svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

เมื่อการ์ตูนไม่ได้แค่ขาย ‘หัวเราะ’

ทำไม ททท. จึงเลือกใช้การ์ตูน ‘ขายหัวเราะ’ โปรโมตการท่องเที่ยว? .. ย้อนรอยประวัติศาสตร์การ์ตูน เมื่อมันไม่ได้มีดีแค่ความสนุก แต่คืออาวุธลับของสงคราม สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ และกลยุทธ์ทางการตลาดที่โด่งดังไปทั่วโลก

          เรื่องราวทรงพลังของ ’ตัวการ์ตูน’ ในโลกของ ‘คน’  กับมนุษย์หินฟลินท์สโตนส์ ซูเปอร์แมน เจ้าหนูปรมาณู คุมะมง และบ.ก.วิติ๊ด

 

          ภาพของ บ.ก.วิติ๊ด นั่งบนเรือที่อัดแน่นไปด้วยคาแรคเตอร์การ์ตูนในแบบที่ ‘เห็นปุ๊บ’ ‘รู้ปั๊บ’ ว่ามาจากไหน ผสมกับแก๊กขำขันที่ยังคงเอกลักษณ์ของ ‘ขายหัวเราะ’ พ่วงด้วย ‘สตอรี่’ ของ ‘เกาะขายหัวเราะ’ ที่มีจริงไม่ใช่แค่เพียงภาพในการ์ตูน คือส่วนประกอบในแคมเปญล่าสุดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตราด ที่ได้รับการพูดถึงอย่างล้นหลามในสังคมออนไลน์และประสบความสำเร็จอย่างงดงามในด้านการเป็นที่จดจำ

การ์ตูนขายหัวเราะกับแคมเปญเชิญชวนท่องเที่ยวจังหวัดตราด           ถ้าพูดถึงการใช้การ์ตูนสำหรับโฆษณา มันมีมายาวนานหลายทศวรรษ และถ้ายิ่งขุดลึกลงไปก็จะพบว่าตามประวัติศาสตร์ทั่วทุกมุมโลก การ์ตูนมีบทบาทเล็ก ๆ แต่สำคัญไม่น้อยในประวัติศาสตร์โลกอยู่เสมอ!

 

การ์เมืองการตูน เอ้ย! การ์ตูนการเมือง
          คำว่า ‘Cartoon (การ์ตูน)’ ถือกำเนิดขึ้นในยุคกลาง แรกเริ่มความหมายของคำในภาษาอิตาลีนี้แปลว่าการวาดสเก็ตช์ลงบนกระดาษแข็ง  ต่อมาในปี ค.ศ.1843 นิตยสารตลกรายสัปดาห์ของประเทศอังกฤษที่ชื่อว่า Punch ได้สร้างคำจำกัดความขึ้นมาใหม่  คำว่า ‘Cartoon’ ในยุคหลังจึงหมายถึงภาพวาดที่ให้ความรู้สึกตลกขบขันและสนุกสนาน  คำจำกัดความใหม่นี้เองที่ทำให้ความรู้สึก ‘สนุก’ ของผู้อ่านกลายเป็น ‘หัวใจสำคัญ’ ของการสร้างการ์ตูนในเวลาต่อมา
          ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องการเมือง ประเทศอังกฤษคือเจ้าพ่อของวงการ ‘การ์ตูนการเมือง’ มาตั้งแต่แรกเริ่ม  ถ้าพูดถึงการ์ตูนการเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก  ทุกคนต้องรู้จักกับ The Plum-Pudding in danger ของเจมส์ กิลเรย์ ที่วาดล้อเลียนผู้นำทางทหารของฝรั่งเศส นโปเลียน โบนาปาร์ต และนายกรัฐมนตรีอังกฤษ วิลเลียม พิตต์ กำลังใช้ส้อมและมีดจิ้มและเฉือนลูกโลกบนโต๊ะอาหาร! 
The Plum-Pudding in danger การ์ตูนการเมืองชิ้นเอก ผลงานของเจมส์ กิลเรย์

          คนอังกฤษในยุคนั้นแค่เห็นรูปนี้ก็คงจะรู้สึกตลกร้ายลึก จึกเข้าไปในใจ!  


          เพราะตำแหน่งของส้อมและมีดนั้นเสียดสีถึงสงครามระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษได้อย่างร้ายกาจ ส้อมในมือของนายกรัฐมนตรีอังกฤษแสดงให้เห็นถึงอำนาจของกองเรือในมหาสมุทรที่แข็งแกร่ง แต่กลับอยู่ไกลออกไปจากประเทศของตนเอง ในขณะที่ฝรั่งเศสเฉือนเอาแผ่นดินภาคพื้นทวีปยุโรป ที่ฉิวเฉียดแผ่นดินอังกฤษอย่างจัง!  มองไปที่สายตาของนายกรัฐมนตรีอังกฤษในภาพการ์ตูน ก็จะได้เห็นถึงความหวาดกลัวของอังกฤษที่มีต่ออำนาจของฝรั่งเศสอย่างชัดเจน!

รูปที่ลงในนิตยสาร Japan Punch           ทางฝั่งเอเชียก็ไม่น้อยหน้า ที่ประเทศญี่ปุ่นดินแดนของ ‘Manga (มังงะ)’  ก็เติบโตมาจากการ์ตูนการเมืองเช่นกัน  โดยเฉพาะในปี ค.ศ.1858 เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศทำการค้ากับชาติตะวันตก คนญี่ปุ่นจึงได้รู้จักกับนิตยสารที่ชื่อว่า Japan Punch   เนื้อหาในเล่มนี้เต็มไปด้วยมุขตลกเสียดสีสะท้อนถึงความยุ่งยากของการทำมาค้าขายกับชาวตะวันตก ที่สำคัญไปกว่านั้นคือนิตยสารเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนและศิลปินจำนวนมากผลิตงานการ์ตูนที่ออกมาเสียดสีรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างสนุกสนาน!

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 VS ซูเปอร์แมน
          ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1939 จะอุบัติขึ้น การ์ตูนก็ค่อย ๆ ไต่ความนิยม และได้ขยายวงกว้างไปถึงเด็กๆ  ซึ่งเป็นตลาดใหม่และตลาดใหญ่ยักษ์   มีการ์ตูนสำหรับเด็กชื่อดังมากมายถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้  ที่คนไทยรู้จักดี เช่น ‘การผจญภัยของตินติน’ ผลงานของนักเขียนการ์ตูนชาวเบลเยียมที่โด่งดังไปทั่วยุโรป ซึ่งตินตินได้รับการแปลมากกว่า 80 ภาษาและมียอดขายไม่ต่ำกว่า 350 ล้านเล่มทั่วโลกจวบจนถึงปัจจุบัน  

 

          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่าเป็นช่วงขาขึ้นของการ์ตูนในสหรัฐอเมริกา อาจเป็นเพราะว่าสหรัฐไม่ใช่สนามรบหลัก จึงคงเหลือพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์งานซึ่งแตกต่างจากแผ่นดินยุโรป  ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาก็มีหนังสือการ์ตูนชื่อว่า ‘The Funnies’ ซึ่งได้รับความนิยมอยู่มากเช่นกัน แต่ก็ไม่เท่ากับช่วงการเกิดสงคราม... 

 

          เพราะเป็นช่วงเวลาที่อเมริกาให้กำเนิด ‘ซูเปอร์แมน’ 


          ‘ซูเปอร์แมน’ เป็นการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกจากดีซี คอมิกส์ ที่ได้รับความนิยมตลอดกาล ถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้าการเกิดสงครามแค่เพียงหนึ่งปี มีการวิเคราะห์กันมากมายว่าในสมัยนั้นซูเปอร์แมนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องของสงครามหรือไม่?

 
          ในขณะที่การ์ตูนหลายเรื่องถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลสำหรับการทำสงครามอย่างโจ๋งครึ่ม อย่างเช่น Der Fuehrer’s Face ที่สร้างขึ้นโดยวอลท์ ดิสนีย์  มีเนื้อหาโจมตีอุดมการณ์ของนาซีเยอรมันโดยตรง หรือ The New Spirit ที่มีตัวการ์ตูนโดนัลด์ ดั๊ก เชิญชวนให้ประชาชนอเมริกันจ่ายภาษี เพื่อจะนำไปสนับสนุนสงคราม ...  ซูเปอร์แมนกลับเลือกที่จะทำหน้าที่ต่างออกไป 


          “On my world, it’s mean HOPE” 


          คือประโยคที่ซูเปอร์แมนตอบคำถามเกี่ยวกับความหมายรูปตัว S บนหน้าอกของเขา  ในภาษาของดาวคริปตัน บ้านเกิดของซูเปอร์แมน ตัว S มีความหมายว่า ‘ความหวัง’  ซึ่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของการ์ตูนเรื่องนี้  

ตัว S บนหน้าอกของซูเปอร์แมนมีความหมายว่า ‘ความหวัง’           แม้เนื้อหาของซูเปอร์แมนจะไม่เคยมีเรื่องการต่อกรระหว่างซูเปอร์แมนกับฝ่ายนาซีให้เห็น และไม่มีเรื่องราวร้ายกาจของสงคราม แต่เนื้อหาของการ์ตูนที่ทำให้ผู้อ่านมี ‘ความหวัง’ ว่าจะมีฮีโร่มาช่วยจัดการเรื่องต่าง ๆ และต่อกรกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นคือกลวิธีชั้นดีที่ทำให้ชาวอเมริกันสามารถรับมือกับภาวะสงครามที่ไม่รู้ว่าจะแพ้หรือชนะได้


    
เจ้าหนูปรมาณู พลิกชะตา ‘ญี่ปุ่น’ หลังสงคราม สู่การเป็นเจ้าแห่งการ์ตูน
          ในทางตรงกันข้าม มีการ์ตูนบางเรื่องที่ได้มอบ ‘ความหวัง’ ให้กับผู้คนในสงครามแต่สะท้อนออกมาในมุมมองของฝ่ายที่พ่ายแพ้อย่าง ‘เจ้าหนูปรมาณู’ การ์ตูนเรื่องเยี่ยมที่กลายเป็นตำนานจากญี่ปุ่น

เจ้าหนูปรมาณู ผลงานชิ้นเอกของญี่ปุ่น           วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกจำกัดสิทธิหลายอย่าง โดยเฉพาะสิทธิในการพูดและแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการปกครองในรูปแบบเดิม ห้ามพูดเรื่องสงคราม รวมไปถึงผลจากสงคราม  แต่การ์ตูนเป็นสื่อที่ไม่ถูกจำกัดสิทธิ  โดยเฉพาะการ์ตูนที่ออกมาพูดถึง ‘ความหวัง’ ในการสร้างชาติที่ดีกว่าเดิมขึ้นใหม่อย่าง ‘เจ้าหนูปรมาณู’ ของเทนซุกะ โอซามุ

 

          เจ้าหนูปรมาณูเล่าเรื่องราวของหุ่นยนต์เด็กสุดแสนน่ารักที่มาพร้อมกับดวงตากลมโต เด็กชายถูกสร้างขึ้นมาทดแทนลูกชายของนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่เสียชีวิต  เรื่องราวดำเนินไปบนพื้นฐานของตัวละครหลักที่ใช้พลังพิเศษช่วยเหลือผู้คน และต้องการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น  

 

          การถือกำเนิดของการ์ตูนสายซูเปอร์ฮีโร่ในช่วงสงครามนี้ส่งผลต่อความคิดของผู้คน มีการพูดถึงในเชิงจิตวิทยาว่าสาเหตุที่การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ได้รับความนิยม ไม่ใช่เพราะคนอยากจะมีพลังพิเศษ แต่คนอยากจะเป็นฮีโร่!

 

          ตัวการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ที่ได้รับความนิยมจึงมักจะมีพื้นฐานตัวละครแบบสูตรสำเร็จอยู่สามแบบหลักๆ คือ เป็นตัวละครที่สามารถเอาชนะอุปสรรค ต่อสู้กับการสูญเสีย และค้นพบกับความเข้มแข็งในตัวเองที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้

 

เมื่อ ‘การ์ตูน’ ขยับ โลกก็ ‘ขยับ’
          มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ กล่าวว่าการ์ตูนสามารถเชิญชวนให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าการใช้ภาพจริง เพราะการ์ตูนสามารถดึงดูดคนให้อยู่กับเรื่องได้มากกว่า และสามารถพูดเรื่องราวที่ชวนปวดหัวให้เข้าถึงได้ง่าย


          การ์ตูนจึงถูกนำมาใช้ในแง่มุมต่างๆ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ การคอร์รัปชั่น ศาสนาหรือแม้แต่ประเด็นเรื่องเพศ  หากใครเป็นแฟน ‘มังงะ’  จะรู้ว่าการ์ตูนของญี่ปุ่นมีการ์ตูนประเภทชายรักชาย ซึ่งมีมานานแล้วตั้งแต่ปีทศวรรษที่ 1970

 

          ในด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็มีการใช้การ์ตูนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเกิดการ์ตูนขยับได้ หรือที่เรียกว่า ‘แอนิเมชัน’

 

          แอนิเมชันมาพร้อมกับโทรทัศน์ เมื่อแทบทุกบ้านมีโทรทัศน์ มันจึงเป็นช่องทางชั้นดีของการโฆษณา ในช่วงทศวรรษที่ 1960 บุหรี่ยี่ห้อหนึ่งตัดสินใจเป็นสปอนเซอร์ให้แก่การ์ตูนชื่อดัง ‘มนุษย์หินฟลิ้นท์สโตนส์’  การ์ตูนแอนิเมชันเรื่องแรกที่ได้ฉายทางโทรทัศน์  ภาพมนุษย์หินฟลิ้นท์สโตนส์สูบบุหรี่ปรากฏบนจอ และไม่รอดที่จะกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความไม่เหมาะสมเพราะเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก

มนุษย์หินฟลิ้นท์สโตนส์กับโฆษณาสูบบุหรี่ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์           แม้โฆษณาจะได้รับผลตอบรับที่ไม่ค่อยดีนัก แต่การวิจารณ์อย่างกว้างขวางนี้ทำให้รู้ว่า โลกของการ์ตูนขยับโลกของคนได้มากเพียงใด .. หลังจากนั้นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมสูงต่างถูกว่าจ้างให้โฆษณาสินค้าไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง รวมไปถึงมีการสร้างคาแรคเตอร์การ์ตูนขึ้นมาใหม่เพื่อผลทางด้านโฆษณาโดยเฉพาะ

 

การ์ตูน กระตุ้น เศรษฐกิจ
          ที่ญี่ปุ่นมีคำว่า ‘Yura-chara’  ใช้เรียกคาแรคเตอร์ของการ์ตูนที่สร้างขึ้นเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวในเมืองต่าง ๆ     คาแรคเตอร์การ์ตูนที่สุดจะโดดเด่นตัวหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ ‘คุมะมง’ เจ้าหมีดำที่มีรอยแต้มวงกลมสีดำบนแก้มทั้งสองข้าง ทำหน้าที่โปรโมตการท่องเที่ยวในเขตเมืองคุมาโมโตะ ความน่ารักแสนซนของคุมะมงทำให้ได้รับการโหวตความนิยมสูงที่สุดในปีค.ศ.2011 จะว่าไปผู้เขียนเองก็เคยไปต่อคิวเพื่อที่จะดูเจ้าหมีคุมะมงเต้นสักครั้งในชีวิตเหมือนกัน!  

คุมะมง มาสคอตชื่อดังของจังหวัดคุมาโมโตะ           ระยะเวลาเพียง 2 ปี คุมะมงทำให้เมืองคุมาโมโตะมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการขายของที่ระลึกเป็นจำนวนเงินกว่า 3,800 ล้านบาท ซึ่งมากขึ้นกว่าเดิม 4 เท่า และคาดการณ์ว่าในปัจจุบันสามารถทำรายได้ทะลุสามหมื่นล้านบาทไปแล้ว  จากพลังของตัวการ์ตูนแค่ตัวเดียว!

 

‘ขายหัวเราะ’ ‘ขายเกาะ’ ‘ขายเมือง’
          เมื่อหันกลับมามองการใช้การ์ตูนขายหัวเราะโปรโมตการท่องเที่ยวที่จังหวัดตราดในครั้งนี้จึงน่าสนใจไม่น้อย  

 

          นี่อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำการ์ตูนมาโปรโมทการท่องเที่ยวในไทย หากยังจำกันได้ทางวอลท์ ดิสนีย์เคยผลิตแอนิเมชันเรื่องสั้นที่มี Mickey Mouse เป็นตัวหลักของเรื่อง ในบรรยากาศตลาดน้ำในเมืองไทยซึ่งได้รับการเข้าชมจนถึงปัจจุบันกว่า 40 ล้านวิว .. แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ใช้ตัวการ์ตูนผลงานของคนไทยอย่าง ‘ขายหัวเราะ’ เข้ามาโปรโมตการท่องเที่ยว

Mickey Mouse กับฉากหลังที่เป็นตลาดน้ำในประเทศไทย           ขายหัวเราะ คือการ์ตูนไทยยุคใหม่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2016 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ภายใต้การบริหารงานของวิธิต อุตสาหจิต  และยังคงผลิตผลงานมาจนถึงปัจจุบัน ขายหัวเราะคือการ์ตูนแก๊กสั้น ๆ สามช่องจบ และบางครั้งก็จะมีเรื่องสั้นสอดแทรกในเล่มด้วย  

 

          ถ้าพูดถึงชื่อเสียงของขายหัวเราะก็ต้องบอกว่า ‘เหนียวแน่นหนึบ’  คนไทยส่วนใหญ่ต้องคุ้นเคยกับลายเส้นการ์ตูน สนุกสนานไปกับมุขตลก และเคยผ่านตากับภาพเกาะขายหัวเราะอย่างแน่นอน ซึ่งเกาะขายหัวเราะนี่เองที่ดันไปเหมือนกับเกาะเล็ก ๆ หลังเกาะกระดาดของจังหวัดตราดเข้า และเป็นที่มาของการสร้างจุดขายใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยให้มาเที่ยวชม

 

          การกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็น ‘ความหวัง’ เดียวที่หลงเหลืออยู่ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปจนหมด   เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าการ์ตูนอย่าง บ.ก.วิติ๊ดจะประสบความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับเจ้าหนูปรมาณู ซูเปอร์แมน และคุมะมงที่เคยทำได้มาแล้วหรือไม่  อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์การ์ตูนตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันก็สอนให้รู้ว่า 

 

          อย่าสบประมาทพลังของการ์ตูน เมื่อมันถูกใช้อย่างถูกจุด!

 

พีร์ญาดา ประสูตร์แสงจันทร์

--------------------

ที่มา: