svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วันนี้ในอดีต 3 เมษายน 2516 เริ่มต้นการใช้โทรศัพท์มือถือ ก้าวสำคัญของโลกสื่อสาร

วันนี้ในอดีต 3 เมษายน ปี พ.ศ. 2516 ถือเป็นก้าวสำคัญของการสื่อสาร เมื่อโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของโลกถูกใช้โทรออกครั้งแรก "Nation STORY" ขอพาย้อนโมเมนต์ตอนนั้น แล้วปัจจุบัน เทคโนโลยีรุดหน้าไปมาก คุณใช้มือถือไปกับกิจกรรมอะไรบ้าง บอกเราได้นะ

"โทรศัพท์มือถือ" หรือที่ปัจจุบันพัฒนาเป็น "สมาร์ตโฟน" ซึ่งแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 สิ่งจำเป็นต่อมนุษย์เรา ไม่ว่าจะใช้ติดต่อสื่อสาร หรือทำอะไรต่อมิอะไรตามศักยภาพของมือถือของคุณ

แล้วเคยสงสัยกันไหม ว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของโลก ถือกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่ การใช้งานครั้งนั้นใครเป็นคนโทรออกและรับสาย โมเมนต์นั้นเป็นอย่างไร เรามาย้อนกลับไปกัน

Motorola DynaTAC 8000X
หมุนเข็มนาฬิกา จิ้มปฏิทิน ไปวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2516 ขณะที่วิศวกรของ "โมโตโรล่า" นามว่า "มาร์ติน คูเปอร์" ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเคลื่อนที่ ยืนอยู่ ณ ย่านซิกส์อะเวนิว ในนิวยอร์ก เขาได้ใช้โทรศัพท์มือถือต้นแบบ "โมโตโรล่า รุ่นไดน่าแทค" (Motorola DynaTAC) ที่มีความสูงถึง 9 นิ้ว น้ำหนักกว่า 1.13 กิโลกรัม คุยได้ต่อเนื่องนาน 35 นาที แต่ก็ต้องใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงในการชาร์จใหม่ โทรออกเป็นครั้งแรก 

ปลายสายก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล คือ "โจเอล เอนเกล" ผู้เป็น "คู่แข่ง" เขาที่ทำงานอยู่ Bell Labs (AT&T) 
วันนี้ในอดีต 3 เมษายน 2516 เริ่มต้นการใช้โทรศัพท์มือถือ ก้าวสำคัญของโลกสื่อสาร

"โจเอล นี่มาร์ตี้ ฉันโทรหาคุณจากมือถือ มือถือของจริง พกพาสะดวก" 

คำกล่าวข้างต้น คือบทสนทนาที่คูเปอร์ ทักทายโจเอล พอพูดเสร็จ ก็เกิดความเงียบงันที่ปลายสายอีกด้าน ประดุจ "ไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก" ประโยคคุ้นๆ บ้านเรา แค่เงียบไม่พอ ยังตามด้วยเสียงกัดฟันเล็กๆ เล็ดลอดออกมา 

นี่ถ้าเป็นยุคนี้ คงถูกมองว่า ขิงกันชัดๆ!

Motorola DynaTAC 8000X

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2526 โทรศัพท์มือถือ "Motorola DynaTAC 8000X" ก็ได้ออกวางจำหน่าย ด้วยสนนราคากว่า 1.3 แสนบาท

อย่างไรก็ดี การโทรของคูเปอร์ครั้งนั้น ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์การสื่อสารแบบเคลื่อนที่ และเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่การสื่อสารยุคใหม่ 

วันนี้ในอดีต 3 เมษายน 2516 เริ่มต้นการใช้โทรศัพท์มือถือ ก้าวสำคัญของโลกสื่อสาร
เช็กลิสต์พฤติกรรม "โนโมโฟเบีย"


กลับมาที่ปัจจุบัน แต่ละวันใครหลับคาจอ หรือตื่นมาแล้วต้องคว้าโทรศัพท์มือถืออย่างแรกบ้าง? ผู้เขียนขอชวนเช็กลิสต์พฤติกรรม แค่ไหนที่เรียกว่า "โนโมโฟเบีย" อาการติดโทรศัพท์มือถือ

"โนโมโฟเบีย" ภาษาอังกฤษ คือ "Nomophobia" ที่มาจากคำว่า no - mobile - phone - phobia หากแปลตามตัวก็คืออาการหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทางการแพทย์ไม่นับว่าเป็นโรค อาการที่เข้าข่าย โนโมโฟเบีย มีดังนี้

  • ต้องพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา 
  • ต้องคอยคลำหาโทรศัพท์วางอยู่ข้างๆ ตัวเสมอ 
  • หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความในมือถือตลอดเวลา ถ้ามีเสียงข้อความเข้า หากไม่ได้เช็กดูทันทีจะมีอาการกระวนกระวายใจ
  • ไม่สามารถทำงานหรือปฏิบัติภารกิจตรงหน้าได้สำเร็จ ต้องดูหน้าจอโทรศัพท์เพื่อเช็กข้อความก่อน 
  • เมื่อตื่นนอนรีบคว้าโทรศัพท์มาเช็กข้อความ หรือก่อนนอนเล่นโทรศัพท์จนหลับ 
  • มือจับโทรศัพท์ไม่ว่าจะระหว่างกินข้าว เข้าห้องน้ำ นั่งรถ 

วันนี้ในอดีต 3 เมษายน 2516 เริ่มต้นการใช้โทรศัพท์มือถือ ก้าวสำคัญของโลกสื่อสาร
ผลกระทบต่อสุขภาพ

หากใครอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ผลกระทบที่ทราบกันมา คือ เรื่องสายตา ยิ่งหากบางคนอยู่ในที่แสงไม่พอ และใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ต้องใช้แสงจ้าด้วยยิ่งมีปัญหามากขึ้นกับสายตา

นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดอาการปวดเมื่อยคอ บ่าไหล่ เพราะเวลาใช้งานโทรศัพท์จะเกิดอาการเกร็งโดยไม่รู้ตัว ถ้าเล่นนานๆ จะปวดศีรษะตามมา และปัญหาเรื่องสมาธิ เนื่องจากตัวภาพและจอจะรบกวน ทำให้ระบบสมาธิลดลง

วันนี้ในอดีต 3 เมษายน 2516 เริ่มต้นการใช้โทรศัพท์มือถือ ก้าวสำคัญของโลกสื่อสาร
วิธีแก้อาการในเบื้องต้น


ควรปิดแจ้งเตือน หรือเก็บมือถือไว้ให้ห่างตัว ในช่วงเวลาเลิกงานหรือก่อนเข้านอน เพื่อให้ร่างกายและสายตาได้พักผ่อน วางแผนกิจกรรมในแต่ละวัน แบ่งเวลาใช้สมาร์ทโฟน โดยกำหนดให้น้อยลง เพื่อกำหนดตัวเองไม่ให้เพลิดเพลิน จนเสียสุขภาพ หากิจกรรมสร้างความบันเทิงอย่างอื่นทำ เช่น อ่านหนังสือ หรือ ออกกำลังกาย จะช่วยให้ได้ทั้งสมาธิ และสุขภาพที่แข็งแรงคืนมา
วันนี้ในอดีต 3 เมษายน 2516 เริ่มต้นการใช้โทรศัพท์มือถือ ก้าวสำคัญของโลกสื่อสาร
จัดช่วงเวลาที่ปลอดมือถือ พักผ่อนสมองบ้าง

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ rama.mahidol ได้แนะนำถึงผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า สำหรับใครที่เช็กตัวเองแล้วพบว่า เข้าข่ายอาการโนโมโฟเบียคงไม่ดีแน่ เพราะเสียทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสมอง

เนื่องจากการใช้งานเทคโนโลยี เป็นการรับข้อมูลของสมองที่ต้องใช้ความเข้มข้นสูงในการจ้องรับข่าวสารหรือใช้งานตลอดเวลา จึงทำให้ในแต่ละวันต้องมีช่วงเวลาที่ต้องปลอดมือถือพักสมองบ้าง 

เช่น จัดช่วงเวลาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ ได้แก่ เวลารับประทานอาหาร เวลาทำงาน ถ้าเราปรับตัวได้จะพบว่ามันไม่ได้ต้องใช้ตลอดเวลา อาจจะเริ่มจากกำหนดเวลา 30 นาที และเพิ่มเป็น 1 ชั่วโมง จากนั้นเพิ่มเวลาไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในห้องนอน ถ้าสามารถกำหนดให้เป็นเขตปลอดมือถือได้ยิ่งดี
วันนี้ในอดีต 3 เมษายน 2516 เริ่มต้นการใช้โทรศัพท์มือถือ ก้าวสำคัญของโลกสื่อสาร
เปิด 7 เคล็ดลับ ลดอาการ "โนโมโฟเบีย"

  1. หาหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ที่ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ
  2. ทุกครั้งที่หยิบมือถือขึ้นมาต้องรู้ว่าต้องการใช้งานอะไร พอเสร็จตามจุดประสงค์แล้ววางไว้ข้างตัว
  3. หานาฬิกาปลุกมาใช้แทนนาฬิกาในมือถือ
  4. หยุดชาร์จมือถือใกล้เตียงนอน
  5. ลองไม่พกมือถือตัวไปด้วย เมื่อออกไปเดินข้างนอกในสถานที่ใกล้บ้าน
  6. ตั้งค่ามือถือที่ช่วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ปิดการแจ้งเตือน, ใช้โหมดเครื่องบิน , ตั้งพาสเวิร์ดให้ยากต่อการปลดล็อกมาใช้งาน เป็นต้น
  7. ลบแอปฯ ที่ทำให้คุณหยิบมือถือขึ้นมาบ่อยๆ หรือ แอปฯ ที่ไม่มีประโยชน์สำหรับคุณออก หรือหาแอปฯที่จะช่วยควบคุมการใช้งานมาแทน

วันนี้ในอดีต 3 เมษายน 2516 เริ่มต้นการใช้โทรศัพท์มือถือ ก้าวสำคัญของโลกสื่อสาร
ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก จากวันที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือครั้งแรก ตอนนี้มือถือก้าวขึ้นมาเป็น "สมาร์ตโฟน" ด้วยความสะดวกแถมสบายที่เราได้จากมัน ยิ่งทำให้เราอยู่กับหน้าจอแทบจะตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะใช้ทำงาน หรือ เพื่อความบันเทิง แต่ก็อย่าลืมห่างจากหน้าจอ แล้วใช้เวลากับครอบครัว คนรัก เพื่อน คนที่อยู่รอบๆ ตัวคุณ รวมถึงสัตว์เลี้ยงให้มากๆ

สุดท้ายนี้ แต่ละวันคุณใช้โทรศัพท์มือถือไปกับกิจกรรมอะไรบ้าง รวมถึง มีวิธีลดอาการ "โนโมโฟเบีย" ยังไง บอกให้เรารู้ได้นะ...

วันนี้ในอดีต 3 เมษายน 2516 เริ่มต้นการใช้โทรศัพท์มือถือ ก้าวสำคัญของโลกสื่อสาร
ขอบคุณข้อมูลจาก : 
https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1063307
https://www.bangkokbiznews.com/tech/498995
https://thestandard.co/onthisday03041973/
https://www.springnews.co.th/lifestyle/lifestyle/832205
becomingminimalist.com
recoveryranch.com
rama.mahidol.ac.th
https://www.facebook.com/TODAYth.FB/photos/a.153956988306921/1252259665143309/?type=3