“วันแรงงานแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันหยุดประจำปี วันเเรงงานเรียกตามสากลว่า เป็น วันเมย์เดย์ (May Day) เมย์ แปลว่า เดือน พ.ค. เพื่อให้ทุกคนได้รำลึกถึงความสำคัญของแรงงาน "เนชั่นออนไลน์" จึงได้รวบรวมประวัติความเป็นมาของวันเเรงงานสากล เเละ วันแรงงานของไทย มาเสิร์ฟไว้ที่นี่
เปิดประวัติวันแรงงานสากล หรือ "วันเมย์เดย์" (May Day)
ประเทศในแถบยุโรป ถือว่า วันเมย์เดย์ หรือ 1 พ.ค. เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม จึงมีการเฉลิมฉลอง ขอให้ปลูกพืชได้ผลดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข มีกิจกรรมร้องเพลง และเต้นรำไปรอบๆ เสาเมย์โพล (Maypole)
เมื่อระบบอุตสาหกรรมเริ่มเข้าสู่หลายประเทศ จึงเปลี่ยนเป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไป เพื่อให้เห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปี 2433 หลายประเทศทางตะวันตก เรียกร้องให้ วันที่ 1 พ.ค. เป็นวันแรงงานสากล
ประวัติวันแรงงานในประเทศไทย
ในปี 2475 ซึ่งตรงกับสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองและดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน
วันที่ 20 เม.ย. 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงาน เห็นควรกำหนดให้วันที่ 1 พ.ค. เป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทย ทำให้ วันที่ 1 พ.ค. เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ เเละเปลี่ยนชื่อ วันแรงงานแห่งชาติ ในเวลาต่อมา
ปี 2500 ประกาศใช้ พ.ร.บ.กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน จากนั้น 18 เดือน ก็ถูกยกเลิก มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทน และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้วันกรรมกร เป็นวันหยุดตามประเพณี
ปี 2517 เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร จัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี มีการจัดให้ทำบุญตักบาตร นิทรรศการแแสดงความรู้ เเละกิจกรรมอื่นๆ
คำถามโดนใจ..วันแรงงานแห่งชาติ ได้หยุดไหม
หน่วยงานราชการ เปิดทำงานและให้บริการตามปกติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชน
เมื่อ "แรงงาน" เป็นกำลังหลักสำคัญของชาติ และมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเมืองไทยจำนวนไม่น้อยที่อาจจะยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับ "สิทธิแรงงาน" เนื่องใน วันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2566 พาไปเจาะลึกข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับจำนวนแรงงานในไทย สิทธิที่ควรรู้ รวมถึงต้นกำเนิดของวันแรงงานโลก
ต้นกำเนิด "วันแรงงานสากล" (May Day)
ย้อนกลับไปในสมัยที่โลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม มนุษย์เริ่มรู้จักประดิษฐ์เครื่องจักรทุ่นแรงนำมาใช้ผลิตสินค้าและอาหาร ต่อมาได้นำเครื่องจักรเหล่านี้มาใช้งานควบคู่กับแรงงานมนุษย์โดยไม่มีสวัสดิการหรือข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ต่อมาในปี ค.ศ. 1886 แรงงานในสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดวันละ 8 ชั่วโมง รวมถึงให้ทบทวนสิทธิของแรงงานด้านอื่น ๆ ด้วย
เรื่องราวบานปลายจนเกิดการชุมนุมและเกิดจลาจลเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานที่ จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต ในสหรัฐอเมริกา เกิดการปะทะระหว่างแรงงานและตำรวจส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ภายหลังการสูญเสียทั้งสองฝ่ายต่อมาจึงได้ทำข้อตกลงด้านจ้างงานอย่างเป็นธรรม และมอบสวัสดิการที่เหมาะสมทั้งด้านความปลอดภัยและด้านสุขภาพให้แก่ผู้ค้าแรงงาน จากเหตุการจลาจลจนทำให้เกิดการต่อรองในครั้งนั้น จึงมีการกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานสากลหรือที่เรียกว่า เมย์เดย์ (May Day)
ทั้งนี้ มีการจัดตั้ง สหภาพแรงงาน เป็นครั้งแรกของโลกในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งช่วงนั้นกำลังอยู่ในกระแสลัทธิสังคมนิยมของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่ได้วิพากษ์ระบบทุนนิยมซึ่งกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมว่าไม่เป็นธรรมอย่างร้ายกาจ
สิทธิแรงงานในคำปฏิญญาสากล
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation) ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 1919 (หลังสงครามโลกครั้งที่1) ภายใต้สันนิบาตชาติ ต่อมาในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นแทนที่สันนิบาติชาติ ซึ่งทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติด้วย โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็ได้กล่าวถึงสิทธิแรงงานไว้ในคำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไว้ในข้อที่ 23 และ 24 ดังนี้
ข้อ 23
1. ทุกคนมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรม และเป็นประโยชน์แห่งการงาน และการคุ้มครองแห่งการว่างงาน
2. ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างเท่าเทียมกันสำหรับงานเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ
3. ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมและเป็นประโยชน์ ที่จะให้ประกันแก่ตนเองและครอบครัวแห่งตน ซึ่งความเป็นอยู่อันคู่ควรแก่เกียรติศักดิ์ของมนุษย์ และถ้าจำเป็นก็จะต้องได้รับวิถีทางคุ้มครองทางสังคมอื่นเพิ่มเติมด้วย
4. ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้งและเข้าร่วมสหพันธ์กรรมกรเพื่อความคุ้มครองแห่งประโยชน์ของตน
ข้อ 24
ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและเวลาว่าง รวมทั้งจำกัดเวลาการทำงานตามสมควร และวันหยุดงานเป็นครั้งคราวโดยได้รับสินจ้าง
"วันแรงงาน" ในไทยมีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2475
วันแรงงานในประเทศไทยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งตรงกับสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และรัฐบาลได้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติในปี พ.ศ. 2499 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานในปี พ.ศ. 2500
ในยุคแรกของวันแรงงานนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่พอมาในปี พ.ศ. 2517 ทางการไทยได้พิจารณาให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันหยุดของผู้ใช้แรงงานเพื่อให้ได้มีช่วงเวลาเฉลิมฉลองและพักผ่อน ซึ่งในช่วงวันหยุดวันแรงงานมักจะใกล้เคียงกับวันพืชมงคลซึ่งก็เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์เช่นกัน ผู้ใช้แรงงานที่มีครอบครัวเป็นเกษตรกรจึงมักใช้โอกาสนี้เริ่มฤดูกาลหว่านไถไร่นาเตรียมปลูกข้าว ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นฤกษ์มงคลในการเพาะปลูกก่อนที่ฤดูฝนจะเริ่มต้นขึ้น
"สิทธิแรงงาน" ที่ผู้ค้าแรงงานไทยต้องรู้!
สิทธิแรงงาน (Labour Rights) หมายถึง สิทธิของผู้ใช้แรงงานในความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ทั้งสิทธิทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน เช่น อัตราค่าจ้าง จำนวนชั่วโมงการทำงาน สภาพแวดล้อมและความปลอดภัยในที่ทำงาน สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นต้น สำหรับสิทธิแรงงานตามกฎหมายไทย ระบุไว้หลายข้อ ดังนี้
1. เวลาทำงาน
สำหรับงานทั่วไปกำหนดให้ทำไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับงานอันตรายตามที่กำหนดในกฏกระทรวง กำหนดให้ทำไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
2. เวลาพัก
ในวันที่มีการทำงานให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง ภายใน 5 ชั่วโมงแรกของการทำงาน หรือนายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักน้อยกว่าครั้งละ 1 ชั่วโมง ก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่าครั้งละ 20 นาทีและเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง
กรณีงานในหน้าที่มีลักษณะต้องทำติดต่อกันไปหรือเป็นงานฉุกเฉินโดยจะหยุดเสียมิได้ นายจ้างจะไม่จัดเวลาพักให้ลูกจ้างก็ได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
3. วันหยุดประจำสัปดาห์, วันหยุดประเพณี, วันหยุดประจำปี
วันหยุดประจำสัปดาห์ : ลูกจ้างต้องมีวันหยุดไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน โดยมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน และลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ (ยกเว้นลูกจ้างรายวันหรือรายชั่วโมง) โดยนายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันล่วงหน้า และกำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้ สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานประมง งานดับเพลิง หรืองานอื่นๆ ตามที่กฎกระทรวงฯ กำหนด นายจ้างและลูกจ้างให้ตกลงกันล่วงหน้า สามารถสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ไปเมื่อไดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
วันหยุดตามประเพณี : ลูกจ้างต้องได้ไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ให้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี
วันหยุดพักผ่อนประจำปี : ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ถ้าลูกจ้างที่ทำงานยังไม่ครบ 1 ปี จะให้หยุดตามส่วนก็ได้ ให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าหรือกำหนดตามที่ตกลงกัน นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้
4. การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด
ในกรณีที่งานมีลักษณะต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้าง ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเท่าที่จำเป็นก็ได้
ส่วนกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล และกิจการอื่นตามที่กระทรวงจะได้กำหนดนายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานใน วันหยุดเท่าที่จำเป็นก็ได้ โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราวๆ ไป
ในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า สองชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก ไม่น้อยกว่ายี่สิบนาที ก่อนที่ลูกจ้างเริ่ม ทำงานล่วงเวลา (ยกเว้นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน)
5. ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด
ถ้าทำงานเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวน ชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย ในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน ถ้าทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานนายจ้างต้องจ่าย ค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับ ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
ถ้าทำงานในวันหยุดในเวลาทำงานปกติ นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้าง ในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย สำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุดหรือตามจำนวนผลงาน ที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
6. ค่าชดเชย
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
- ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่ายหรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่อง จักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
หากไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วย
อ้างอิง: ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
https://nakhonnayok.mol.go.th/
https://lb.mol.go.th/
https://th.wikipedia.org/สิทธิแรงงาน