svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดความจริงภารกิจช่วยชีวิตช้าง ทำไมงานช่วยเหลือถึงยากลำบาก

เปิดความจริง! เพจศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง โพสต์บันทึกเตือนความจำภารกิจช่วยชีวิตช้าง เหตุน้ำป่าซัดปางช้างแม่แตง ทำไมการช่วยเหลือถึงยาก จนกลายเป็นเรื่องสลด

6 ตุลาคม 2567 เพจศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang ได้โพสต์บันทึกเตือนความจำ มีข้อความว่า  

"ภัยธรรมชาติที่เกิดจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วนำมาซึ่งปริมาณน้ำฝนที่ไหลหลั่งลงสู่แหล่งน้ำ จำนวนมหาศาล ไหลบ่าจากป่าสู่เมืองในที่ลุ่มต่ำ ในทางกลับกันเชื่อแน่ว่าไม่ช้าก็เร็วเราน่าจะเจอกับเหตุการณ์ในขั้วตรงกันข้ามคือแล้ง ร้อนสุดโต่งแน่

กันยายนต่อเนื่องถึงตุลาคม ฝนตกต่อเนื่องจนเกิดมวลน้ำจำนวนมหาศาลจากต้นน้ำแม่แตง ไหลเข้าสู่ลำน้ำแม่แตง สายน้ำแห่งการท่องเที่ยวธรรมชาติของเชียงใหม่ ที่ตลอดสองข้างลำน้ำมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมทั้งปางช้างต่างๆ เรียงรายตลอดลำน้ำแม่แตง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจากรายงานของสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (2558-2567) พบว่ามีปางช้างถึง 49 ปาง (ช้างจำนวน 546 เชือก)
เปิดความจริงภารกิจช่วยชีวิตช้าง ทำไมงานช่วยเหลือถึงยากลำบาก  

เหตุระทึกเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บ่ายวันพฤหัสที่ 3 ตุลาคม 2567  มวลน้ำจำนวนมากไหลบ่าล้นตลิ่งทั้งสองฝั่งของลำน้ำแม่แตงอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องจนถึงเช้ามืดวันศุกร์ น้ำเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว ช้างส่วนใหญ่ถูกอพยพนำขึ้นไปผูกล่ามไว้ในที่สูง ในขณะที่ปางช้างขนาดใหญ่ (มีช้างมากกว่าหนึ่งร้อยเชือก) ของมูลนิธิช้างและสิ่งแวดล้อม ยังคงสาละวนและพยายามขนย้ายช้างและสัตว์อื่นๆ อีกนับพันอาทิ สุนัข แมว แพะ โค กระบือ และสุกร ซึ่งยังคงไม่ทันการณ์ 

เป็นผลให้มวลน้ำจำนวนมหึมาไหลเข้าสู่ปางช้าง (ระดับน้ำสูงมากกว่า 1.5-2.0 เมตร เมื่อประเมินด้วยสายตา) การขนย้ายช้างนับร้อย เป็นเรื่องที่ยากและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียมากทั้งชีวิตคนและช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช้างเหล่านี้มิได้ถูกฝึกหรือสื่อสารกับคนเลี้ยงอย่างใกล้ชิดมาก่อน เราเริ่มจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะพอช่วยเหลือสนับสนุนอะไรได้บ้าง
เปิดความจริงภารกิจช่วยชีวิตช้าง ทำไมงานช่วยเหลือถึงยากลำบาก
 

คณะของสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อเช้าตรู่ของวันศุกร์ จากการร้องขอของเจ้าหน้าที่มูลนิธิทางโทรศัพท์ โดยเบื้องต้นรับทราบมาว่า ให้ช่วยเคลื่อนย้ายและดูแลช้างเพศผู้ที่ยังอยู่ในคอกแต่ไม่สามารถออกมาได้ ในขณะที่ระดับน้ำกำลงัเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะทำงานถูกตามตัว รวมทีมและประชุมอย่างเร่งด่วน และออกเดินทางในช่วงสายของวันนั้น 

เมื่อแรกไปถึงพบว่า เส้นทางเข้าถึงปางช้างถูกตัดขาด ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก การติดต่อด้วยโทรศัพท์ไม่สามารถทำได้ ต้องสื่อสารผ่านวิทยุสื่อสารคลื่นสั้นเท่านั้น คณะจึงต้องรอจนถึงบ่ายแก่ๆ จึงได้เรือจากหน่วยกู้ภัย จ.กาฬสินธิ์ ข้ามน้ำเพื่อไปดูช้างตัวผู้ในคอกต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ เราพบว่าช้างตัวผู้ยังอยู่ครบทั้งสิบเชือก ในสภาพที่ช้างลอยคออยู่ภายในคอก

แต่ที่แปลกใจคือยังมีช้างตัวเมียอีกหลายสิบเชือกติดค้างอยู่ในคอกด้วย บ้างก็พิการขาเป๋ ตาบอด และยังทราบอีกว่า ช้างอีกหลายเชือกได้สูญหายลอยไปกับน้ำด้วย เมื่อช่วงก่อนหน้า ซึ่งต่อมาพบซากของช้างฟ้าใส (วันเฉลิม) และพลอยทอง เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสีย
เปิดความจริงภารกิจช่วยชีวิตช้าง ทำไมงานช่วยเหลือถึงยากลำบาก

คณะจึงตัดสินใจแบ่งทีมงานออกเป็น 2 ทีมเพื่อช่วยเหลือช้างให้ครอบคลุมทั้งสองกลุ่ม 

การดำเนินการในภาวะวิกฤติและเร่งด่วนเช่นนี้

โดยหลักการแล้ว หากพบว่าช้างกับควาญสามารถสื่อสารกันได้ก็จะให้ควาญช้างเป็นผู้นำและกำหนดทิศทางการเดินของช้างเพื่อความปลอดภัย เพราะช้างเองมักเดินเฉพาะเส้นทางที่เคยชิน ซึ่งในกรณีนี้ช้างมักคุ้นชินกับการเดินแบบอิสระในทุ่งกว้างที่อยู่ติดกับน้ำแม่แตง ที่กำลังไหลเชี่ยว นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ช้างเหล่านี้จะต้องมีควาญเป็นผู้ควบคุมทิศทาง

ในกรณีช้างเพศเมียหรือช้างที่ไม่ดุร้าย หากช้างกับควาญมิได้มีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน หรือมีแต่เพียงเล็กน้อย ในทางทฤษฎีที่มีการเคลื่อนย้ายช้างป่า มักวางยาซึมและนำทางด้วยผ้าพรางแสงตลอดทางเดินเพื่อนำช้างไปยังจุดที่ต้องการ แต่ในกรณีนี้มีน้ำท่วมสูงจึงค่อนข้างเสี่ยงที่จะวางยาซึม (ยาซึมช้างมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ ทำให้งวงตกลงสู่พื้น)

โดยในวันนั้นคณะทำงานที่ประกอบด้วยสัตวแพทย์ ควาญช้างจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ ควาญพี่เบิ้ม (ปางที่อยู่ติดกัน) และภัทรฟาร์ม ซึ่งมีความชำนาญ ร่วมกับควาญช้างของมูลนิธิช่วยกันควบคุมและกำหนดเส้นทางด้วยเชือก ให้ช้างเดินไปยังจุดที่ปลอดภัย แต่ก็ทุลักทุเลพอควร ด้วยเพราะควาญกับช้างสื่อสารกันแทบไม่รู้เรื่อง วันนั้นทีมเราช่วยเหลือช้างตัวเมียได้บางส่วน จนกระทั่งมืดค่ำจึงยุติภารกิจในเวลา 19.30 น. 
เปิดความจริงภารกิจช่วยชีวิตช้าง ทำไมงานช่วยเหลือถึงยากลำบาก

ในกรณีช้างเพศผู้ เราไม่สามารถวางยาซึมช้าง ในขณะที่ยังอยู่ในน้ำได้ ซึ่งจากข้อมูลที่ทีมงานได้รับพบว่า ช้างทุกเชือกไม่เคยผ่านการฝึก และบางเชือกมีประวัติทำร้ายคนมาก่อน จึงเกิดคำถามว่าหากเคลื่อนย้ายออกมาได้แล้วจะนำช้างไปผูกล่ามอย่างไร ที่ไหน ทั้งในภาวะซึมหรือปกติ

ด้วยเพราะช้างไม่คุ้นเคยกับคนหรือช้างใดๆ ช้างแต่ละเชือกอยุ่ตัวเดียวในคอกมานาน ซึ่งจากการประเมินพบว่า ช้างทุกเชือกยังมีสภาพร่างกายปกติ (ยกเว้นพลายขุนเดชที่บาดเจ็บที่ขาหน้า) ดังนั้นจึงใช้วิธีวางแท่นพยุงให้ช้างสามารถใช้งวงยึดพยุงมิให้จมน้ำ หากพบว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะจากประสบการณ์ตรงของคณะทำงานพบว่า ช้างมักลอยน้ำและอยู่ในน้ำได้นานถึง 2 วัน 1 คืนในสภาพน้ำนิ่ง โดยไม่เกิดอันตราย

ซึ่งจากสภาพช้างภายในคอกพบว่า กระแสน้ำยังคงไหลแต่ไม่เชี่ยวมากนักเมื่อเทียบกับในลำน้ำ ช้างน่าจะยังพอพยุงตัวเองไว้ได้ในระยะเวลาหนึ่ง ด้วยเพราะธรรมชาติของน้ำทางภาคเหนือมักมาเร็วไปเร็ว ไม่น่าจะท่วมนาน เราจึงกำหนดให้ทำแพต้นกล้วยไว้ให้ช้างเพื่อช่วยพยุง ต้นกล้วยยังเป็นอาหารและมีน้ำช่วยประทังชีวิตให้ช้างได้อีกด้วย ทั้งนี้ให้เฝ้าระวังพลายขุนเดชเป็นพิเศษ
เปิดความจริงภารกิจช่วยชีวิตช้าง ทำไมงานช่วยเหลือถึงยากลำบาก

โชคดีในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ระดับน้ำเริ่มลดระดับลง เป็นสัญญาณว่าน้ำน่าจะลดลงเป็นปกติในไม่ช้า 
วันรุ่งขึ้นระดับน้ำลดลง เหลือเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ ช้างเพศเมียถูกเคลื่อนย้ายขึ้นที่สูง ช้างตัวผู้ยังอยู่ในคอกของตัวเอง แต่ทุกตัวยังมีชีวิตอยู่แม้บางเชือก อาจแสดงอาการอ่อนเพลียบ้าง ดังนั้นการฟื้นฟูสุขภาพกาย และสภาวะจิตใจของช้างและควาญจึงเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะโรคต่างๆ ที่มาหลังน้ำท่วม ก็ดี น้ำป่าที่อาจเข้าสู่ร่างกายช้างในช่วงก่อนหน้า ทั้งทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารก็ดี ดินโคลนที่มีรสชาดเย้ายวนต่อการลิ้มลองของช้างก็ดี หรือแม้กระทั่งอาหารที่อาจปนเปื้อน  ที่ล้วนนำมาซึ่งความเจ็บป่วยของช้างเหล่านี้ได้ และสภาพจิตใจของช้างที่อาจตระหนก กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การไม่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เหล่านี้จำเป็นต้องฟื้นฟูและเฝ้าระวังกันต่อไป
เปิดความจริงภารกิจช่วยชีวิตช้าง ทำไมงานช่วยเหลือถึงยากลำบาก

วันนี้ฝนตกเบาบางลงแล้ว แต่หากเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันอีก การเรียนรู้บทเรียนและเตรียมแผนเผชิญเหตุทั้งของปางและผู้เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ต้องจัดทำ 

แม้ในวันนี้ช้างบ้านของไทย จะมีสถานะเป็นทรัพย์สินของผู้ถือครองตามกฎหมาย (พรบ.สัตว์พาหนะ ) แต่จากเหตุการณ์หลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ล้วนกระทบจิตใจคนไทยส่วนใหญ่ หลายส่วนยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองติดตามอย่างใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งที่ทุกท่านพึงตระหนักให้ดีว่า "ช้าง" มีสถานะยิ่งกว่าทรัพย์สิน แต่เขาคือสิ่งที่มีคุณค่า ที่สูงค่าอันประเมินมูลค่ามิได้ ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยเราทุกคน