svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

10 วันอันตรายปีใหม่ 2568 ยอดสะสม 9 วัน ดับแล้ว 393 ราย กทม.สูงสุด

10 วันอันตรายปีใหม่ 2568 ยอดสะสม 9 วัน บาดเจ็บ 2,251 คน ดับ 393 ราย สาเหตุยังคงเป็น "ขับรถเร็ว-ตัดหน้า" กทม.เสียชีวิตสูงสุด ด้าน ศปถ. ย้ำจังหวัดเข้มการตั้งจุดพักรถ-บริการประชาชน เหตุวันหยุดสุดท้ายคนทยอยกลับ รถหนาแน่น

5 มกราคม 2568 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เป็นประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 4 มกราคม 2568  ว่า วันนี้เป็นวันหยุดวันสุดท้ายก่อนเปิดทำงานในวันจันทร์ ประชาชนที่หยุดยาวต่อเนื่องและนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ จึงเดินทางกลับในวันนี้ ทำให้จำนวนรถบนท้องถนนกลับมามีปริมาณหนาแน่นอีกครั้ง ศปถ. จึงประสานให้จังหวัดเพิ่มการจัดจุดพักรถและจุดบริการประชาชน เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อลดความเสี่ยงจากความเหนื่อยล้าของร่างกายและการหลับในของผู้ขับขี่ พร้อมตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีขนส่ง และจัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอ 

ทั้งนี้ หากพบผู้ขับขี่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที นอกจากนี้ ยังขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการหรือข้อควรปฏิบัติในการขับขี่ยานพาหนะ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการขับขี่อย่างปลอดภัยและมีวินัยในการเดินทาง

ด้าน นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปีนี้ ศปถ. กำหนดช่วงควบคุมเข้มข้นการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 67 - วันที่ 5 ม.ค. 68 ถึงแม้จะพ้นช่วงการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ทำให้การดื่มแล้วขับลดลง แต่สิ่งที่ยังต้องระมัดระวังคือการใช้ความเร็วในการขับรถ และระยะทางยาว ที่อาจทำให้ผู้ขับขี่อ่อนเพลียและเกิดการหลับในได้ ศปถ. จึงขอกำชับให้จังหวัดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ และมาตรการเน้นย้ำเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด เนื่องจากในวันนี้ (5 ม.ค. 68) เป็นวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มข้น

10 วันอันตรายปีใหม่ 2568 ยอดสะสม 9 วัน ดับแล้ว 393 ราย กทม.สูงสุด

สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 4 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่ 9 ของการรณรงค์ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 169 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 164 คน ผู้เสียชีวิต 23 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.28 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 23.67 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 17.75 

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.3 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 84.43 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 45.56 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.18 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01-17.00 น. ร้อยละ 9.47 เวลา 15.01-16.00 น. ร้อยละ 7.69 เวลา 08.01-09.00 น. เวลา 14.01-15.00 น. เวลา 17.01-18.00 น. และ เวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 7.10 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 17.65 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,768 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,114 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตรัง (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตรัง (11 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ตรัง นครปฐม นราธิวาส และอุตรดิตถ์ (จังหวัดละ 2 ราย) 

10 วันอันตรายปีใหม่ 2568 ยอดสะสม 9 วัน ดับแล้ว 393 ราย กทม.สูงสุด

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 9 วันของการรณรงค์ (27 ธันวาคม 2567 – 4 มกราคม 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,251 คน ผู้เสียชีวิต รวม 393 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (86 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (95 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (24 ราย)