เป็นเรื่องราวที่น่าตกใจ น่าเป็นห่วง และต้องร่วมกันส่งกำลังใจให้ กรณี "กุ้ง สุธิราช" นักร้องพระเอกลิเกชื่อดัง ออกมาเปิดเผยว่า น้องสาว นางเอกลิเกคนดัง น้องวิ ภิญญ์วดี ภูวรุ่งเรืองหิรัญ (วิรดา วงศ์เทวัญ) ได้ป่วย โรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง อยู่ในขั้นวิกฤต ยังไม่รู้สึกตัว หลังเข้ารับการรักษาตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา
เคสของ "วิรดา วงศ์เทวัญ" ทำให้หลายคนหวนนึกถึง เมื่อครั้งที่อดีตพระเอกหนุ่มชื่อดัง "ปอ ทฤษฎี สหวงษ์" ต้องจบชีวิตลงในวัยเพียง 37 ปี จากโรคไข้เลือดออก ที่มีต้นเหตุมาจากการถูก "ยุงกัด" หรือ เมื่อไม่ที่ผ่านมาที่ "บอย ปกรณ์" พระเอกชื่อดัง ก็เพิ่งล้มป่วยจากโรคดังกล่าว
ดังนั้น "โรคไข้เลือดออก" จึงถือเป็นโรคที่มีความร้ายแรงและน่ากลัว แต่ผู้คนกลับมักไม่ให้ความสนใจ จนกว่าจะประสบกับตัวเอง หรือคนในครอบครัว หรือผู้ที่มีชื่อเสียง ได้ล้มป่วยลงด้วยโรคนี้
เนชั่นออนไลน์ จะไปมารู้จักความน่ากลัวของ "โรคไข้เลือดออก" ว่ามีความอันตรายอย่างไร .......
รู้จักโรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก (Dengue fever) เป็นโรคระบาดร้ายแรงประจำถิ่นประเทศไทย รวมถึงประเทศในแถบร้อนชื้น มียุงลายเป็นพาหะของ เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus: DENV) พบการระบาดตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูฝน และมีการระบาดหนักในทุก 2 - 5 ปี
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ประเทศไทยส่อเค้าระบาดหนักอีกครั้ง โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 1 พ.ย. 2566 มีผู้ป่วยสะสม 123,081 คน เสียชีวิต 139 คน ซึ่งผู้ป่วยในปี 2566 พบว่า สูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน 3.4 เท่า และอัตราป่วยเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในกลุ่มอายุ 25 - 34 ปี
และสิ่งที่ยิ่งทำให้น่ากลัวคือ โรคไข้เลือดออกเกิดจากติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ชนิด 1, 2, 3 และ 4 (DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4) โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ตัวเมียเป็นพาหะนำโรค
ดังนั้นคน ๆ หนึ่งจะเป็นโรคไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้ง และหากได้รับเชื้อซ้ำในต่างสายพันธุ์กัน จะเสี่ยงทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น
ส่วนสาเหตุการติดเชื้อไวรัส เกิดจากยุงลายตัวเมียไปกัด และดูดเลือดของผู้ป่วย ที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อนหน้า โดยชื้อไวรัสเดงกีในเลือดของผู้ป่วย จะเข้าไปฟักตัวและเพิ่มจำนวนในตัวยุง เชื้อนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงได้ ตลอดอายุของยุง คือ ประมาณ 1 - 2 เดือน แล้วจึงไปกัดคนที่อยู่ใกล้เคียงในรัศมีไม่เกิน 400 เมตร เป็นการแพร่เชื้อไปให้คนอื่น ๆ ต่อไป เหมือน ซอมบี้
โดยยุงลายบ้าน เป็นยุงที่ออกหากิน (กัดคน) ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เดิมยุงลายนิยมออกหากินในเฉพาะเวลากลางวัน แต่ในระยะหลังพบว่า ยุงลายมีการออกหากินในเวลากลางคืนด้วย
อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกและการรักษา
สำหรับผู้สงสัยป่วยไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูง ทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลงนานเกิน 2 วัน หน้าแดง ตาแดง ปวดท้องถ่ายดำ มีผื่นแดงตามตัว เลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดกำเดา ช็อกหมดสติ ให้สงสัยว่า อาจป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก อย่าปล่อยไว้นาน ให้รีบรับการรักษา จะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตลงได้
จากการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิต ยังพบปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องย้ำเตือนคือ การไปรับการตรวจวินิจฉัยช้าในผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมักมีโรคประจำตัว ทำให้เพิ่มความเสี่ยง เช่น โรคตับแข็งจากการติดสุราเรื้อรังในผู้ชาย การอยู่ในช่วงมีประจำเดือนในผู้หญิง ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเด็กคือ เป็นภาวะอ้วน
ที่สำคัญ เมื่อเป็นไข้ห้ามซื้อยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน หรือยาแอสไพริน ทานเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย แนะนำให้ใช้ยาพื้นฐานคือ ยาพาราเซตามอล ทานก่อนไปพบแพทย์
ทั้งนี้ แม้โรคไข้เลือดออกจะเป็นโรคที่มีความร้ายแรง น่ากลัว แต่ก็สามารถป้องกันได้ คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย การป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด รวมถึงการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว ....
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค , thaipbs , medthai