ดินคือพื้นฐานสำคัญที่สนับสนุนการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายบนโลก ช่วยค้ำจุนทุกระบบนิเวศ การเกษตร และการผลิตอาหารของมนุษย์ล้วนต้องพึ่งพาดิน เพราะในดินเต็มไปด้วยแร่ธาตุ น้ำ อากาศ อินทรียวัตถุ ด้วยการผสมผสานอย่างซับซ้อนนี้ ดินจึงกลายเป็นแหล่งธาตุอาหารที่หล่อเลี้ยงพืชพรรณให้เติบโต งอกงาม และให้ผลผลิตที่จำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ทั่วโลก
นอกจากจะเป็นรากฐานของการเกษตรแล้ว ดินยังเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ตั้งแต่จุลินทรีย์ขนาดเล็กจนถึงพืชและสัตว์ขนาดใหญ่ ความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบนิเวศ
ดินไม่เพียงมีบทบาทในด้านการผลิตอาหาร แต่ยังมีส่วนสำคัญในระบบนิเวศของโลก ดินช่วยกักเก็บคาร์บอน ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวกรองน้ำธรรมชาติ และยังทำหน้าที่เป็นรากฐานของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรดินที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่สามารถสร้างใหม่ได้ เมื่อดินเกิดการเสื่อมโทรม จากการใช้ดินอย่างไม่เหมาะสม เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยขาดการปรับปรุงดิน และการไม่จัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพและศักยภาพของดิน
หากดินเสื่อมโทรม ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก ทั้งในแง่การผลิตอาหารที่ลดลงและระบบนิเวศที่เสียสมดุล ผลกระทบในระยะยาวไม่เพียงกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร แต่ยังลุกลามไปถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต
เมื่อดินไม่สามารถสนับสนุนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารปรับปรุงดิน ซึ่งอาจนำไปสู่ความยากจนในชุมชนชนบท
ในขณะเดียวกัน ระบบนิเวศในพื้นที่ก็จะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นรากฐานของการฟื้นฟูธรรมชาติ
ดินที่เสื่อมโทรมอาจเพิ่มความรุนแรงของภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้งและคลื่นความร้อน ทั้งนี้เพราะดินที่เสื่อมสภาพไม่สามารถดูดซับน้ำหรือกักเก็บความชื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5 ธันวาคม วันดินโลก (World Soil Day) ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการมุ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน เกิดความตระหนักถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับดิน โดยเฉพาะการเสื่อมโทรมของดินที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เเละเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรดินเพื่อความยั่งยืน
แนวคิดในการจัดตั้ง วันดินโลก (World Soil Day)
เกิดขึ้นจากการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินระดับโลก ครั้งที่ 17 ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2545 ณ กรุงเทพมหานคร ที่รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ด้านดินจากทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้
ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่แสดงถึงพระวิสัยทัศน์และพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน
นิทรรศการนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศเห็นถึงความสำคัญที่พระองค์ทรงให้กับการจัดการทรัพยากรดิน โดยทรงบุกเบิกและดำเนินโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดินอย่างเป็นรูปธรรม ผลลัพธ์ของพระราชดำริในด้านการพัฒนาที่ดินได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและเวทีนานาชาติ
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences - IUSS) จึงมีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ เป็น วันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อชีวิตมนุษย์และระบบนิเวศ
ในปี พ.ศ. 2556 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น วันดินโลกอย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ชาวโลกตระหนักถึงบทบาทสำคัญของดินต่อการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดกิจกรรมรณรงค์ การเผยแพร่ความรู้ และการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนในระดับประเทศและระดับโลก
สำหรับการจัดวันดินโลกประจำปี 2567 กรมพัตนาที่ดิน ได้จัดงานภายใต้หัวข้อ “Caring for soils: measure, monitor, manage” “ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน”
ระหว่างวันที่ 6 – 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ซึ่งภายในงานมีการจัดกิจกรรมมากมายที่จะทำให้คุณเข้าใจและรู้จักกับ “ดิน” มากยิ่งขึ้น และเรียนรู้เรื่องดิน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน พบกับ
การฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพอาจเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลา และทรัพยากรมาก แต่การป้องกันไม่ให้ดินเกิดความเสื่อมโทรมตั้งแต่ต้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ดังนั้นเราจึงควรหันมาใส่ใจและดำเนินการอนุรักษ์ดินอย่างจริงจัง เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่านี้ยังคงหล่อเลี้ยงชีวิตบนโลกไปอย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูล เเละภาพจาก
หน่วยราชการในพระองค์ / กรมพัฒนาที่ดิน