svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชวนย้อนความเป็นมา "วันเข้าพรรษา" อ่านธรรมะสอนใจ และสิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติในวันนี้

"วันเข้าพรรษา" 2567 "เนชั่นทีวี" ชวนย้อนประวัติ ความสำคัญ และสิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ พร้อมอ่านธรรมะสอนใจ เตือนใจ จากพระเถระชื่อดัง ที่เรารวบรวมมาให้ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ดำรงชีวิต

19 กรกฎาคม 2567 "วันเข้าพรรษา" ปีนี้ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม โดย "วันเข้าพรรษา" ถือเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่า จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า อยู่) 

ซึ่งพิธีเข้าพรรษานี้ ถือเป็นศาสนพิธีสำหรับพระภิกษุโดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา
 

ชวนย้อนความเป็นมา \"วันเข้าพรรษา\" อ่านธรรมะสอนใจ และสิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติในวันนี้
ประวัติวันเข้าพรรษา

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน 

ต่อมา ชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ชีวิต เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน พระสงฆ์ที่เข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น "ขาดพรรษา"

อย่างไรก็ดี หากมีกรณีจำเป็นบางอย่าง พระภิกษุผู้จำพรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ก็คือ

  1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
  2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
  3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
  4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

ชวนย้อนความเป็นมา \"วันเข้าพรรษา\" อ่านธรรมะสอนใจ และสิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติในวันนี้
ประเภทของการเข้าพรรษา มี 2 ประเภท คือ

1.ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

2.ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน

รู้จัก "เครื่องอัฏฐบริขาร" ของภิกษุระหว่างการจำพรรษา

โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น กว่าพระสงฆ์จะหาที่พักแรมได้ บางครั้งก็ถูกฝนเปียกปอน ชาวบ้านผู้ใจบุญจึงถวาย "ผ้าจำนำพรรษา" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ผ้าอาบน้ำฝน" เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยน และยังถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษา จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ชวนย้อนความเป็นมา \"วันเข้าพรรษา\" อ่านธรรมะสอนใจ และสิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติในวันนี้
การปฏิบัติตนใน "วันเข้าพรรษา"

แม้ว่าการเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของ "ภิกษุ" แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณรที่ตนเคารพนับถือ หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดดื่มสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น

ชวนย้อนความเป็นมา \"วันเข้าพรรษา\" อ่านธรรมะสอนใจ และสิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติในวันนี้
นอกจากนี้ มีประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง อีกทั้งมีการ "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ

ชวนย้อนความเป็นมา \"วันเข้าพรรษา\" อ่านธรรมะสอนใจ และสิ่งที่ชาวพุทธควรปฏิบัติในวันนี้
กิจกรรมต่างๆ ที่ชาวพุทธควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา

  1. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
  2. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิกษุสามเณร
  3. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
  4. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ
  5. อยู่กับครอบครัว 

ธรรมะดีๆ จากพระเถระ 

เนื่องในวันเข้าพรรษาปีนี้ ทาง "เนชั่นทีวี" ขอหยิบยกธรรมะดีๆ จากพระเถระชื่อดัง มานำเสนอเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษา และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของชีวิตต่อไป

พุทธทาสภิกขุ 

  • เวลาที่เราไม่มีอะไรเป็นของเราเลย นั่นแหละเป็นเวลาที่เรามีความสุขที่สุด

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 

  • ธรรมสำหรับคนชั่วนั้น ไม่มีความหมายใด ๆ เหมือนเทน้ำใส่หลังหมา มันสลัดออกเกลี้ยง ไม่มีเหลือ 

หลวงปู่จันทร์ กุสโล

  • ระวังหูของเราดีกว่าเฝ้าปิดปากคนอื่น

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

  • ใจนี้สำคัญมากทีเดียว พาให้คนเป็นบ้าอยู่นี้ก็คือใจ ใจนี้มีความโลภไม่มีประมาณ น้ำมหาสมุทรยังมีฝั่ง ความโลภไม่มีฝั่ง

หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

  • คนตาบอด...คบได้ คนใจบอด...คบไม่ได้

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

  • พ่อแม่นี่แหละเป็นอะไรทุกอย่างให้เรา เป็นพระของเรา เป็นพระพรหมของเรา เป็นครูคนแรกของเรา เป็นผู้ที่เราควรเคารพกราบไหว้ บูชาสักการะทุกค่ำเช้า

หลวงปู่ทวด วัดช้างให้

  • ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได้ แต่สันดานของคนเรา ที่นอนนิ่งอยู่ก้นบึ้ง...ซึ่งไม่เหมือนกัน ย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก

พุทธทาสภิกขุ

  • นกสองหัว ยากที่จะเลือกเอาสักหัว เลยไม่คบทั้งสองหัวนั้นเป็นการถูกต้องแล้ว

ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร

  • อย่าคิดว่าเราเป็นคนสำคัญ ให้ทำตนเป็นแบบปกติธรรมดา ๆ นี่แหละดีที่สุด เมื่อเราคิดว่าเราเป็นคนสำคัญแล้ว เมื่อผู้อื่นไม่ให้ราคาเรา ไม่นับถือ ให้ความสำคัญเราแล้ว จิตใจเราจะเป็นทุกข์ร้อน สับสนวุ่นวายไปตามกระแสโลกธรรม

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

  • เราไม่ต้องคำนึงถึงอดีต อนาคต อดีตล่วงไปแล้ว ดีก็ดีมาแล้ว ชั่วก็ชั่วมาแล้ว อนาคตก็ยังไม่มาถึง ทำปัจจุบันนี้ให้ดี อนาคตก็ต้องดี