svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อว.ชูธรรมศาสตร์ "ทะยอยเก็บเครดิต-โค้ชชิ่ง" เรียนทุกที่-ทุกเวลา

“ธรรมศาสตร์” จัด “TU Open House 2023 ต้อนรับนักเรียน-ผู้ปกครอง อัดแน่นสาระ-ความสนุก เวทีพูดคุยการศึกษาแห่งอนาคต ‘เลขานุการ รมว.อว.’ ชี้ เปิดช่องทยอยเก็บเครดิตควบคู่ ‘โค้ชชิ่ง’ ตอบโจทย์แพลทฟอร์มเรียนทุกที่-ทุกเวลา

30 ตุลาคม 2566 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) จัดกิจกรรม “Thammasat Open House 2023 : Space of Limitless Education” เปิดบ้านธรรมศาสตร์ ประตูสู่การเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด เมื่อวันที่ 27 - 28 ต.ค. 2566 เพื่อร่วมเปิดประสบการณ์ให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง ก่อนเข้าสู่ช่วงเวลาของการตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ภายใต้กิจกรรมที่อัดแน่นตลอด 2 วันเต็ม ทั้งการแสดง สันทนาการ ควบคู่ไปกับเวทีเสวนาความรู้ที่น่าสนใจมากมายตลอดทั้งวัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานในพิธี ได้กล่าวเปิดงานว่า กิจกรรมเปิดบ้านของสถาบันอุดมศึกษา ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้แก่นักเรียนและบุคคลทั่วไปที่สนใจได้รู้จักสถาบันการศึกษามากยิ่งขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลการรับเข้าศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน

อว.ชูธรรมศาสตร์ \"ทะยอยเก็บเครดิต-โค้ชชิ่ง\" เรียนทุกที่-ทุกเวลา

รวมถึงได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงในแต่ละคณะ และได้เห็นบรรยากาศการใช้ชีวิตเป็นนักศึกษา เพื่อก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยในการเสวนาหัวข้อ “Future Education : ทิศทางการศึกษาแห่งอนาคต ตอบโจทย์โลกยุคใหม่” ตอนหนึ่งว่า เมกะเทรนด์ต่างๆ ของโลก ที่กำลังจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชาชนอายุยืนยาวขึ้น แต่มีลูกน้อยลง ทำให้เด็กที่เข้าสู่ระบบการเรียนน้อยลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ การพัฒนาระบบสุขภาพที่คนหันมาใส่ใจกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

รวมไปถึงประเด็นของการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยจะต้องมีการปรับตัว ปรับหลักสูตร ตลอดจนรูปแบบการศึกษาที่จะต่อยอดไปสู่อาชีพการทำงานได้มากขึ้น

อว.ชูธรรมศาสตร์ \"ทะยอยเก็บเครดิต-โค้ชชิ่ง\" เรียนทุกที่-ทุกเวลา

น.ส.สุชาดา กล่าวว่า นโยบายของผู้บริหาร อว. เองต้องการปรับสิ่งต่างๆ ให้ตรงจุด บนเป้าหมายสำคัญคืออยากให้เด็กได้รับการศึกษาที่ดีในไทย โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปต่างประเทศ จึงกำหนดออกมาเป็นนโยบายทั้งในเชิงของการพัฒนาทางวิชาการ ความเป็นเลิศ แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มนโยบายในด้านความมั่นคงทางชีวิตและเศรษฐกิจด้วย เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะมีพื้นฐานทางฐานะเพียงพอที่จะเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรชั้นนำได้

“สำหรับบางคน กว่าที่จะเรียนจบหลักสูตรอาจใช้เวลานานเกินไป เพราะแต่ละคนเขามีภาระไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เราจึงพยายามพัฒนาให้ระบบอุดมศึกษาเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนได้มากขึ้น สามารถค่อยๆ เก็บเป็นเครดิตเอาไว้ได้ อย่างที่ มธ. ทำไปแล้ว พร้อมมีระบบโค้ชชิ่ง ที่จะเข้าไปช่วยแนะแนวทางให้บนความต้องการของเด็ก ว่าอยากเป็นอะไร มีแนวทางไหนที่จะทำได้ แล้วจัดแพลทฟอร์มการเรียนรู้ให้สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงเพิ่มโอกาสในการมีรายได้ระหว่างเรียนไปด้วย ซึ่งเราอยากให้ภาพแบบนี้ขยายไปในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้” น.ส.สุชาดา กล่าว

อว.ชูธรรมศาสตร์ \"ทะยอยเก็บเครดิต-โค้ชชิ่ง\" เรียนทุกที่-ทุกเวลา

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ.
กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ความรู้มีอายุสั้น แต่คนมีอายุยาว ซึ่งความรู้จากสถาบันการศึกษาไม่มีทางเพียงพอที่จะใช้ในชีวิตการทำงานได้ตลอดไป ฉะนั้น สถาบันการศึกษาเองก็จะต้องปรับตัว ให้ผู้เรียนได้เรียนเท่าที่จำเป็น แล้วรีบออกไปเผชิญโลกการทำงานจริงได้เร็วที่สุด และเมื่อเขารู้ตัวว่าขาดอะไร จะต้องเติมอะไร ก็ทำให้เขาสามารถกลับเข้ามาเรียนเพิ่มเติมได้โดยง่าย ไม่ใช่ให้เรียนเผื่อไว้มากมาย แต่กว่าจะเรียนจบออกไปแล้วความรู้นั้นก็ล้าสมัย หรือไม่ได้ใช้

รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มเรียนและเป็นศิษย์ของ มธ. ได้ ตั้งแต่ก่อนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผ่านแพลทฟอร์ม เช่น TUXSA โดยหากเรียนจบครบถ้วน สอบผ่าน ก็สามารถสะสมหน่วยกิตเหล่านี้เอาไว้ และโอนมาได้เมื่อสมัครเข้าเรียน ช่วยให้เรียนจบได้เร็วขึ้น หรือแม้แต่ทิศทางที่คนรุ่นใหม่สนใจอย่างการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งหากมีโปรเจค มีไอเดีย ก็สามารถนำมาใช้สมัครเข้าเรียนในรอบ Portfolio ได้ในทุกคณะ และหากสตาร์ทอัพนั้นประสบผลสำเร็จ สามารถระดมทุนหรือขายได้ตามเงื่อนไข มธ. ก็พร้อมมอบให้ทันที 15 หน่วยกิต นับเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่มอบให้ เทียบเท่ากับการเรียนวิชาโท

อว.ชูธรรมศาสตร์ \"ทะยอยเก็บเครดิต-โค้ชชิ่ง\" เรียนทุกที่-ทุกเวลา

“นอกจากนี้ ใครก็ตามที่สอบเข้า มธ. ได้ จะไม่มีคำว่าไม่มีเงินเรียน เพราะ มธ. มีการจัดสรรทุนให้หลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ว่าใครเข้าได้ก็ต้องเรียนจนจบได้ทุกคน เพราะรายได้ไม่ควรเป็นอุปสรรคในการบรรลุความฝัน ขณะเดียวกันเราก็ต้องระลึกว่าเมื่อเข้าเรียนแล้ว จบออกไปต้องวางเป้าหมายทำอะไรเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองเสมอ เพราะสิ่งที่ มธ. ปลูกฝังนักศึกษา คือการทำเพื่อสังคม ชุมชน และมีโจทย์เหล่านี้ให้ได้เรียนรู้ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย” รศ.ดร.พิภพ กล่าว


ว่าที่ ร.ต.ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ "ครูทิว" คุณครูโรงเรียนราชดำริ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันทุกคนจะให้ความสำคัญกับความรู้ทางเทคโนโลยี และมองว่าโรงเรียนเริ่มไม่จำเป็น เพราะใครก็สามารถเข้าถึงความรู้ได้จากในมือ แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรย้อนกลับมาดูคือรากฐานที่มั่นคง โดยเฉพาะทักษะพื้นฐานอย่างการคิด อ่าน เขียน เพื่อที่เราจะวิเคราะห์ วิพากษ์ หรือแยกแยะความรู้มากมายเหล่านั้นได้ ขณะเดียวกันด้วยต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน ก็ยังมีเด็กอีกบางส่วนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ซึ่งรัฐและโรงเรียนควรทำหน้าที่สนับสนุนสิ่งเหล่านี้

“เราเหมารวมไปเองว่าเด็กรุ่นใหม่เขาเก่งเทคโนโลยีหมด แต่ความจริงแล้วพบว่าเด็กนักเรียนหลายคนยังไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เขามีโอกาสได้ใช้เพียงคาบเดียวในโรงเรียน แล้วจะให้มีทักษะเหล่านี้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันนอกจากจะทำให้เข้าถึงได้แล้ว เรายังต้องฝึกให้มีความรู้เท่าทันด้วย เพราะปัจจุบันภัยคุกคามไม่ได้มีเพียงทางกายภาพ แต่ยังมีภัยคุกคามทางดิจิทัลอีกมาก” ครูทิว กล่าว

อว.ชูธรรมศาสตร์ \"ทะยอยเก็บเครดิต-โค้ชชิ่ง\" เรียนทุกที่-ทุกเวลา

ในขณะที่เวทีการเสวนาหัวข้อ “INCLUSIVE SOCIETY : แตกต่างอย่างเท่าเทียม สู่สังคมเพื่อคนทั้งมวล” รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มธ. กล่าวว่า ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าความแปลกแยก ความเหลื่อมล้ำของกลุ่มคนที่มีเงื่อนไขความแตกต่าง ไม่ว่าจะทางร่างกาย จิตใจ หรือความเชื่อ ยังคงมีอยู่ไม่น้อยในสังคม โดยหากมองในส่วนของคนพิการจะพบว่ายังเข้าถึงการศึกษาได้น้อย อย่างใน มธ. เองแม้จะมีการเปิดโควตาให้ทุกคณะรับนักศึกษาพิการเข้าเรียนในสัดส่วน 1% แต่กลับพบปัญหาว่ามีคนพิการเข้ามาเรียนได้ไม่ถึงจำนวนดังกล่าว

“มหาวิทยาลัยท็อป 5 ในเยอรมนี มีนักศึกษาพิการเรียนอยู่ 5% ส่วนของเราแม้จะเป็นมหาวิทยาลัย ท็อป 3 แต่กลับมีนักศึกษาพิการเพียง 0.03% เท่านั้น ขณะที่คนพิการทั้งประเทศมีไม่ถึง 5% ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โอกาสในการทำงานจึงน้อยตามไปด้วย และแม้จะมีการเปิดรับคนพิการเข้าทำงานมากขึ้น แต่ทางเลือกอาชีพของเขาก็มีให้น้อยเช่นกัน ฉะนั้นตั้งแต่ต้นทางมหาวิทยาลัย จึงควรเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันผลักดันให้คนพิการได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในแขนงต่าง ๆ มากขึ้น” รศ.ดร.ชุมเขต กล่าว

 

รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันภาพรวมของประเทศ เรามุ่งหวังให้เด็กไทยได้รับการศึกษาในระบบอย่างน้อย 12 ปี คือถึงระดับชั้นมัธยมปลาย แต่ค่าเฉลี่ยจริงของเด็กไทยกลับอยู่ที่เพียง 9 ปีเท่านั้น ดังนั้นจึงยังมีผู้คนอีกมากที่อาจเข้าสู่วัยทำงานแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนในระบบ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่อยู่ในยุคของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฉะนั้นผู้คนจำนวนหนึ่งจึงกำลังต้องการโอกาสกลับเข้ามาในระบบการศึกษา ซึ่ง มธ. ก็ได้เปิดตลาดวิชา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสะสมเครดิตไว้ และเทียบโอนไปสู่การเป็นใบปริญญาได้

อว.ชูธรรมศาสตร์ \"ทะยอยเก็บเครดิต-โค้ชชิ่ง\" เรียนทุกที่-ทุกเวลา

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในส่วนของ กทม. เองได้มีการรับข้าราชการที่เป็นคนพิการด้วยเช่นกัน แต่อาจยังรับได้ในจำนวนไม่มาก ซึ่งจากเดิมจะให้สอบรวมกับคนทั่วไป แต่เมื่อปีที่ผ่านมาเพิ่งมีการจัดการสอบที่เหมาะสมและเอื้อให้กับคนพิการมากขึ้น โดยในส่วนของปัญหาที่คนพิการอาจยังเข้าทำงานได้ไม่หลากหลายมากนัก นับเป็นโจทย์ที่เราจะต้องมาร่วมกันออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์การทำงานของคนพิการด้วย และเราก็จะไม่โยนให้เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยซึ่งทำหน้าที่ผลิตอย่างเดียว แต่หน่วยงานเองก็จะต้องเป็นส่วนที่สะท้อนสิ่งต่างๆ เป็นข้อมูลกลับไปด้วย

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า อีกหนึ่งสถานการณ์คือสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันพบว่าพื้นที่บางเขตใน กทม. มีจำนวนผู้สูงวัยมากถึง 28-31% แล้ว นับเป็นโจทย์ท้าทายให้กับการออกแบบเมืองที่รองรับความหลากหลาย ให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ขณะเดียวกันแม้สังคมผู้สูงอายุจะเกิดจากการที่คนมีอายุยืนยาวขึ้น เราเองก็ยังต้องเดินหน้าพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์ต่อไป ทว่าควบคู่กันนั้นคือต้องทำอย่างไรให้คนแก่ ไม่ชรา ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิต ติดเพื่อน ติดสังคม ได้ในเมืองที่ออกแบบสำหรับทุกคน

อว.ชูธรรมศาสตร์ \"ทะยอยเก็บเครดิต-โค้ชชิ่ง\" เรียนทุกที่-ทุกเวลา

ด้าน บุญรอด อารีย์วงษ์ ศิษย์เก่า มธ. และยูทูบเบอร์จากช่อง Poocao Channel กล่าวว่า แม้ปัจจุบันคนพิการในสังคมจะเริ่มมีสิทธิมีเสียงเพิ่มมากขึ้นจากเมื่อก่อน แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งในสังคมที่ไม่เข้าใจคนพิการ ทำให้ยังคงได้รับการโจมตีอยู่เสมอ ขณะที่โอกาสทางการศึกษาแม้จะมีเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากด้วยเช่นกัน

“คนพิการต้องเจอกับปัญหาการทำงาน ทั้งเรทเงินเดือนที่น้อยกว่าคนทั่วไป หรือตำแหน่งงานที่มักจะวนอยู่เพียงแค่ให้รับโทรศัพท์ คีย์ข้อมูล ฯลฯ แบบนี้แล้วจะเรียนจบปริญญาตรีมาเพื่ออะไร เพราะแม้จะเรียนมาในสิ่งที่อยากทำ แต่สายงานนั้นก็อาจไม่รองรับให้คนพิการได้ ซึ่งขณะนี้ มธ. เองก็เปิดรับนักศึกษาพิการจากหลากหลายคณะที่แตกต่างกัน เชื่อว่าเขามีศักยภาพอยู่มาก ขอเพียงแค่สังคมเปิดโอกาสให้” บุญรอด กล่าว