svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สทนช.เผยไทยเข้าสู่ “ลานีญา” เชื่อเขื่อนใหญ่ช่วยตัดยอดน้ำ ลดผลกระทบอุทกภัย

สทนช.เผยไทยเข้าสู่ “ลานีญา” แล้ว มั่นใจเขื่อนใหญ่ช่วยตัดยอดน้ำ ลดผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมสั่งคุมเข้ม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน

27 มิถุนายน 2567 นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ  ในฐานะรองโฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ สภาวะลานีญา แล้ว ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศ และปริมาณฝนตกตั้งแต่เดือน มิ.ย. - พ.ย. 67 ว่า จะเริ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5 - 8% ยกเว้นในเดือน ต.ค. 67 ปริมาณฝนตกจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 12% 

โดยในเดือน ก.ค.-ส.ค. 67 ฝนจะตกหนัก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายขอบของประเทศ ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่เดือน ก.ย. 67 ฝนจะตกหนักกระจายทั้งประเทศ ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก ส่วนในช่วงปลายฤดูฝนเดือน ต.ค.-พ.ย. 67 ฝนจะตกหนักมากในภาคตะวันตกตอนล่างและภาคใต้ ซึ่ง สทนช.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัดตลอดช่วงฤดูฝนปีนี้
นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ  ในฐานะรองโฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.
 

นายฐนโรจน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายเดือนนี้ (มิ.ย.67) จะมีร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กําลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนัก สทนช.ได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา

นอกจากนี้ในช่วงเดียวกัน พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง อาจจะได้รับผลกระทบ จากน้ำทะเลหนุนสูงและฝนตกหนักในพื้นที่ ซึ่ง สทนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือน และให้เฝ้าระวังสถาน การณ์ดังกล่าวไปแล้วเช่นกัน
สทนช.เผยไทยเข้าสู่ “ลานีญา” เชื่อเขื่อนใหญ่ช่วยตัดยอดน้ำ ลดผลกระทบอุทกภัย

“ฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ แม้จะมีพื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก แต่ก็จะส่งผลดีต่อพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด เพราะฝนที่ตกลงมาจะช่วยเติมน้ำในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

นอกจากนี้ สทนช. ได้ติดตามการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการกำจัดผักตบชวา และขุดลอกคูคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมไปถึงปรับปรุง ซ่อมแซมเครื่องมือวัดปริมาณน้ำที่ชำรุดให้มีความพร้อมใช้งาน ภายในเดือน ก.ค. นี้ 
สทนช.เผยไทยเข้าสู่ “ลานีญา” เชื่อเขื่อนใหญ่ช่วยตัดยอดน้ำ ลดผลกระทบอุทกภัย

 

นายฐนโรจน์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำ ในแหล่งเก็บกักน้ำทั่วประเทศขณะนี้ (ข้อมูล ณ 25 มิ.ย. 67) มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 39,936 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50 % ของปริมาณการกักเก็บ และสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 40,628 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามในจำนวนแหล่งเก็บกักน้ำดังกล่าว มีอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนปราณบุรี นอกจากนี้ยังมีเขื่อนขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำกักเก็บอีกถึง 92 แห่งทั่วประเทศด้วย   

ดังนั้นหากมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น ตามที่คาดการณ์ไว้ เขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อยดังกล่าว จะสามารถรองรับมวลน้ำหลาก และตัดยอดน้ำได้อีกจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดผล กระทบจากน้ำป่าไหลหลาก และบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะทำให้มีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 อย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ได้คาดการณ์ว่า ถ้าเกิดฝนตกเฉลี่ยหลังจากสิ้นฤดูฝนในวันที่ 1 พ.ย. 67 จะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 58,195 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% ของปริมาณน้ำกักเก็บ ซึ่งมากกว่าปี 2566 ประมาณ 1,809 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก อยู่ที่ 20,667 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2566 ประมาณ 2,886 ล้าน ลบ.ม. และที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) จะมีปริมาณน้ำต้นทุนเต็มความจุรวมทั้งสิ้น 576 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา 65 ล้าน ลบ.ม.
สทนช.เผยไทยเข้าสู่ “ลานีญา” เชื่อเขื่อนใหญ่ช่วยตัดยอดน้ำ ลดผลกระทบอุทกภัย