“บัญชีม้า”
คำนี้ ประโยคนี้ กลับมาสร้างกระแสความฮือฮาอีกครั้ง ด้วยสาเหตุสืบเนื่องจากวันที่ 25 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์ นำหมายศาลไปบุกค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เพื่อขอตรวจค้นและจับกุมลูกน้องคนใกล้ชิดซึ่งถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับ “บัญชีม้า” เนื่องจากพบว่ามีเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์
ชวนคอข่าวทำความรู้จัก “บัญชีม้า”
บัญชีม้า คือ บัญชีที่ถูกเปิดเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น นำไปใช้ทำเรื่องผิดกฎหมาย หรือเอาไว้ใช้สำหรับถ่าย เท หรือใช้ในการฟอกเงิน โดยบัญชีม้าคนที่ถือครองบัญชีมักจะไม่ใช้เจ้าของตัวจริง แต่จะเป็นของมิจฉาชีพนำไปใช้ ซึ่งส่วนใหญ่มิจฉาชีพจะใช้วิธีการจ้างวานคนทั่ว ๆ ไปให้ทำการเปิดบัญชีธนาคาร โดยให้เงินค่าจ้างแล้วแต่ตกลงกัน ซึ่งส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักมองหาเหยื่อที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือคนสูงอายุ เพราะใช้เงินเป็นตัวหลอกล่อให้ตกหลุมพราง หรืออีกวิธีก็คือการสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชี โดยการขโมยข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และหมายเลขบัตรประชาชนจำนวน 13 หลัก แล้วนำไปเปิดบัญชีออนไลน์ กว่าจะเจ้าของข้อมูลจะรู้ตัว ก็สายไปเสียแล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
บัญชีม้าคืออะไร
บัญชีม้า คือ บัญชีที่ตัวแทนในการใช้ทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโอน รับโอน หรือชำระเงิน เป็นต้น ซึ่งการมีบัญชีม้าจะสามารถช่วยปิดบังตัวตนที่แท้จริงของผู้ดำเนินธุรกรรมได้
อย่างไรก็ตาม ตามปกติแล้วคนธรรมดาส่วนใหญ่มักจะไม่ได้มีการเปิดบัญชีม้าดังกล่าวกัน แต่ผู้ที่ใช้ส่วนใหญ่คือกลุ่ม “มิจฉาชีพ” เพื่อใช้ปกปิดตัวตนที่แท้จริงสำหรับก่อเหตุหรือกระทำความผิด ด้วยเหตุนี้ กลลวงมิจฉาชีพแทบจะทุกรูปแบบจึงมักมีการใช้บัญชีม้าประกอบด้วยเสมอ
ยกตัวอย่างเช่น แก๊งหลอกลวงคอลเซ็นเตอร์ ที่กำลังระบาดหนักในปัจจุบัน บัญชีม้า ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการก่อเหตุ โดยเมื่อมีการหลอกลวงให้คนโอนเงินได้สำเร็จ ส่วนใหญ่แล้วบัญชีที่เหยื่อโอนเงินไปนั้น มักไม่ใช่ของเจ้าตัว แต่เป็นบัญชีของบุคคลที่สามหรือบัญชีม้านั่นเอง
อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย นิยามความหมายคำว่า บัญชีม้าไว้ว่า
บัญชีม้า คือ บัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น ที่นำมาใช้เป็นช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การถ่ายโอนเงิน การรับเงินการโอนเงิน ซึ่งเงินที่ได้มาจากการกระทำผิด จุดประสงค์การเปิดบัญชีม้าคือ เพื่อป้องกันไม่ให้มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงมาถึงตัวผู้กระทำผิดได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
การเปิดบัญชีม้าในปัจจุบันเป็นการจ้างให้บุคคลอื่นมาเปิดบัญชีแทน หรือรับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลทั่วไป มีการขายบัญชีเงินฝากธนาคารอย่างเปิดเผย ตั้งแต่ราคา 800 บาท จนถึง 20,000 บาท โดยผู้ที่จะขายบัญชีม้าจะต้องมีการส่งมอบเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ซิมการ์ดโทรศัพท์ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชีไปผูกกับ mobile banking และทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทันที
ปัจจุบัน "บัญชีม้า" ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกง การพนัน ยาเสพติด และความผิดอื่นๆ กรณีที่พบเห็นมากที่สุด คือ การหลอกให้กู้ยืมเงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ต่าง ๆ และผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ รวมไปถึงแก๊งคอลเซนเตอร์ที่โทรศัพท์มาหลอกลวง หว่านล้อม ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และทำการโอนเงินไปยังบัญชีม้าของมิจฉาชีพ
บัญชีม้า อันตรายยังไง ขนาดไหน?
มิจฉาชีพส่วนใหญ่มักมีกลอุบายในการโกงและทำงานกันเป็นขบวนการ ส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักมีบัญชีม้าหลายบัญชี เพื่อใช้การโอนเงินส่งต่อกันเป็นทอดๆ จากอีกหนึ่งบัญชีสู่อีกหนึ่งบัญชี อาจมีการส่งต่อมากกว่า 4-5 บัญชี เพื่อป้องกันตัวเองจากการตรวจสอบของตำรวจหรือการถูกอายัดเงิน
จับกลลวงมิจฉาชีพด้วยบัญชีม้า
หลายครั้งมิจฉาชีพมักเข้ามาด้วยการแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ทำให้หลายคนตกหลุมพรางแล้วตามที่มิจฉาชีพบอกด้วยความกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีตามที่ถูกข่มขู่ อาทิ การถูกสั่งให้โอนเงินมาเพื่อตรวจสอบต่างๆ มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่า หน่วยงานราชการและเอกชนส่วนใหญ่มักจะมีการส่งหนังสือหรือเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาชี้แจงด้วยเสมอ หากเกิดเหตุการณ์ต้องสงสัยขึ้นกับทรัพย์สินหรือเงินของบุคคลใดก็ตาม และที่สำคัญหากต้องมีการโอนเงินหรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ บัญชีที่ใช้ก็มักเป็นบัญชีของหน่วยงาน ไม่ใช่บัญชีบัญชีส่วนบุคคล
ดังนั้น การจับสังเกตบัญชีม้า จึงสามารถใช้เป็นทริกในการจับกลลวงของมิจฉาชีพได้ เพราะถึงแม้จะมีการแอบอ้างเป็นหน่วยงานใดก็ตาม บัญชีม้าที่เหล่ามิจฉาชีพใช้กันนั้นมักจะเป็นบัญชีส่วนบุคคลเสมอ
โทษหนัก ทั้งปรับและจำคุก หากรับเปิด “บัญชีม้า-ซิมม้า”
พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากที่กล่าวข้างต้น ทำให้การจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของตำรวจ จึงต้องมีการระงับการรับจ้างเปิดบัญชีม้า เพื่อให้มิจฉาชีพทำงานได้ยากขึ้น
การระงับการเปิดบัญชีม้านั้น สามารถทำได้ผ่านการเอาผิดทางกฎหมาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดฐานฉ้อโกงบุคคลอื่น จึงเป็นความผิดที่เข้าข่าย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกสิบปีหรือถูกปรับเงินสองแสนบาท และอายัดทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อชดใช้ความผิดที่ได้ร่วมกระทำ
เพื่อป้องกันตัวเองจากการสูญเสียกับมิจฉาชีพเหล่านี้ ล่าสุดทาง พ.ต.ท.วสุเทพ ใจอินทร์ รองผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้แนะนำว่า หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ รีบรวบรวมหลักฐานแล้วเข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจให้เร็วที่สุด เพื่ออายัดเงินที่ได้โอนไปดังกล่าว
นอกจากนี้ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ได้สร้างช่องทางการแจ้งความเสียหายของประชาชนผ่านเว็บไซต์ thaipoliceonline.com เมื่อตำรวจได้รับแจ้งข้อมูลแล้วจะทำการประสานกับธนาคารให้ดำเนินการอายัดเงินดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด โดยการอายัดเงินได้ไวเท่าไร นั่นหมายถึงโอกาสการได้เงินคืนและระงับความเสียหายได้มากเท่านั้น!!
ขอขอบคุณที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย / js100.com