svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ต้านสร้างเขื่อน 7 แห่ง ชี้ทำสูญเสียพื้นที่ป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ 1.6 หมื่นไร่

“นักอนุรักษ์” ประสานเสียงต้านสร้างเขื่อน 7 แห่ง ในพื้นที่ นครนายก-ปราจีน ชี้ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 16,000 ไร่ แนะกรมชลฯ บริหารจัดการน้ำแนวใหม่ สอดรับภาวะโลกเดือด ที่ทั่วโลกเผชิญ

6 พฤศจิกายน 2566 ที่ จ.นครนายก น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เปิดเผยข้อมูลความเคลื่อนไหว  โครงการเขื่อนในพื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุม 2 จังหวัดได้แก่ นครนายกและปราจีนบุรี

ซึ่งประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ , อุทยานแห่งชาติทับลาน , อุทยานแห่งชาติตาพระยา , อุทยานแห่งชาติปางสีดา , และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ในปี พ.ศ.2548 ว่า ขณะนี้มีโครงการที่อยู่ในแผนการก่อสร้าง ทั้งหมดคือ 7 เขื่อน ซึ่งหากทำตามแผนทั้งหมด พื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ที่จะหายไปถึง 16,000 ไร่ 

น.ส.อรยุพา ยังได้ตั้งคำถามถึงภาครัฐว่า สหประชาชาติประกาศว่า ตอนนี้โลกเราไม่ได้อยู่ในภาวะโลกร้อน แต่อยู่ในภาวะโลกเดือด ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติอีกต่อไป เพราะฉะนั้นเรายังสามารถ ที่จะสามารถบริหารจัดการการน้ำแบบเดิม และปัญหาสิ่งแวดล้อม แบบที่เราไม่เคยเจอกันมาก่อนได้อยู่หรือไม่
น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
 

ขณะที่ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า ตนคือคนที่ร่วมต่อสู้กับพี่น้อง เพื่อปกป้องผืนป่ามาตลอด 30 ปี จนมีชื่อเรียกว่า วิทยาศาสตร์พลเมือง นั่นคือ เราทุก ๆ คน มีเครื่องมือที่แสนวิเศษในตัวเราคือ สายตา ขา และมือของเรา ออกไปช่วยกันสำรวจดูว่า เรามีสิ่งมีชีวิตอะไรอยู่บ้าง

พอได้ฟังว่า คลองมะเดื่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ฝั่ง จ.นครนายก มี ปูหินน้ำตก ที่มีอยู่แห่งเดียวในโลก จึงอยากนัดหมายนักธรรมชาติวิทยา และผู้ที่สนใจ มาช่วยกันสำรวจสิ่งมีชีวิต  ในพื้นที่ระบบนิเวศคลองมะเดื่อ เพื่อให้คนมารู้จักว่า สิ่งมีชีวิตที่นี่มีค่าขนาดไหน และเป็นการส่งสารไปบอกกับรัฐบาลและสังคมด้วย  
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว
 

คนในพื้นที่โวยผลสำรวจสิ่งแวดล้อมไม่เป็นธรรม 

ด้าน นายโสภณัฐต์ กิ่งผา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสาริกา แกนนำชุมชนบ้านคลองมะเดื่อ เล่าถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาว่า ทุกครั้งที่มีการประชุมกับกรมชลประทาน ที่ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่รู้ว่า จะต้องบันทึกภาพวีดีโอ พอชาวบ้านยกมือคัดค้าน บริษัทที่ปรึกษาฯ ถ่ายภาพนิ่ง ไปบิดเบือนเป็นชาวบ้านเห็นด้วย แต่ไม่มีหลักฐาน เพราะภาพนิ่งบ่งชี้ไม่ได้ว่า ชาวบ้านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

พอร้องไปยังกรรมการสิทธิมนุษยชน เขาก็ถามหาหลักฐาน และที่สำคัญจำนวนคนที่เห็นด้วย กับโครงการเขื่อนมะเดื่อ ที่ระบุในรายงานผลกระทบฯ ว่า เห็นด้วย 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย 5 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นตัวเลขที่กรมชลประทาน เอาคนตำบลอื่น ๆ เข้ามารวม

พอถามชุมชนอื่นว่า จะสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ แล้วส่งน้ำมาให้เอาไหม ทุกคนเอาอยู่แล้ว เขาไปเอาผู้ได้รับประโยชน์ มารวมกับผู้ได้รับผลกระทบอย่างเรา มันไม่เป็นธรรมกับคนคลองมะเดื่อ ชาวบ้านเราเสียพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เสียโอกาส เสียชุมชน เสียต้นไม้ ป่าไม้จำนวนมาก ด้านในยิ่งมีความหนาแน่น 
 

“อย่างปีบทองที่เป็นไม้อนุรักษ์ อ้างสำรวจพบ 1-2 ต้น แต่ชาวบ้านเราพบจำนวนมาก ในป่าของเรา ปู ปลา ไม่มีสูญพันธุ์ เพราะเราจับเฉพาะตัวเต็มวัย ที่สำคัญคือ ร่องน้ำคลองมะเดื่อ ไม่ได้มีน้ำตลอดทั้งปี จะเอาน้ำที่ไหนมาเติม น้ำมีเท่านี้ จะเอาน้ำตรงไหนไปผลักดันน้ำเค็ม คุณสร้างใหญ่แต่น้ำไม่มี มันก็เสียป่า เสียประโยชน์ เสียงบประมาณ ผมมองแล้วว่า ไม่น่าจะคุ้มค่า ในการก่อสร้างกับสิ่งที่ต้องเสียไป"



นายโสภณัฐต์ กิ่งผา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสาริกา  

หวั่นสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อกระทบสัตว์ป่า 

สอดคล้องกับ นางระตะนะ ศรีวรกุล จากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี , นายจันทรานนท์ ชญานินศิวกูร ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนทับลาน และ นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ที่ได้แสดงความคิดเห็น ไปในแนวทางเดียวกันว่า หากมีการสร้างเขื่อนทั้ง 7 แห่ง ในพื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จะต้องสูญเสียป่าไปมากมาย

ด้วยเหตุผลเดียวคือ เพื่อจัดการน้ำเพื่อการเกษตร แต่เกษตรกรไม่ใช่ผู้ใช้น้ำ เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรม เกิดขึ้นใหม่กว่า 100 ไร่ เพื่อรองรับการใช้น้ำ นอกจากนี้การสร้างเขื่อน ยังมีผลกระทบต่อช้างป่า โดยเฉพาะหากสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ จะเกิดการเคลื่อนตัวของช้างป่า อาจจะมีปัญหากับชาวบ้าน
 

“เรากำลังทำเรื่องการศึกษา การจัดการน้ำในศตวรรษที่ 21 ในโลกที่มันเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่อาจจัดการน้ำแบบทำลายระบบนิเวศได้อีกแล้ว วันนี้มันมีหลายพื้นที่ ที่ควรจะฟื้นฟูแต่ยังไม่ได้ทำ เช่น ทุ่งน้ำ หนอง บึง ป่า ทั้งที่มันเป็นพื้นที่เก็บน้ำที่ชาวบ้านได้ประโยชน์เต็ม ๆ ไม่มีใครเสียประโยชน์ นี่จะเป็นอีกงานหนึ่ง ที่จะเสริมการต่อสู้การรักษาพื้นที่ป่า และพื้นที่ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำของเรา” นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง 


นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง