12 เมษายน 2567 จากกรณีพบ "กากแคดเมียม" ถูกขนส่งจากบ่อฝังกลบที่จ.ตาก มาที่ จ.สมุทรสาคร จำนวน 13,000 กว่าตัน จนกลายเป็นประเด็นร้อน มีการขยายผลตรวจค้นโกดังใน 3 จังหวัด ทั้งสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพ พบการซุกซ่อนกากแคดเมียมจำนวนมาก ซึ่งเบื้องต้นยังคงหายไปประมาณ 1,380 ตัน ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
ก.อุตสาหกรรม สั่งส่งกลับไปฝังกลบจ.ตาก
ล่าสุด นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดการตะกอนแคดเมียมของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ตามที่ตนได้สั่งการให้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เร่งให้มีการทำแผนขนย้ายกากแคดเมียมไปยังบ่อฝังกลบที่ จ.ตาก นั้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน อุตสาหกรรมจังหวัดตากแจ้งว่า ได้มีหนังสือถึง บมจ.เบาว์แอนด์บียอนด์ แจ้งเพิกถอนการอนุญาตขนกากตะกอนแคดเมียม และให้ดำเนินการขนกากแคดเมียมที่กระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ กลับไปฝังกลบยังต้นทางที่จังหวัดตาก โดยต้องทำแผนการขนย้ายมาให้พิจารณาภายใน 3 วัน และทำการขนย้ายกาก พร้อมปิดหลุมฝังกลบให้เสร็จภายใน 15 พฤษภาคม
ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งในช่วง 1-2 วันนี้ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม จะจัดทำขั้นตอน (Flow Diagram) การเคลื่อนย้ายกากแคดเมียม พร้อมมาตรการความปลอดภัย ตั้งแต่การนำออกจากสถานที่ยึดอายัดต้นทาง การขึ้นรถบรรทุก การขนส่งระหว่างทาง การนำกากเข้าพื้นที่เพื่อฝังกลบ และการปิดบ่อฝังกลบ
“กระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่า การเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมดังกล่าวไปที่จังหวัดตาก จะดำเนินการด้วยความถูกต้อง ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน กระทรวง ฯ และ บก.ปทส. ยังไม่หยุดตรวจสอบ ค้นหากากแคดเมียมที่เหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อนำกลับไปยังต้นทางทั้งหมด” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ได้รับทราบจาก บมจ.เบาด์แอนด์บียอนด์ จ.ตาก ว่า ได้มีการหารือการขนย้ายกากแคดเมียมกับ บจก.เจแอนด์บี เมททอล จ.สมุทรสาคร แล้ว โดยทางเจแอนด์บี ยอมให้ทำการขนย้ายกองกากแคดเมียมจากสมุทรสาครกลับไปกลบฝังที่ตาก และทางเบาว์แอนด์บียอนด์ จะทำแผนมาให้กระทรวงพิจารณาภายในวันที่ 13 เมษายน โดยเจ้าหน้าที่ สอจ.ตาก จะรอรับแผนการขนย้ายในวันดังกล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการอำนวยการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี ได้ช่วยร่างหนังสือให้ สอจ.สมุทรสาคร และชลบุรี ออกคำสั่งเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย แก่ บจก.เจแอนด์บี เมททอล บจก.ซินหงส์เฉิง เจ้าของโกดังตำบลคลองกิ่ว และที่คลองมะเดื่อ ตลอดจนออกแบบแนวทาง และระบบติดตามตรวจสอบการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมจากต้นทางทั้งหมดกลับมาฝังกลบที่จังหวัดตาก
ทั้งนี้ ในวันที่ 17 เมษายน เวลา 10.00 น. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโครงสร้างทางวิศวกรรมของบ่อฝังกลบของ บมจ.เบาด์แอนด์บียอนด์ ที่จังหวัดตาก ว่ามีความมั่นคง แข็งแรง มีขนาดปริมาตรที่เหมาะสมในการรองรับกากแคดเมียมทั้งหมดหรือไม่ รวมถึงระบบปั๊มน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสีย ว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้หรือไม่
อาจารย์ มธ. จี้ประเมินความเสี่ยง "กากแคดเมียม" ตรงไปตรงมา
ดร.ณัฐฐา แสงนรินทร์ เหมจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้คือต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมในละแวกที่พบกากแคดเมียม เพื่อประเมินความเสี่ยงว่ากากแคดเมียมนั้นได้ปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญต่อประชาชนให้ระมัดระวังผลกระทบต่อสุขภาพ
สำหรับแนวทางการวิเคราะห์ความเสี่ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ควรดำเนินทั้ง 3 ขั้นตอนคือ
ประเมินความเสี่ยงเส้นทางบรรทุก
ดร.ณัฐฐา กล่าวว่า ในเบื้องต้นภาครัฐควรประเมินความเสี่ยงสภาพแวดล้อม โดยตรวจสอบสภาพอากาศตั้งแต่จุดที่ขนย้ายกากแคดเมียมตามเส้นทางที่มีการบรรทุกจากต่างจังหวัดเข้ามายังกรุงเทพฯ รวมไปถึงบริเวณภายในโกดังของโรงงานที่จัดเก็บกากแคดเมียม
หากพบว่ามีการปนเปื้อนภายในก็ต้องขยายวงรัศมีการตรวจสอบออกไปในพื้นที่โดยรอบ ทั้งแหล่งดินเพาะปลูก แหล่งน้ำ และสภาพอากาศโดยรอบด้วยเช่นกัน ซึ่งหากตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่าไม่มีผลกระทบ หรือมีผลกระทบก็ตาม ต้องรีบแจ้งต่อประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะๆ
“เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่โดยรอบของโกดังที่จัดเก็บ ทั้งแหล่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูก และในอากาศ ซึ่งต้องเริ่มต้นจากโกดังที่จัดเก็บก่อน หากพบว่ามีการปนเปื้อน ก็ต้องขยายวงรัศมีการตรวจสอบออกไปจนกว่าจะไปพบว่าพื้นที่ใดบ้างที่ไม่มีการปนเปื้อนแล้ว และจากนั้นก็ต้องมีแนวทางการจัดการกากแคดเมียมที่ค้นพบอย่างถูกต้องต่อไป เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนได้อีก” ดร.ณัฐฐา กล่าวย้ำ
ดร.ณัฐฐา กล่าวอีกว่า ในส่วนประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงโกดังที่จัดเก็บกากแคดเมียม อย่าเพิ่งตื่นตระหนก แต่ให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นจะต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดดมสารแคดเมียมที่อาจกระจายตัวอยู่ในอากาศ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นรอยต่อของกรุงเทพฯ อย่าง จ.นนทุบรี ก็ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีความแน่ชัดว่ามีการปนเปื้อนหรือกระจายไปก็ตาม
สารแคดเมียมมีความอันตรายและเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสูดดมในอากาศ การสัมผัสทางผิวหนัง และการรับประทานพืชผักผลไม้ที่ปนเปื้อนจากการเพาะปลูก ดังนั้น ประชาชนอาจต้องตระหนักรู้ และเมื่อได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสารเคมี หรือสารพิษ ก็ต้องคอยรับฟังข้อมูลจากภาครัฐ และกรองข่าวสารนั้นเพื่อความถูกต้อง พร้อมกับหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้รู้ตัวว่าต้องระวังขนาดไหน
"แต่สิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาต่อไปประชาชน" ดร.ณัฐฐา กล่าว
สรุปจำนวน "กากแคดเมียม" ที่หายไป
กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลรายงานสรุปกรณี "แคดเมียม" เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ถูกนำออกมาจากจ.ตาก ประมาณ 13,800 ตัน จนถึงปัจจุบันมี "กากแคดเมียม" ที่ถูกพบในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร รวม 12,421.11 ตัน ประกอบด้วย
ดังนั้นจึงเหลือ "กากแคดเมียม" ที่ต้องตามหาอีกประมาณ 1,380 ตัน