svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ช่างเทียนวัดโคราช เร่งแกะสลักตกแต่งขบวนเทียนพรรษา เตรียมร่วมประเพณีแห่เทียนพรรษาปีนี้

ช่างเทียนวัดในโคราช เร่งแกะสลักตกแต่งขบวนเทียนพรรษาสุดอลังการ เตรียมร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาปีนี้ "เนชั่นทีวี" ชวนรู้คำกล่าวถวายเทียนเนื่องในวันเข้าพรรษา และอานิสงส์ที่จะได้รับ

5 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุ้มวัดต่างๆ ในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กำลังเร่งประดับประดาตกแต่งรถขบวนเทียนพรรษา เพื่อให้เสร็จทันเข้าร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ของ อ.พิมาย และ จ.นครราชสีมา 

ซึ่งในส่วนของ อ.พิมาย ปีนี้จัดเต็ม 10 วัน 10 คืน ตั้งแต่วันที่ 19-28 กรกฎาคม 2567 ที่บริเวณลานพรหมทัต ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีวัด 5 วัดใน อ.พิมายที่ส่งขบวนเทียนเข้าร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ได้แก่ วัดเดิม วัดใหม่ประตูชัย วัดบูรพาพิมล วัดสระเพลง และวัดเก่าประตูชัย ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา 

ช่างเทียนวัดโคราช เร่งแกะสลักตกแต่งขบวนเทียนพรรษา เตรียมร่วมประเพณีแห่เทียนพรรษาปีนี้
โดยวันนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการประดับประดาตกแต่งขบวนเทียนพรรษาของวัดเดิม ซึ่งนายณรงค์ ดวงทอง อายุ 65 ปี ช่างแกะเทียนพรรษาของวัดเดิม ได้วางมือเนื่องจากอายุมากแล้ว แต่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาและถ่ายทอดฝึกสอนการแกะสลักเทียนให้กับบุตรชาย 2 คน ได้แก่ นายเกียรติศักดิ์ ดวงทอง อายุ 25 ปี และนายพัชรพล ดวงทอง อายุ 30 ปี เป็นผู้สืบสานต่อ 

โดย นายเกียรติศักดิ์ ดวงทอง บอกว่า ตอนนี้กำลังเร่งมือแกะสลักและตกแต่งขบวนเทียน ให้ทันเข้าร่วมขบวนแห่เทียนพรรษาของอำเภอพิมายและของจังหวัดนครราชสีมานครราชสีมา ซึ่งได้ระดมช่างคนอื่นๆ มาช่วยกันประดับตกแต่งขบวนเทียนพรรษาของปีนี้ ที่มีขบวนรถเทียนยาว 18 เมตร สูง 5 เมตร กว้าง 3 เมตร 70 เซนติเมตร เป็นขบวนเทียนประเภท ก. ซึ่งต้องใช้เนื้อเทียนมากถึง 8 ตัน จัดสร้างอย่างวิจิตรประณีตสวยงามด้วยลวดลายไทยตามแบบประเพณีที่มีการพัฒนาและสืบทอดมาแต่โบราณ จะโดดเด่นด้วยรูปทรงที่สวยงามเฉิดฉาย ผสมผสานกันด้วยองค์ประกอบที่ประยุกต์พัฒนาและต่อยอด เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบของเทียนพรรษาโคราช และแฝงด้วยความหมายต่างๆ 

โดยส่วนหน้าของขบวนรถ จะนำขบวนด้วยพญาครุฑพนมมือถือดอกบัวถวายเป็นพุทธบูชา ถัดมาจัดทำเป็นพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าออกผนวช ด้านข้างเป็นเรือสุพรรณหงส์ เป็นฐานรองรับของพัดจามร สืบถึงหลักคำสอนพรหมวิหาร 4 และยังมีเหล่าเทวดา นางฟ้า สัตว์ป่าหิมพานต์อีกมากมายร่วมส่งเสด็จ ส่วนตอนล่างจัดทำเรื่องคชสีห์ เป็นฐานรองรับต้นเทียนทั้ง 3 ไว้ อันสื่อถึงหลักสอนอริยสัจ 4 

ช่างเทียนวัดโคราช เร่งแกะสลักตกแต่งขบวนเทียนพรรษา เตรียมร่วมประเพณีแห่เทียนพรรษาปีนี้
ส่วนต้นเทียนทั้ง 3 จะประกอบด้วย ต้นเทียนรอง ต้นที่ 1 แกะสลักด้วยลวดลายกนก ก้านขนแกะ กนกเถารอบต้นเทียน และแกะสลักพุทธประวัติ 2 ตอน คือ ตอนพระพุทธเจ้าออกผนวช และตอนพระพุทธเจ้าสหัสถามธนู ส่วนต้นเทียนกลางหรือต้นเทียนเอก จะแกะสลักเป็นลวดลายเคลือเถาเปลาและลายดอกพุดตานพร้อมพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเปิดโลก 

และต้นเทียนรอง ต้นที่ 2 แกะสลักด้วยลวดลายกนกก้านขด และกนกเถารอบต้นเทียน และแกะสลักพุทธประวัติ 2 ตอน คือ ตอนเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ กับตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดโมลี ถือเพศบรรพชา โดยด้านข้างของรถจัดทำพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าปางลีลา พร้อมเหล่าเทวดานางฟ้า มากราบไหว้” ซึ่งขบวนเทียนพรรษาของวัดเดิม 

ในปีนี้นอกจากจะส่งเข้าร่วมประกวดในงานแห่เทียนพรรษาของ อ.พิมายแล้ว ยังจะแห่เข้าโชว์ตัว และเข้าร่วมประกวดขบวนเทียนพรรษาของจังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2567 ด้วย ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา 

ความสำคัญการถวายเทียนจำนำพรรษา

วันเข้าพรรษาถือเป็นอีกวันที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นงานบุญใหญ่ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม  โดยความสำคัญนั้น ในสมัยพุทธกาล วันเข้าพรรษาเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติให้พระสงฆ์ทุกรูป ทั้งที่บวชใหม่และบวชมานานมีพรรษามาก ไม่ว่าจะอยู่ในแห่งหนตำบลใดก็ตาม เมื่อถึงวันนี้จะต้องทำพิธีอธิษฐานพรรษา คืออธิษฐานเพื่ออยู่ประจำในวัดใดวัดหนึ่งตลอดเวลา 3 เดือน ในฤดูฝน ระหว่างแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นกุศโลบาย เพื่อไม่ให้พระสงฆ์ไปเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวนาให้ได้รับความเสียหาย

ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นก่อนวันเข้าพรรษา จะมีประเพณีที่สำคัญ 2 อย่าง ได้แก่ "ประเพณีแห่เทียนพรรษา" และ "ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน" 

เทียนพรรษาที่พุทธศาสนิกชนนิยมนำมาถวายพระภิกษุสงฆ์ (แฟ้มภาพ)
ประเพณีแห่งการถวายเทียนจำนำพรรษา เนื่องจากสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้น เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน ที่จำพรรษา โดยประเพณีการถวายเทียนจำนำพรรษาในประเทศไทยนั้น จะมีขึ้นก่อนวันพรรษา แต่ในปัจจุบันนั้นเทียนพรรษาอาจมีความสำคัญลดลง พุทธศาสนิกชนจึงได้เปลี่ยนมาถวายหลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย แทน แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีการถวายเทียนพรรษากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงาม


คำกล่าวถวายเทียนพรรษา

 
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ท่องนะโม 3 จบ)

บทสวด - ยัคเฆ ภันเต , สังโฆ ปะฏิชานาตุ , มะยัง ภันเต , เอตังปะทีปะยุคัง , สะปะริวารัง ,  เตมาสัง , พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ , อิมัสสะมิง อุโปสะถาคาเร , นิยยาเทมะ , สาธุ โน ภันเต , อะยัง เตมาสัง , พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ , ปะทีปะยุคัสสะ , ทานัสสะ , อานิสังโส , อัมหากัง , ทีฆะรัตตัง , หิตายะ , สุขายะ , สังวัตตะตุ


คำแปล - ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ อุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่ เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษานี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดา บิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ

อานิสงส์ของการถวายเทียนจำนำพรรษา

การถวายเทียนพรรษาเชื่อกันว่า ผู้ถวายเทียนจำนำพรรษาจะได้อานิสงส์ของประกอบด้วย


1. ทำให้เกิดปัญญา ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน


2. ทำให้ชีวิตสว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายย่อมเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ


3. ทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่างๆ ที่มีปัญหาร้ายกลับกลายเป็นดี


4. ย่อมเจริญไปด้วยมิตรและบริวาร


5. ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย


6. เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว


7. เมื่อลาลับโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่สุคติและสวรรค์


8. หากสั่งสมบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่นิพพาน


นอกจากนี้ ยังมีเคล็ดลับการทำบุญเนื่องในวันเข้าพรรษาและการถวายเทียนพรรษา คือในอดีตเชื่อว่า การถวายเทียนจะทำให้ชีวิตรุ่งเรือง โชติช่วง เหมือนดังแสงไฟจากเทียน ต่อมาก็ได้มีการถวายเทียนเพื่อเป็นการเสิรมดวงความรัก นิยมถวายเป็นคู่ เชื่อว่าแสงเทียนจะช่วยส่องสว่างในชีวิต เสริมให้ดวงความรักดีขึ้น สำหรับคนโสดก็จะทำให้พบเจอแต่เรื่องดี ๆ หรือเจอกับเนื้อคู่ในเร็ววัน

ถวายผ้าอาบน้ำฝนอีกประเพณีเนื่องในวันเข้าพรรษา

นอกจาการถวายเทียนพรรษาแล้ว ในวันเข้าพรรษายังมีการถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ด้วย เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากพระองค์ได้ตรัสให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย แสวงหาผ้าอาบน้ำฝน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 7 ไปจนถึงเดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ และทรงอนุญาตนุ่งหุ่มได้ตั้งแต่ แรม 1 ค่ำเดือน 8 เป็นต้นไป และห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์แสวงหาผ้านุ่งห่มเลยไปจากทรงอนุญาตไว้

เมื่อทรงกำหนดไว้ดังนั้น ครั้นถึงเวลาบรรดาพุทธศาสนิกชน จึงชวนกันบริจาคทรัพย์ของตน และจัดหาผ้าอาบน้ำฝนไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัด เพื่อมิให้พระภิกษุสงฆ์ต้องกังวลในเรื่องการแสวงหา จะได้ตั้งหน้าประพฤติสมณธรรม 

เชื่อกันว่า อานิสงส์ของการถวายผ้าอาบน้ำฝน จะถือว่าเป็นการทำบุญช่วยทำนุบำรุงพระศาสนา ผู้ที่ได้บริจาคผ้าอาบน้ำฝน จะพบแต่ความสุขความเจริญ จะมั่งมีด้วยทรัพย์สินเงินทองและบริวารมากมาย เมื่อสิ้นบุญไปแล้วก็จะไปเกิดเป็นเทพบตรเทพธดาบนสรวงสวรรค์เสวยทิพยสมบัติสืบไป