วันนี้ (12 ส.ค. 65) ในอดีตเมื่อ 37 ปีที่แล้ว หรือในวันที่ 12 ส.ค. 2528 ได้เกิดโศกนาฏกรรมทางการบินครั้งร้ายแรงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเที่ยวบิน JL123 ที่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศของสายการบินJapan Airlines ประสบอุบัติเหตุตก ระหว่างออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (ฮะเนะดะ) ที่รันเวย์ C-15-L ในเวลา 18.12 น. เพื่อเดินทางสู่ท่าอากาศยานนานาชาติโอซะกะ (อิตะมิ)
โดยภายหลังเครื่องทะยานขึ้นฟ้าไปได้เพียง 12 นาที ที่ความสูง 7,200 ฟิต บริเวณเหนืออ่าวซะงะมิ เที่ยวบิน JL123 ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณด้านท้ายลำตัวเครื่อง บริเวณแผงกั้นปรับความดันอากาศท้าย (Rear Pressure Bulkhead) ทำให้ระบบไฮดรอลิกในการควบคุมเครื่องมีปัญหา เครื่องสูญเสียความดันอย่างรุนแรง หน้ากากออกซิเจนฉุกเฉินหล่นลงมาให้ใช้อัตโนมัติ แต่เนื่องจากเครื่องสูญเสียความดัน ออกซิเจนแทบไม่พอ แอร์โฮสเตสต้องเดินถือถังออกซิเจนฉุกเฉินเดินให้ผู้โดยสารรายที่มีปัญหา
นอกจากนี้จากแรงระเบิดยังทำให้แพนหางดิ่งฉีกขาดหลุดลอยไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมเครื่องเลี้ยวซ้ายขวาได้ กัปตันจึงตัดสินใจบังคับเครื่องกลับสู่ชายฝั่ง และพยายามวิทยุขอความช่วยเหลือไปที่หอบังคับการบินโตเกียว เพื่อขออนุญาตนำเครื่องกลับไปร่อนลงฉุกเฉินที่โตเกียว และขอความช่วยเหลือไปที่ฐานทัพอากาศอเมริกาที่โยะโกะตะซึ่งอยู่ใกล้เส้นทางการบินมากที่สุด
แต่เนื่องจากการที่ต้องรีบนำเครื่องกลับไปที่โตเกียวให้ได้อย่างเร็วที่สุด กัปตันจึงพยายามตีวงเลี้ยวกับไปที่โตเกียวหลายครั้ง แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก จนในที่สุดเครื่องก็เสียการทรงตัว เพดานการบินลดลง กัปตันพยายามเชิดหัวขึ้นและกางแฟลบแต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งเครื่องบินกระแทกกับภูเขาบริเวณหุบเขาโอสุทากะ จังหวัดกุนมะ รวมระยะเวลานับตั้งแต่การระเบิดจนเครื่องตกทั้งสิ้น 32 นาที ผู้โดยสารบนเครื่องต่างมีเวลาในการบันทึกข้อความสั่งเสียถึงครอบครัวซึ่งหน่วยกู้ภัยมาพบเห็นภายหลัง
อุบัติเหตุเครื่องบินตกครั้งนั้น มีผู้โดยสารเสียชีวิต 505 คน ลูกเรือ 15 คน รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 520 คน และมีผู้รอดชีวิตเพียง 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ คีว ซากาโมโตะ นักร้องชื่อดังเจ้าของเพลง สุกี้ยากี้ นับเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตในอากาศยานลำเดียวที่มากที่สุดในโลก
ผู้รอดชีวิตรายหนึ่ง เล่านาทีชีวิตว่า ได้ยินเสียงคนร้องระงม ต่อมาก็ค่อย ๆ หายไปทีละเสียง ๆ จนแทบไม่เหลือซักเสียง นาทีนั้นเหมือนฝันร้ายอย่างยิ่ง
สำหรับ เที่ยวบิน JL123 ที่ประสบเหตุ เป็นเครื่องบินโบอิงรุ่น 747-SR 46 ทะเบียนหมายเลข JA8119 ขึ้นบินครั้งแรกเมื่อ 28 ม.ค. 2517 ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ มีชั่วโมงการบินที่ 25,030 ชั่วโมง และ 18,835 รอบบิน
โดยหลังจากเหตุการณ์ผ่านไป ในประเทศญี่ปุ่นได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่าง อาทิ
• ชาวญี่ปุ่นกว่า 25% หลีกลี่ยงการจราจรทางอากาศไปช่วงนึงเลย
• บางส่วนที่ยังจำเป็นต้องขึ้นเครื่องบิน ตัดสินใจย้ายค่ายไปซบอก All Nippon Airways แทนเพื่อความสบายใจส่วนตัว
• Japan Airlines จ่ายค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตกว่า 780 ล้านเยน (ค่าเงินปี 1985)
• Yasumoto Takagi, JAL president ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อเหตุกาณ์
• Hiroo Tominaga, JAL maintenance manager ฆ่าตัวตาย
• Susumu Tajima, Engineer ผู้รับผิดชอบดูแลเครื่องบินดังกล่าว ฆ่าตัวตาย
Japan Airlines ยกเลิกเที่ยวบินที่ JAL123 ในเส้นทางเดิม และเปลี่ยนชื่อเป็นเที่ยวบินที่ JAL121 และ JAL127 ในวันที่ 1 กันยายน ในปีเดียวกันทันที
เครื่องบิน B747 ถูกใช้ในการบินเส้นทางนี้ไปอีกประมาณ 5 ปีจนถูกเปลี่ยนไปใช้ B767 และ B777 แทนเมื่อกลางปี 1990 และเมื่อปี 2011 สายการบิน Japan Airlines ได้ยกเลิกการใช้เครื่องบิน B747
ปี 2009 ได้มีการสร้างบันไดและราวกั้นให้ผู้เข้าเยี่ยมชมจุดตกเครื่องบิน โดยปีถัดมา วันที่ 12 สิงหาคม (ตรงกับวันที่เกิดเหตุ) Seiji Maehara ผู้นำ Democratic Party of Japan ได้เข้าเยี่ยมจุดเกิดเหตุเพื่อรำลึกถึงเหตุกาณ์ครั้งนี้พร้อมกับญาติครอบครัวผู้เสียชีวิต อีกทั้งเหตุการณ์นี้ยังถูกรำลึกขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม ของทุก ๆ ปีเรื่อยมา
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก วิกิพีเดีย / https://www.blockdit.com/