svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ไบเดน-ทรัมป์ แย่งกันอ้างผลงาน ข้อตกลงหยุดยิงในกาซา

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แย่งกันอ้างผลงานที่มีส่วนทำให้อิสราเอลและฮามาสบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา หลังทำเนียบขาวดึงทูตพิเศษตะวันออกกลางของทรัมป์เข้าร่วมการเจรจา ที่ชะงักงันนานหลายเดือน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงในวันพุธว่า เขารู้สึกพอใจอย่างยิ่งที่ข้อตกลงหยุดงยิงในฉนวนกาซาบรรลุผลได้ในที่สุด และจะมีผลบังคับใช้เพียง 1 วัน ก่อนเขาพ้นตำแหน่ง และบอกด้วยว่า การเจรจาผลักดันข้อตกลงเป็นหนึ่งในงานหนักที่สุดงานหนึ่งในอาชีพของเขา และทีมนักการทูตของเขาไม่หยุดความพยายามที่จะทำให้สำเร็จ เขาพยายามย้ำว่า ข้อตกลงบรรลุผลได้ภายใต้กรอบแนวทางที่เขาวางไว้เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม

ภายใต้ข้อตกลงระหว่างอิสราเอลและฮามาสจะเริ่มหยุดยิงในฉนวนกาซาเฟสแรกนาน 6 สัปดาห์ในวันที่ 19 มกราคมนี้ และฮามาสจะปล่อยตัวประกันที่จับไว้ในฉนวนกาซาเพื่อแลกกับชาวปาเลสไตน์ได้รับการปล่อยตัวจากอิสราเอล ข้อตกลงบรรลุผลหลังการเจรจารอบล่าสุดที่กรุงโดฮาของกาตาร์ โดยมีนักการทูตของกาตาร์ สหรัฐฯ และอียิปต์ร่วมไกล่เกลี่ย

ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่พลาดที่จะบอกว่าตัวเองอยู่เบื้องหลังข้อตกลงครั้งนี้ โดยโพสต์ในแพลตฟอร์ม ทรูธ โซเชียลว่า “ข้อตกลงมหากาพย์นี้อาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของเราในเดือนพฤศจิกายน และส่งสัญญาณถึงทั้งโลกว่า รัฐบาลของผมจะแสวงหาสันติภาพและเจรจาข้อตกลงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชาวอเมริกันทั้งหมดและพันธมิตรของเรา” และบอกด้วยว่า “ผมตื่นเต้นที่ตัวประกันอเมริกันและอิสราเอลจะได้กลับบ้าน พบหน้าครอบครัวและคนที่รัก”

ทรัมป์ บอกด้วยว่า สตีฟ วิตคอฟฟ์ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากทรัมป์ให้เป็นทูตพิเศษตะวันออกกลาง ได้เข้าร่วมการเจรจาที่กรุงโดฮา และจะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับทั้งอิสราเอลและชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ เพื่อให้ฉนวนกาซาไม่เป็นแหล่งกบดานปลอดภัยของผู้ก่อการร้ายอีกต่อไป

รัฐบาลไบเดนพยายามมานานหลายเดือนเพื่อไกล่เกลี่ยข้อตกลงหยุดยิง และมีความคืบหน้าที่เข้าใกล้ความสำเร็จก่อนจะล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะที่ทรัมป์ขู่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “นรกจะแตก” ในตะวันออกกลาง หากไม่มีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในกาซาก่อนเขาเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม

นักวิเคราะห์มองว่า ไบเดนควรได้รับคำชื่นชมสำหรับความพยามผลักดันการเจรจาแม้ล้มเหลวหลายครั้ง แต่คำขู่ทรัมป์ถึงฮามาส และการส่งวิตคอฟฟ์ไปหว่านล้อมนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ก็สมควรได้รับเครดิตในเรื่องนี้เช่นกัน

เขาบอกด้วยว่า แม้สหรัฐฯ อยู่ในช่วงเวลาของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ข้อตกลงนี้ยังคงสะท้อนว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังมีอิทธิพลและอำนาจมากแค่ไหน และข้อตกลงจะไม่เกิดขึ้นได้ หากไม่ได้การผลักดันของทั้งสองคน

ขณะที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศ พยายามชูประเด็นว่า รัฐบาลไบเดนได้มอบโรดแมป อย่างละเอียดที่จะนำไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืนและได้รับการสนับสนุนจากในภูมิภาคให้กับทีมของทรัมป์ ที่แน่นอนว่าจะทำให้ข้อตกลงสามารถบรรลุผลได้ตามแนวทางที่วางไว้

แต่นักวิเคราะห์คนหนึ่ง มองว่า แม้ไบเดนเสนอกรอบแนวทางข้อตกลงหยุดยิง แต่เขากลับให้การสนับสนุนทั้งการเงินและอาวุธแก่อิสราเอล รวมทั้งใช้สิทธิวีโตในที่ประชุมสหประชาชาติเพื่อคัดค้านการบังคับให้อิสราเอลหยุดยิง ดังนั้นแน่นอนว่า ไบเดนจะได้รับการจดจำในฐานะผู้ขัดขวางการหยุดยิง และสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ยาวนานกว่า 15 เดือน