากับนกทะเลอีกด้วย
ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดจากน้ำมันรั่วดังเช่น เหตุการณ์ดังของแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก Deepwater Horizon ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตสัตว์ทะเลเป็นจำนวนมหาศาล ตั้งแต่ นกทะเลจำนวนกว่า 800,000 ตัว เต่าทะเล 65,000 ตัว วาฬและโลมาอีกร่วม 1,400 ตัว และนี่ยังถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหาย และผลกระทบระยะยาวอีกมากมายที่ตามมา
เคราะห์กรรมที่หนีไม่พ้นเมื่ออันตรายย้อนกลับมาสู่ตัวเรา
น้ำมันรั่วไหลย่อมตามมาด้วยสารพิษปริมาณมหาศาลลงสู่ทะเลไปตามกัน ส่งผลกระทบกับมนุษย์หรือใครก็ตามที่เข้าไปสัมผัส ในระยะสั้นอาจทำให้เกิดการวิงเวียน ปวดศีรษะ เคืองตา เสียการทรงตัว หมดสติ ไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนในระยะยาวเมื่อสารพิษซึมลงไปตามร่างกาย อาจทำให้เกิดผื่นคันลุกลามไปถึงมะเร็งผิวหนัง หากสูดเข้าไปอาจทำให้ปอดเกิดติดเชื้อและอักเสบทำลายทางเดินหายใจ ทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ จนเกิดเลือดออกในอวัยวะจนล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด
นั่นคือผลกระทบในทางตรงและเมื่อเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาด้วยคุณค่าทางเศรษฐกิจของทั้งพื้นที่ ตั้งแต่การสูญเสียคุณสมบัติในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว จากการปนเปื้อนของสารพิษและน้ำมัน ทำลายทัศนียภาพและความปลอดภัยไปหมดสิ้น
เช่นเดียวกับแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทั้งหลายเมื่อเกิดการปนเปื้อน ฟาร์มกุ้ง หอย ปู ที่เพาะพันธุ์ขายจะถูกทำลายจากการปนเปื้อนจนไม่สามารถนำไปบริโภค รวมถึงธุรกิจประมงทำให้สัตว์น้ำจำนวนมากตายและลดจำนวน ถึงสามารถหาจับได้บางส่วนก็เกิดความผิดปกติเช่น ตาบอดหรือมีเนื้องอกทำให้อาชีพประมงในพื้นที่ถูกทำลาย
เทียบจากเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้น เหตุการณ์รั่วไหลน้ำมันดิบในจังหวัดระยอง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวจังหวัดระยอง ภายหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วในปี 2556 แม้มีการเก็บกู้ทำความสะอาดท้องทะเลแล้ว สารพิษตกค้างกลับยังคงอยู่และไม่ได้มีการจัดสำรวจอย่างจริงจัง สาเหตุมาจากการประเมินและตรวจสอบจำกัดแค่ผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ ไม่ได้ครอบคลุมการสำรวจทรัพยากรทางทะเล
เลวร้ายกว่าคือนอกจากตัวน้ำมันและสารเคมีประกอบภายในจะสร้างปัญหา เป็นอันตรายทั้งกับท้องทะเล สัตว์น้ำ และมนุษย์แล้ว อันตรายแอบแฝงไม่แพ้กันกลับเป็นสารที่มีไว้สำหรับสลายน้ำมันชื่อ Slickgone NS ซึ่งมีความเป็นพิษสูง หากใช้ในปริมาณมากเกินอาจทำให้ปะการังตายทันที รวมถึงผลผลิตด้านการประมงไม่ว่าจะเป็นเคยที่หายไปถึง 95% ปูลดลง 50% ปลาอินทรีหายไป 60%
มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียหายเกินกว่าจะประเมินค่า ไม่ว่าในแง่การท่องเที่ยวหรือประมงทำลายระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนโดยสิ้นเชิง ความอุดมสมบูรณ์ของพันธ์ปลาสาบสูญ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมหลายชนิดต้องยุติและปิดตัวลง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านท้องถิ่นให้ต้องเปลี่ยนอาชีพ บ้างก็หันไปรับจ้างเรือใหญ่ บางส่วนก็จำใจเข้ามาทำงานในเมือง กลายเป็นปัญหาให้แก่ชุมชนและสังคมเมืองเพิ่มเติมอีกด้วย
จนปัจจุบันการแก้ไขและสำรวจคราบน้ำมันตกค้างรวมถึงความเสียหายต่อระบบนิเวศยังไม่มีวี่แววดำเนินการแน่ชัด แม้จะมีคำตัดสินจากศาลให้ทางบริษัทชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านแล้วก็ตาม แต่ในส่วนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมกลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
นี่ไม่ใช่ปัญหาเกิดขึ้นในไทยที่เดียว หลายประเทศยามเกิดเหตุการณ์นี้ล้วนประสบปัญหา ไม่ว่าเหตุการณ์ในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ การรั่วไหลน้ำมันจากโรงไฟฟ้าสู่แม่น้ำภายในรัสเซีย หรืออีกหลายเหตุการณ์เอง การขจัดคราบน้ำมันออกไปไม่ใช่ผลสำเร็จเป็นแค่ก้าวแรก สำหรับการฟื้นฟูและลดทอนผลกระทบต่อธรรมชาติที่ตามมา
น่าสนใจว่าคราวนี้เหตุการณ์น้ำมันรั่วในซีเรียจะส่งผลกระทบต่อท้องทะเลบนโลกอีกมากแค่ไหน
เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช
--------------------
ที่มา