svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

The Great Resignation - เมื่อ Gen Z ไม่ทน หลังค้นพบโลกของการทำงานวิถีใหม่

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างหนักเป็นประวัติการณ์ หลังโควิด-19 กระชากทุกอย่างลงเหว แต่ทำไมผู้คนหลายล้านคนโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ต่างพากันลาออกจากงานแบบไม่แคร์สื่อ มันเกิดอะไรขึ้น? พวกเขาค้นพบอะไรในโลกยุคหลังโควิด-19?

          โควิดเปลี่ยนชีวิตเรา ชีวิตเราเปลี่ยนไปเพราะโควิด บางสิ่งงอกงาม บางสิ่งสูญสลาย ในทุกวิกฤต อาจมีโอกาสอยู่จริง อยู่ที่เราจะมองเห็นโอกาสที่ว่านั้นหรือเปล่า เช่น การค้นพบโลกของการทำงานแบบใหม่ การหารายได้ในรูปแบบใหม่ๆ เพราะหลังโควิดจากเราไป ก็จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้ว


          ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ‘The Great Resignation’ หรือ การลาออกจากงานครั้งมโหฬาร ยังดำเนินต่อไป ว่ากันว่ามันเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อมีพนักงานลาออกจากงานเกือบสิบล้านคนในเวลาแค่เพียงสองเดือน (เมษายน-พฤษภาคม) แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์จะเริ่มฟื้นคืนเพราะได้วัคซีนมากอบกู้ และวิถีชีวิตแบบปกติก็กำลังจะกลับเข้าสู่รูปรอยเดิม แต่มันกลับไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะบางสิ่งเมื่อมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่อาจย้อนคืน หลายเหตุผล หลากคำตอบ แต่ทั้งหมดล้วนเริ่มต้นเหมือนบทเริ่มต้นในนวนิยาย หรือภาพยนตร์ที่พวกเราคุ้นเคยกันดี....เช่นว่า วันหนึ่งเมื่อ A พบกับ B  เขาไม่เคยรู้เลยว่า หลังจากวินาทีนั้นชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล แล้วถ้าย้อนเวลาได้ล่ะ คุณอยากย้อนกลับไปไหม เผื่อว่า เราอาจจะไม่ต้องพบกับบทเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเลย?

 

          คำถามก็คือ คุณค้นพบอะไรในความเปลี่ยนแปลง? เมื่อโควิด-19 ได้เปลี่ยนชีวิต A ไปตลอดกาล


          “พวกเราได้เปลี่ยนไปแล้ว งานก็เปลี่ยนไป วิธีคิดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ก็ล้วนเปลี่ยนแปรไป” Tsedal Neeley ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School และผู้แต่งหนังสือ Remote Work Revolution: Succeeding From Anywhere กล่าว เธอบอกว่า เวลานี้คนทำงานต้องการความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการระบาดครั้งรุนแรงนี้ จากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่อาจมีได้...

 

Jonathan Caballero ผู้ได้เวลาคืนมาหลังลาออกจากงานรูปแบบเดิม (เครดิตภาพ: Andrea Hsu/NPR) เรื่องราวของ Jonathan Caballero นักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวอเมริกัน 
          Jonathan ค้นพบสิ่งที่น่าตกใจเมื่อปีที่แล้ว เมื่อเขาอายุ 27 เขาพบว่า ผมของเขาบางลง! ฉับพลันเขาก็ได้คิดว่า ชีวิตผ่านไปเร็วเกินไป! ขณะที่เขานั่งตามลำพังอยู่ในบ้านในไฮแอทส์วิลล์ รัฐแมริแลนด์


          ยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย ยังมีที่ที่อยากไปอีกตั้งเยอะ Caballero จินตนาการถึงชีวิตที่เขาน่าจะจบวันทำงานด้วยการว่ายน้ำแทนที่จะขับรถกลับบ้านเป็นเวลานาน และเมื่อนายจ้างของเขาเริ่มส่งสัญญาณเรียกพนักงานกลับมาทำงานอีกครั้ง เขาก็ตัดสินใจยุติการเดินทาง 45 นาทีนั้นลง เมื่อได้เวลาคืนมา เขาก็เริ่มมองหางานที่ดีกว่าเดิม นั่นก็คือองค์กรที่มีตัวเลือกให้ทำงานแบบทางไกล ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่มาอำนวยความสะดวก และไม่นานนักเขาก็ได้รับข้อเสนอตำแหน่งงานมากมาย


          “ผมคิดว่า โควิดได้เปลี่ยนวิธีคิดของผม ด้วยการที่ผมได้ให้คุณค่ากับเวลาของตัวเองอย่างจริงจัง" เขากล่าว


          ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ค่อย ๆ ลดลง กลายเป็นว่าผู้คนต่างพากันลาออกจากงานเพื่อแสวงหารายได้ที่มากกว่าเดิม มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และที่สำคัญมีความสุขมากขึ้น หลังรอดจากโควิด-19 มาได้ หลายคนก็ 'ได้คิด' ทบทวนว่า งานที่ทำอยู่มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร มันมีคุณค่ายังไงต่อชีวิต ทำไปเพื่ออะไร และที่ผ่านมาพวกเขาใช้เวลาในชีวิตไปอย่างไร ด้วยการตระหนักเพียงไม่กี่ข้อนี้เองที่ส่งผลให้เกิดการลาออกเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล จนเกิดปรากฎการณ์ Great Resiganation มีคน 4 ล้านคนลาออกจากงานในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว!

 

          หากเป็นช่วงเวลาปกติ ผู้คนจำนวนมากที่ลาออกจากงานนั้น คือสัญญาณบ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง มีงานให้ (เลือก) ทำมากมาย แต่ช่วงเวลานี้ไม่ใช่เวลาปกติ! โควิด-19 นำไปสู่ภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐและในทุกประเทศทั่วโลก มีผู้คนอีกหลายล้านคนที่ยังตกงาน แต่กลายเป็นว่า เวลานี้นายจ้างกำลังโอดครวญเรื่องการขาดแคลนแรงงานอย่างเฉียบพลัน!
Gen Z ชาวอเมริกันในช่วงวัย 18-24 เกินกว่าครึ่งบอกว่า พวกเขามีแผนลาออกเพื่อหางานทำใหม่ในปีหน้า (เครดิตภาพ: getty image) เมื่อ Gen Z อยากลาออก แล้วเจ้านายจะทำยังไง?
          แค่ Gen Z ก็ซึ้งแล้ว เมื่อผลสำรวจล่าสุดจาก Adobe ในจำนวนแรงงาน 5,500 คน พบว่า 56% ของคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี บอกว่า พวกเขากำลังวางแผนที่จะเปลี่ยนงานในปีหน้า ส่วนผลการสำรวจจาก Microsoft และ Bankrate ก็ออกมาในทำนองเดียวกัน เมื่อผลออกมาว่า Gen Z ถึง 54% และ 77% ตามลำดับกำลังคิดที่จะลาออกจากงาน! ทำไม?

 

          ชาวอเมริกันจำนวน 4 ล้านคนลาออกจากงานในเดือนเมษายนปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของจำนวนที่ออกจากงานในเดือนเมษายนของปีที่แล้ว ส่วนอีก 3.9 ล้านคนทยอยกันลาออกในเดือนมิถุนายน


          Anthony Klotz ศาสตราจารย์ด้านบริหารธุรกิจจาก Texas A&M University มอง "The Great Resignation"  ซึ่งเป็นคำฮอตฮิตในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้นว่า "เหตุผลที่พนักงานจำนวนหนึ่งยังทำงานอยู่ในออฟฟิศนั้นก็เพราะว่า ค่าใช้จ่ายหากออกจากงานสูงกว่า" แต่อัตราส่วนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วในคนงานจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นว่า หากยังทำงานอยู่ (ออฟฟิศ) ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มสูงขึ้นเพราะความเหนื่อยหน่ายเลยต้องจ่ายเงินไปให้กับสิ่งฟุ่มเฟือย บรรเทาอาการซินโดรมทั้งหลายแหล่ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายหากลาออกกลับลดลง เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในช่วงการระบาดของโควิด แปลว่า อยู่ติดบ้านค่าใช้จ่ายลดลง ประหยัดมากกว่าออกไปทำงานนอกบ้าน


          หัวหน้าองค์กรจะหาทางหลีกเลี่ยงปรากฎการณ์ส่อเค้าหายนะครั้งนี้ได้อย่างไร?

 

          ถ้าองค์กรไม่อยากสูญเสียแรงงานคนรุ่นใหม่ไฟแรงจะทำให้พนักงานที่อายุน้อย ๆ หรือ Gen Z เหล่านี้เห็นว่าพวกเขามีคุณค่าและมีโอกาสเติบโตต่อไปได้อย่างไร?

 

          ประเด็นสำคัญก็คือ บริษัทจะทำยังไง ที่จะรักษาแรงงานกลุ่มนี้ หากไม่อยากให้พวกเขาจากไป!

 

          มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมาบอกกัน

 

จัดลำดับความสำคัญของแรงปรารถนาและจุดประสงค์ (Passion & Purpose)

 

          หลังจากพบว่าพนักงานในอเมริกาเกือบครึ่งกำลังหางานหรือมองหาโอกาสใหม่ ๆ นักวิจัยจาก Gallup สรุปว่าแท้แล้ว “การลาออกครั้งใหญ่ก็คือการแสดงถึงความไม่พอใจอย่างยิ่งยวด” แทนที่จะเป็นเรื่องของปัญหาเรื่องค่าจ้างหรือในตัวอุตสาหกรรมเอง เราพบว่า "การระบาดใหญ่ได้เปลี่ยนวิธีการทำงานของผู้คนและมุมมองของพวกเขาในการทำงาน ... การย้อนทวนกระแสน้ำในองค์กรจำเป็นต้องมีบุคคลระดับผู้จัดการที่เอาใจใส่ มีส่วนร่วม และทำให้พนักงานสำนึกถึงจุดมุ่งหมายของการทำงาน”

 

          โดยเฉพาะคำว่า "จุดมุ่งหมาย' นั้นกลับเป็นคำที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ จากผลสำรวจของ Adobe พบว่าพนักงานระดับองค์กรครึ่งหนึ่งต้องการใช้เวลาทำงานเพื่อไล่ตามความปรารถนาของตนเองมากขึ้น (ราว 53%) ในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กรแล้วว่าจะจัดสรรพื้นที่นั้นอย่างไร โดยเฉพาะสำหรับพนักงานอายุน้อยที่มีแพสชั่นมากล้น Jason Del Gandio ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารและอิทธิพลทางสังคมจาก Temple University อธิบายว่า ความคาดหวังทางสังคมของกลุ่มคน Gen Z เกิดความผันผวน

 

          “เมื่อคุณดำเนินชีวิตผ่านประธานาธิบดีคนผิวดำคนแรกแล้ว การรับรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติของคุณย่อมเปลี่ยนไป นอกเหนือจากเรื่องเชื้อชาติสีผิว พวก Gen Z ยังมีชีวิตอยู่ในยุคที่การแต่งงานในเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และยังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเหตุการณ์ Black Lives Matter ครั้งแรกและครั้งที่สอง และนอกจากต้องรับมือกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศของโลกแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่พวกเขาต้องรับมืออีกมากมายนัก” 

 

          จากประสบการณ์ตรง พนักงาน Gen Z คาดหวัง ทั้งความหมายและจุดประสงค์ในการทำงาน ซึ่งผู้นำขององค์กรต้องคิดหาวิธีมอบสิ่งนี้ให้พวกเขา ดังที่ Ryan Roslansky ซีอีโอของ LinkedIn เขียนไว้ว่า: “เป็นที่ชัดเจนว่าบทสนทนาว่าด้วย #GreatReshuffle (การปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่) ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกี่ยวกับวิธีการทำงานของเรา แต่คือเรื่องที่ว่า ทำไมเราต้องทำงานด้วย แน่นอนว่า มันเป็นเรื่องของนายจ้างด้วยเช่นกัน  เพราะว่าพวกเขาเองก็ต้องคิดค้นนวัตกรรมเพื่อดึงดูดและรักษาผู้ที่มีความสามารถ ด้วยการโฟกัสในระดับ new level ว่าด้วยการเติมเต็มให้กับพนักงาน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจได้ดีขึ้น”
 

จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายนปี 2021มีแรงงานลาออกจากงานทั้งหมด 11.5 ล้านคน (เครดิตภาพ: getty image) กำจัด 'งานยุ่ง' ซ้ำซากกันเสียที
          ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่เกิดจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ก็คือ การที่พนักงานใหม่ที่ทำงานอยู่บ้าน หรือพวก remote working จำเป็นต้อง "ดูยุ่ง" เข้าไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานอายุน้อยและยังมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่มากนัก ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า พวกที่ทำงานแบบไม่เข้าออฟฟิศครึ่งหนึ่ง (ราว 51%) กังวลว่าผู้จัดการจะ “มีข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงาน” ส่งผลให้พวกเขาราว 44% ทำงานนานขึ้น และ 37% ทำงานโดยไม่พักลางวัน Adobe สำรวจพบด้วยว่าราว 57% ของ Gen Z รู้สึกกดดันที่จะเข้าถึงได้ตลอดเวลา มากที่สุดในบรรดากลุ่มอายุ


          ที่แย่ไปกว่านั้น กลุ่มพนักงานที่ Adobe ทำการสำรวจ ได้รับการประเมินว่า พวกเขาใช้เวลาหนึ่งในสามของสัปดาห์ทำงานทั่วๆ ไปและแสนจะซ้ำซาก พวกเขาถึง 86% บอกว่างานพวกนี้บดบังประสิทธิภาพในการทำงาน รูปแบบของสถานที่ทำงาน หรือการทำงานแบบนี้เองที่นำไปสู่ความเหนื่อยหน่ายซึ่งเป็นสิ่งน่ากลัว และยังเป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์ ที่น่ากลัวก็คือการสำรวจในปีนี้พบว่า 58% ของ Gen Z กำลังเกิดภาวะหมดไฟ เพิ่มขึ้นจาก 47% ในปี 2020 

 

          ผู้นำองค์กรควรขจัดงานยุ่งออกไป หากมันไม่ได้ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเฉพาะการจัดการกับการต้องแสดงว่างานยุ่งในกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ ๆ เพราะมันไม่จำเป็นเลย

 

          สิ่งที่ช่วยได้ก็คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารงาน ช่วยตัดงานที่ไม่จำเป็นหรืองานซ้ำซากออกไป สร้างสรรค์งานที่กระชุ่มกระชวยมากขึ้น ทำให้พนักงานมีพื้นที่สร้างสรรค์หรือโชว์ผลงานมากขึ้น เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

 

          Todd Gerber แห่ง Adobe บอกกับ FORTUNE ว่า “ผู้คนได้รับแรงบันดาลใจจากความหลงใหล (เฉพาะ) ที่นำพวกเขาไปสู่อาชีพการงาน คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานเอกสารทั้งสัปดาห์ พวกเขาโตมากับเทคโนโลยีดิจิทัลและคุ้นเคยกับความเรียบง่าย แน่นอนว่า พวกเขารู้ดีว่า มีวิธีการทำสิ่งต่างๆ ได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่”

 

ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อขอบเขตงานสร้างสรรค์ที่กว้างกว่าเดิม
          การสำรวจของ Adobe ยังพบว่าพนักงาน 61% “ควบคุมตารางเวลาได้มากขึ้น” โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z เพราะว่า 62% ของ Gen Z บอกว่า "รู้สึกกดดันที่จะต้องทำงานในเวลาทำการ แม้จะรู้ตัวว่า ไม่ได้ทำงานอยู่ก็ตาม" Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft บอกว่า “ปีที่ผ่านมา ไม่มีสิ่งใดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งไปกว่าวิธีการทำงานของเรา ความคาดหวังของพนักงานกำลังเปลี่ยนไป และเราจะต้องวางประสิทธิภาพการทำงานให้กว้างขึ้น …ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องทำให้สำเร็จด้วยความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลา สถานที่ และวิธีการที่ผู้คนทำงาน”

 

          แล้วคุณล่ะ โควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในวิธีคิด หรือว่าเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณไปแล้วหรือยัง?

 

ศิวดี อักษรนำ

--------------------
อ้างอิง:
http://www.forbes.com
http://www.npr.org
http://www.inc.com