ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการบริโภค ควบคู่กับความต้องการจากต่างประเทศในภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งมีแนวโน้มขยายตัว เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2568 จะขยายตัว 3.2% (เท่ากับปี 2567) และการค้าโลกปี 2568 จะขยายตัว 3.4% (สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ราว 2.8%) ตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ตลาดเกิดใหม่ อาทิ อินเดีย CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) อาเซียน 5 ประเทศ และตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2568 สูงถึง 6.5%, 5.3%, 4.5% และ 3.8% ตามลำดับ
ทำให้คาดว่าการส่งออกไทยปี 2568 จะขยายตัว 3% สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรและอาหาร และสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น เครื่องสำอาง อาหารสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ค่าระวางและราคาน้ำมันผันผวน ความผันผวนของค่าเงิน และสงครามการค้ารอบใหม่ (Trade War 2.0) เป็นผลจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ในปี 2568 EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้นำผู้ประกอบการไทยรุกตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภคในโลกการค้ายุคใหม่ ได้แก่ 1. สินค้าตอบโจทย์ความมั่นคงด้านอาหาร (Food for Security) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 ของประเทศผู้ผลิตอาหารต่อคนมากที่สุดในโลก สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ ทูน่ากระป๋องและไก่แปรรูป น้ำตาลทราย และซาร์ดีนกระป๋อง 2. สินค้ารักษ์โลก (Good for Planet) สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ เม็ดพลาสติกชีวภาพ (Polylactic Acid : PLA) และแผงโซลาร์เซลล์ 3. สินค้าและบริการที่สร้างความสุขหรือประสบการณ์ใหม่ (Mood for Joy) สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องประดับเงิน เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากนี้ สินค้าที่มีโอกาสเติบโตในปี 2568 ยังได้แก่ สินค้าที่ได้รับผลดีจากนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แก่ สินค้าเครื่องปรับอากาศและหม้อแปลงไฟฟ้าที่ไทยอาจสามารถกลับมาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น หากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามที่ได้เคยประกาศนโยบายไว้
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ในปี 2568 EXIM BANK จะเดินหน้าบทบาท Green Development Bank นำทัพผู้ประกอบการไทยขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำและสร้างโลกที่ยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) เป็น 40% ภายในปี 2568 พร้อมเปิดตัวบริการใหม่ด้านวาณิชธนกิจ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ จัดหาเงินทุนสำหรับโครงการ รวมถึงค้ำประกันหุ้นกู้ (Bond Guarantee) แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่คำนึงถึง ESG
ขณะเดียวกัน EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจส่งออกและการลงทุนที่ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำพาธุรกิจไทยทุกขนาดเข้าสู่ Green Export Supply Chain และมุ่งสู่เป้าหมายธนาคารด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2570 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 โดยสอดคล้องกับความต้องการของโลกในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ซึ่งประเมินว่าสูงถึง 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ตัวเลข Climate Finance ปี 2565 มีอยู่เพียง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เท่ากับว่ายังขาดเม็ดเงินอีกมูลค่ามหาศาลในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว
ในการดำเนินบทบาท Green Development Bank ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 EXIM BANK มียอดสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 179,316 ล้านบาท และคาดว่าจะสูงกว่า 190,000 ล้านบาทภายในสิ้นปี 2567 เพิ่มขึ้น 6.8% จาก 177,932 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) คาดว่าจะอยู่ที่ 3.49% ลดลงถึง 1.2% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการติดตามคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดของธนาคาร ทำให้คาดว่า ณ สิ้นปี 2567 EXIM BANK จะสามารถทำกำไรสุทธิได้สูงกว่า 1,000 ล้านบาท
“ปี 2568 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ที่ทำงานพร้อมกันทั้งจากอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่โอกาสของธุรกิจไทยยังมีอยู่อีกมากในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่สามารถพัฒนาสินค้าหรือบริการตอบโจทย์เทรนด์ของตลาดโลกได้ EXIM BANK จึงเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งออก ด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่จะช่วยเสริมหรือติดอาวุธให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้มากขึ้นในเวทีโลก นำพาธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน ท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดการค้าโลกปัจจุบัน” ดร.รักษ์ กล่าว