svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สตง.เคลื่อนไหวครั้งแรก หลังตึกถล่มเตรียมดำเนินการอย่างไรต่อ

สตง.เคลื่อนไหวครั้งแรก หลังตึกสำนักงานที่กำลังสร้างถล่ม ระบุเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุที่เกิด พร้อมเผยเตรียมดำเนินการอย่างไรต่อ

29 มีนาคม 2568 ความคืบหน้าเหตุ ตึกสำนักงานของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่ย่านจตุจักร พังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว ที่เขย่ากรุงเทพฯ และอีกหลายพื้นที่ของไทยวานนี้ (28 มี.ค.) จนมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหาย อยู่ใต้ซากจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งทำการช่วยเหลือ

ล่าสุด ช่วงบ่ายวันนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่า

สตง. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อความสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ  พร้อมตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และจะได้ชี้แจงให้ทุกท่านทราบโดยเร็วต่อไป

สตง.เคลื่อนไหวครั้งแรก หลังตึกถล่มเตรียมดำเนินการอย่างไรต่อ


 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า สตง. กำลังรวบรวมข้อมูลให้เป็นกระดานข่าวในเร็ว ๆ นี้ ส่วนการแถลงข่าวคงต้องรอผลการตรวจสอบของคณะตรวจสอบ ที่นายกฯ ได้สั่งการให้รายงานใน 5 วัน  เพื่อ รายงานให้ทราบต่อไป 

สตง.เคลื่อนไหวครั้งแรก หลังตึกถล่มเตรียมดำเนินการอย่างไรต่อ


 

เปิดข้อมูลอาคารสำนักงาน สตง.ที่ถล่ม แม้จะสุดล้ำ
 

สำหรับ อาคารสำนักงานของ สตง.ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่ถล่มลงมานั้น โครงการนี้ถูกชงสร้างมาตั้งแต่ปี 2550 ก่อนมาปรับเปลี่ยนงบประมาณออกเป็น 2 ก้อนเมื่อปี 2563 แบ่งเป็น

1.งานก่อสร้างอาคารดังกล่าว วงเงิน 2.1 พันล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด)

2.ผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง วงเงิน 74.6 ล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และ บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด)

โดยอาคารของ สตง.แห่งนี้ ทางทิศตะวันตกติดกับ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และทางทิศตะวันออกอยู่ติดกับ สวนสาธารณะแห่งชาติกรุงเทพ เป็นทำเลที่สะดวกในการเดินทางและภาพลักษณ์ความมั่นคงของหน่วยงานรัฐ

ตัวโครงการประกอบด้วย 3 อาคารหลัก ได้แก่

 • อาคารสำนักงาน
 • อาคารประชุม
 • อาคารจอดรถ

รวมพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด 96,041 ตารางเมตร โดยเฉพาะอาคารสำนักงานหลักมีความสูงถึง 137 เมตร ซึ่งจัดอยู่ในหมวดหมู่อาคารสูงพิเศษตามมาตรฐานสากล และต้องอาศัยเทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูงตลอดกระบวนการ เมื่อแล้วเสร็จ อาคารนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางการทำงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางบริการภาครัฐและสาธารณชนแห่งใหม่ของไทย
 

การก่อสร้างใช้เทคโนโลยีก่อสร้างขั้นสูงประกอบด้วย
 

 • โครงสร้าง “แกนกลางรับแรง + พื้นไร้คาน” (核心筒+无梁楼板): ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของอาคารต่อแรงลมและแรงแผ่นดินไหว

 • เทคนิคแบบสไลด์ (滑模施工技术): ใช้อุปกรณ์เลื่อนแบบหล่อขึ้นทีละ 1.2 เมตร ควบคุมความหนาของคอนกรีตไม่เกิน 25 ซม. และรักษาความแม่นยำในแนวนอนให้ไม่คลาดเคลื่อนเกิน 1 ซม.

 • การติดตั้งแบบยก (抬模安装工艺): เพื่อสร้างพื้นไร้คานให้ได้ผิวเรียบและแข็งแรง ติดตั้งและรื้อถอนได้รวดเร็ว

 • ระบบนั่งร้านปีนไต่อัตโนมัติ (爬架施工工艺): เพิ่มความปลอดภัยและความเร็วในการก่อสร้าง พร้อมประหยัดวัสดุ

ขณะที่มีรายงานข่าวจาก สตง.ว่า นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่า สตง.ได้เรียกประชุมผู้บริหารภายใน สตง.เพื่อหารือแก้ไขปัญหานี้โดยด่วนในวันนี้ (29 มี.ค.) ซึ่งที่ผ่านมา สตง.ยืนยันว่า ตึกนี้ได้ก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 30% และ สตง.ได้ตรวจรับงานไปแล้ว 20% 
สตง.เคลื่อนไหวครั้งแรก หลังตึกถล่มเตรียมดำเนินการอย่างไรต่อ