svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ถอดบทเรียน”งานฟื้นฟู”ยังถูกมองข้าม แนะเชื่อมทุกมิติ

นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ถอดบทเรียนงานฟื้นฟูไทย ยังถูกมองข้ามไม่ให้ความสำคัญ ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วย-ผู้สูงอายุต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น เสนอบูรณาการทำงานร่วมท้องถิ่น หน่วยบริการใกล้บ้าน เชื่อมระบบฟื้นฟูกาย-ใจทุกมิติ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่ามีประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 15 หรือประมาณ 2.4 พันล้านคนที่มีภาวะทางกายบกพร่องจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งอาจต้องการการฟื้นฟูสมรรถภาพ  และคาดหมายว่ามีประชากรโลกร้อยละ 5-10 ที่มีความพิการอย่างน้อย 1 ชนิด โดยคนพิการอาจมีความบกพร่องทางกาย จิต หรือพฤติกรรม ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในบางด้านของการใช้ชีวิต ขณะที่พบอีกว่าประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีรวมทั่วโลกจะเพิ่มเป็นสองเท่าในอีก 30 ปีข้างหน้า และประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางกายด้วย ทำให้มีความต้องการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพมากขึ้นตามไปด้วย 
     
เช่นเดียวกับประเทศไทยงาน”ฟื้นฟูสมรรถภาพ” มีความต้องการมากขึ้นเนื่องจากสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  แต่ความเข้าใจนิยามและความหมายของงานฟื้นฟูยังมีข้อจำกัด เน้นไปที่การใช้กายอุปกรณ์ เรื่องของการฟื้นฟูทางกาย แต่ยังอาจละเลยถึงการสร้างให้เกิดความพร้อมทางด้านจิตใจ และการจัดการสภาพของครอบครัว สิ่งแวดล้อม ยังขยายไปไม่ถึงความหมายงานฟื้นฟูที่ผสมผสานการฟื้นฟู ทั้งร่างกาย -จิตใจแบบครบทุกมิติ

 

แพทย์หญิงสุพัตรา ศรีวณิชชากร นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวฯ  บอกว่า  แม้นิยามของคำว่า“ฟื้นฟู”เริ่มมาจากความพิการ หรือ ผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุ ที่ต้องฟื้นฟูทางร่างกาย  แต่ความหมายของงานฟื้นฟูคือ การฟื้นฟูทั้งกายและใจไปพร้อมๆกัน และรวมไปถึงการฟื้นฟูในช่วงแรก ช่วงระยะที่เจ็บป่วย ก่อนที่จะมีความพิการด้วย 

ถอดบทเรียน”งานฟื้นฟู”ยังถูกมองข้าม แนะเชื่อมทุกมิติ


“จุดเริ่มต้นของงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ มาจากเรื่องของความพิการ ที่เข้าไปไม่ถึงอุปกรณ์ แต่ต่อมาขยายเรื่องการฟื้นฟูรวมไปถึงผู้ป่วยจากอุบัติเหตุในช่วงระยะรักษาก่อนพิการ และ ผู้ป่วยจากโรคเรื้อรัง อัมพฤกษ์ อัมพาต  และ ผู้สูงวัย  แต่ความเข้าใจนิยามของงานฟื้นฟูยังเป็นเรื่องการจัดการอุปกรณ์เพื่อฟื้นฟูทางกาย แต่ยังให้ความสำคัญน้อยต่อการจัดกระบวนการบริการ (ฟื้นฟู function ในชีวิตประจำวัน)  เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ฟื้นฟูจิตใจ ฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพการใช้ชีวิตปกติได้  รวมทั้งการสนับสนุนให้มีอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในระหว่างการฟื้นฟูด้วย  เพราะบางครั้งแม้จะยังไม่เรียกว่า พิการ แต่ต้องได้รับการฟื้นฟูด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันความพิการ และกลับมาใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงปกติได้มากที่สุด”

 

แพทย์หญิงสุพัตรา บอกว่า งานฟื้นฟูต้องเพิ่มความสำคัญมากขึ้น และจัดการให้เป็นระบบที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น และต้องขยายนิยาม จากงานที่ดูแลผู้พิการด้านร่างกาย ที่ต้องอาศัยเครื่องมือ อุปกรณ์อย่างเดียวเป็นการฟื้นฟูทั้งทางกายและทางใจ และเชื่อมกับการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต เช่น อาชีพ การศึกษา เป็นระบบที่เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ไม่ได้ต่างคนต่างทำ เป็นตอนๆ 

    
“ ความเข้าใจเรื่องงานฟื้นฟูที่เป็นเรื่องของทางกายและอุปกรณ์ และรูปธรรมกระบวนการฟื้นฟูไม่ชัดเจน ถูกให้ความสำคัญน้อย ทำให้โรงพยาบาลจำนวนมากไม่มีฝ่ายฟื้นฟูโดยตรง แม้จะมีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแต่ก็มีจำนวนน้อย มีแต่งานกายภาพบำบัด ขณะที่งานบริการสุขภาพส่วนใหญ่ ยังให้ความสำคัญเรื่อง การรักษา ส่งเสริม  ป้องกัน  ส่วนงาน ฟื้นฟู จะอยู่ปลายทาง ทำให้ในทางปฏิบัติ แพทย์ไปทุ่มให้กับ การรักษา ส่งเสริม  ป้องกัน  จนทำให้งานฟื้นฟูได้รับความสำคัญน้อย”


   ถอดบทเรียน”งานฟื้นฟู”ยังถูกมองข้าม แนะเชื่อมทุกมิติ   
ความหมายและนิยมของคำว่าฟื้นฟูในหน่วยบริการสุขภาพของไทยจึงเน้นไปที่การฟื้นฟูทางร่างกาย  ทำให้บทเรียนงานฟื้นฟูในช่วง  5-6 ปี หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ และทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัด จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้พิการเข้าถึงกายอุปกรณ์ และช่วยเหลือด้านต่างๆ


        
“เดิมการตั้งกองทุนฟื้นฟูขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้พิการที่ลงทะเบียนคนพิการให้เข้า เครื่องมืออุปกรณ์ได้  แต่พอมาทำงานจริงๆแล้วพบว่ามีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่สามารถฟื้นฟูเพื่อลดความพิการ หรือทำให้ไม่พิการได้  ถ้าได้รับการฟื้นฟูดูแลตั้งแต่ระยะแรกๆ หรือทันท่วงทีจะสามารถทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ”


     
แพทย์หญิงสุพัตรา บอกว่า  งานฟื้นฟูจึงไม่ใช่แค่เรื่องหน้างานของสถานบริการต้องรักษาทันที แต่หมายรวมถึงฟื้นฟูที่ต่อเนื่องหลังจากออกจากโรงพยาบาลไปรักษตัวที่บ้านได้ ทำให้งานฟื้นฟูต้องทำงานเป็นระบบแบบครบวงจร ดังนั้น หัวใจของการฟื้นฟูจึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โรงพยาบาล ครอบครัว ชุมชน สังคม  

ถอดบทเรียน”งานฟื้นฟู”ยังถูกมองข้าม แนะเชื่อมทุกมิติ
    
งานฟื้นฟูไม่ใช่แค่เรื่องอุปกรณ์ของคนพิการ แต่หมายรวมถึงการฟื้นฟูทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ทุกส่วนของสังคมต้องมาร่วมกันดูแล เพื่อฟื้นฟูให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
    
กลไกสำคัญที่จะมาสนับสนุนการจัดการเรื่องการฟื้นฟู เป็นอย่างไร   แพทย์หญิงสุพัตรา  บอกว่า บทเรียนจากการทำงานฟื้นฟู  โดย สปสช. ได้ออกแบบ การทำงานของกองทุนฟื้นฟูให้ท้องถิ่น คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)เข้ามาเป็นกลไกสำคัญ ร่วมสนับสนุนงบประมาณ และบริหารจัดการ ประสานงาน   แต่การทำงานที่ผ่านมายังมีความเข้าใจความหมายของงานฟื้นฟูเป็นเรื่องของ เครื่องมืออุปกรณ์  การสร้างหรือปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เป็นส่วนใหญ่  อีกทั้งภาระงานบริการของหน่วยงานบริการสุขภาพ ค่อนข้างมาก ทำให้งานกองทุนฟื้นฟู ยังไปสนับสนุนการจัดบริการฟื้นฟูได้ไม่มาก  การจัดการที่จะดึงศักยภาพของชุมชน ท้องถิ่น และครอบครัว ให้มามีส่วนร่วมของงานฟื้นฟูยังไม่มากนัก


      
“สุดท้ายแล้วการฟื้นฟูมันไม่ใช่เฉพาะเครื่องมือ อุปกรณ์ แต่มีเรื่องการดูแลทั้งกายและใจ คุณภาพชีวิต หรือทั้งสังคมเพราะฉะนั้นการจัดการเรื่องนี้่จำเป็น ต้องมองเห็นภาพรวมมากขึ้น” 


    ถอดบทเรียน”งานฟื้นฟู”ยังถูกมองข้าม แนะเชื่อมทุกมิติ

 
สิ่งที่แพทย์หญิงสุพัตรา อยากเห็น คือ การวางงานฟื้นฟูให้เป็นระบบฟื้นฟู ที่ทุกฝ่ายเข้ามาร่วม โดยนำเอาจุดแข็งของกองทุนฟื้นฟู ที่มีระบบการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งมีภาคส่วนทั้งหน่วยบริการของรัฐและมีหน่วยบริการของท้องถิ่นหรืออบจ. เทศบาลและชุมชนเข้าร่วมสร้างการมีส่วนร่วม ความเข้าใจร่วมกันได้


    
“คณะกรรมการของกองทุนฯระดับจังหวัด มีทุกภาคส่วนมาร่วม ทั้งหน่วยบริการของรัฐและมีหน่วยบริการของท้องถิ่นหรืออบจ. เทศบาลและชุมชน รวมไปถึงนักกายภาพ หมอเวชศาสตร์ครอบครัว สามารถสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจทำงานร่วมกันได้”


    
ขณะที่ บทบาทของ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และทีมวิชาการจะเข้าไปหนุนเสริมงานในเชิงวิชาการ การจัดการความรู้ เพื่อสร้างระบบฟื้นฟูสุขภาพที่เชื่อมโยงงานด้านอื่นๆ ให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อขยับงานฟื้นฟูนอกจากเรื่อง กายอุปกรณ์ เป็นเรื่องของกระบวนการบริการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง  เชื่อมต่อกับงาน Intermediate care  และ ระบบการดูแลระยะยาว หรือ Long–term care รวมถึงการป้องกันความพิการด้วย


    
“เป้าหมายของการทำงานโครงการฟื้นฟูฯ หลังจากนี้อยากให้มีแผนการทำงานฟื้นฟูร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยมีท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หน่วยสุขภาพที่อยู่ใกล้บ้าน ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เรียกว่าหน่วยบริการปฐมภูมิซึ่งอยู่ในชุมชน มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว มี แพทย์แผนไทย เข้ามาร่วมกันทำงาน”


    
แพทย์หญิงสุพัตรา อยากเห็นภาพอนาคต ของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่มีนิยามครอบคลุมเรื่องของกาย-ใจ คุณภาพชีวิต ส่วนการจัดระบบบริการฟื้นฟู อยากให้มีกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่น หน่วยบริการใกล้บ้าน  นักกายภาพ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู  แพทย์แผนไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบฟื้นฟูให้เกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ


    
“ยุทธศาสตร์หนึ่งของการทำงาน คือการขยับและจัดบริการส่วนต่างๆ ให้เชื่อมต่อกันได้ จัดให้มีพื้นที่ที่ทำให้คนที่มีศักยภาพได้เข้ามาพูดคุย ทำงานร่วมกัน รู้บทบาทของกันและกัน และแบ่งบทบาทกัน มาเสริมตามจุดแข็ง และ อีกยุทธศาสตร์ก็คือการจัดการเชิงการวางแผนและระบบข้อมูลที่เข้าถึงผู้ป่วย รวดเร็วทันท่วงที และตรงเป้า”


    
ส่วนอีกยุทธศาสตร์คือ การจัดการเรื่องของงบประมาณ โดยการแก้ระเบียบให้คล่องตัวมากขึ้น เชื่อมช่องว่างของงบประมาณกับกองทุนฯ ต่างๆ เชื่อมต่อกับระบบสนับสนุนของหน่วยอื่นๆ (เช่น พม. อบต. เทศบาล) เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้ประโยชน์มากที่สุด

สุดท้าย แพทย์หญิงสุพัตรา บอกว่า อยากเห็น ในระยะแรก น่าจะเริ่มต้นได้จาก การพัฒนาบุคลากรคือการเพิ่มศักยภาพของบุคลากร จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับปฏิบัติงานทุกส่วนเพื่อให้เข้าใจงานฟื้นฟูมากขึ้น ส่วนในระดับที่สอง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากคือ ระดับบริหารที่กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้บริหารอบจ.  เทศบาล ให้เข้าใจงานฟื้นฟูที่มีเป้าหมายการสร้างระบบฟื้นฟู กาย ใจ คุณภาพชีวิต ร่วมกัน ทั้งระบบ

ถอดบทเรียน”งานฟื้นฟู”ยังถูกมองข้าม แนะเชื่อมทุกมิติ