svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

รู้ทัน "อหิวาตกโรค" อาการเสี่ยง การป้องกัน ล่าสุดระบาดชายแดนไทย-เมียนมา

เปิดข้อมูลความรู้ "อหิวาตกโรค" โรคที่มีรุนแรงทำให้ถึงแก่ชีวิต ล่าสุดกลับมาระบาดชายแดนไทย-เมียนมา เปิดอาการเสี่ยง การป้องกัน และแนวทางการรักษา

จากกรณีเกิดการระบาดของ "อหิวาต์" หรือ อหิวาตกโรค ในพื้นที่เมืองชเวโก๊กโก๋ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ตรงข้ามบ้านวังผา ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก มีผู้ป่วยที่ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชเวโก๊กโก๋ 300 คน ในจำนวนนี้ มีอาการรุนแรง 56 คน ล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 2 คน โดยผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ล่าสุด รพ.ชเวโก๊กโก๋ ได้ประสานขอการสนับสนุนด้านการแพทย์มายัง รพ.แม่ระมาด จ.ตาก โดยแจ้งว่าถ้าไม่สามารถส่งผู้ป่วยมาที่ รพ.แม่ระมาดได้ จะขอรับการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ เพื่อรักษาผู้ป่วย รวมทั้งป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ ซึ่งทาง รพ.แม่ระมาด ได้ให้การสนับสนุนยา และ เวชภัณฑ์ ไปบางส่วนแล้ว
เลื้อโรคที่ทำให้เกิด "อหิวาตกโรค"

ทำความรู้จัก "อหิวาตกโรค"

เว็บไซต์โรงพยาบาลกรุงเทพ จันทบุรี ให้ความรู้ "อหิวาตกโรค" โดยมีรายละเอียด ดังนี้..

อหิวาต์ (Cholera) หรือ อหิวาตกโรค เป็นโรคท้องเสียที่มีอาการรุนแรง และระบาดได้รวดเร็ว ในอดีตเคยมีการระบาดของโรคนี้จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถูกเรียกว่า “โรคห่า” ในปัจจุบันความรุนแรงของโรคลดลง ระบาดน้อยลง โรคนี้มักพบในช่วงฤดูร้อน และพบในชุมชนที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี

สาเหตุ "อหิวาต์" 

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเชื้อมีอยู่ 2 ชนิด ดังนี้

  • เชื้อชนิดร้ายแรง ได้แก่ วิบริโอ คอเลอรา (Vibrio cholerae)
  • เชื้อชนิดอ่อน ได้แก่ เอลทอร์ (EL Tor)

โดยเชื้ออหิวาต์เหล่านี้จะปล่อยสารพิษ (Toxin) ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ซึ่งเชื้อมีระยะฟักตัว 1-5 วัน (เฉลี่ยประมาณ 1-2 วัน)

รู้ทัน \"อหิวาตกโรค\" อาการเสี่ยง การป้องกัน ล่าสุดระบาดชายแดนไทย-เมียนมา

อาการ อหิวาตกโรค

อหิวาตกโรค เกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการท้องเสียถ่ายเหลวอย่างรุนแรง อุจจาระมักจะไหลพุ่งโดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาเจียนโดยที่ไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน อุจจาระเหมือนน้ำซาวข้าว

ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการขาดน้ำรุนแรง และช็อกอย่างรวดเร็ว อาจจะมีเสียงแหบแห้ง เป็นตะคริว ตัวเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ ไม่มีไข้ หากรักษาไม่ทันผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ในเวลาสั้น ๆ

ในรายที่เกิดจากเชื้ออหิวาต์อย่างอ่อน หรือเชื้อเอลทอร์ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวบ่อยครั้งคล้ายโรคท้องเสีย มักจะหายใน 1-5 วัน

การรักษา

หากอาการท้องเสียรุนแรง ซึ่งชวนสงสัยว่าเป็นอหิวาต์ แพทย์จะพิจารณาเก็บอุจจาระส่งเพาะเชื้อ ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ(ให้น้ำเกลือ) รับประทานยาฆ่าเชื้อตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เมื่อรักษาได้ทันการณ์ มักจะหายขาดภายในไม่กี่วัน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด อันตรายมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาช้าเกินการณ์คือ ปล่อยให้มีภาวะขาดน้ำรุนแรง

การป้องกัน

  • รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม
  • ดื่มน้ำสะอาด
  • สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ ควรนำอาเจียนและอุจจาระของผู้ป่วยไปเทใส่ส้วมหรือฝังดินให้มิดชิด ห้ามเทตามพื้นหรือลงแม่น้ำลำคลอง ส่วนเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่แปดเปื้อนเชื้อควรนำไปฝังหรือเผาเสีย ห้ามนำไปซักในแม่น้ำลำคลอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นในชุมชน
  • อาจมีการเก็บอุจจาระของคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยส่งตรวจหาเชื้อ หากมีการติดเชื้อจะได้ทำการรักษาทันท่วงที