svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชวนชม "ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์" 16 ม.ค.นี้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่า

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผย 16 ม.ค.นี้ "ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์" ปรากฏสว่างสีส้มแดง มองเห็นด้วยตาเปล่าตลอดคืนถึงรุ่งเช้า เช็กเลยสังเกตได้ทางทิศไหน

16 มกราคม 2568 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ ระบุว่า 16 มกราคม 2568 "ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์" ปรากฏสว่างสีส้มแดง เห็นด้วยตาเปล่าตลอดคืนถึงรุ่งเช้า

ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Mars Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคารจะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน วันดังกล่าวดาวอังคารจะปรากฏตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สว่างมากสีส้มแดง สังเกตได้ด้วยตาเปล่าตลอดคืนจนถึงเช้าวันถัดไป นับเป็นช่วงที่เหมาะสมแก่การชมดาวอังคารเป็นอย่างยิ่ง หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นน้ำแข็งสีขาวบริเวณขั้วของดาวอังคารได้ 

เครดิตภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เนื่องจากวงโคจรของดาวอังคารค่อนข้างรี และอยู่ใกล้โลกมาก เมื่อเทียบกับดาวเคราะห์วงนอกดวงอื่น ๆ เป็นผลให้วันที่ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ จะไม่ใช่วันที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุด ต่างจากดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดี ทั้งนี้ ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกในทุก ๆ 2 ปี 2 เดือน 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ