8 มกราคม 2568 เว็บไซต์ "สภาองค์กรของผู้บริโภค" เปิดข้อมูล ในยุคที่เทคโนโลยีและการเชื่อมต่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นกลับมาพร้อมกับความเสี่ยงใหม่ที่ผู้บริโภคต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในช่วงปี 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – เดือนกันยายน 2567) สภาผู้บริโภคได้รวบรวมข้อมูลและรายงานสถานการณ์ผู้บริโภคจากการรับเรื่องร้องทุกข์ทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานสภาผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดใน 19 จังหวัด และองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภค
ปี 2567 มีผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้ร้องทุกข์เข้ามาจำนวน 17,028 เรื่อง
ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยาเสร็จสิ้นทั้งหมด 13,639 เรื่อง หรือคิดเป็น 80.10%
และสามารถคิดรวมเป็นมูลค่าความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ถึง 236,785,311.63 บาท
ส่วนที่เหลืออีก 3,389 เรื่อง อยู่ระหว่างการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามกรณีใดที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยหรือยุติปัญหาได้ สภาผู้บริโภคจะเดินหน้าสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการฟ้องคดีให้กับผู้บริโภค
จากรายงานข้อมูลการใช้จ่ายออนไลน์ของประเทศในทวีปเอเชียช่วงปี 2563–2565 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าคนไทยมีการใช้จ่ายออนไลน์เติบโตเฉลี่ย 30.6% ต่อปี ซึ่งสูงที่สุดในเอเชีย โดยผู้บริโภคคนไทยใช้จ่ายออนไลน์เฉลี่ยอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน สอดคล้องกับข้อมูลจาก Statista ที่ระบุว่าในปี 2566 การซื้อของออนไลน์ของคนไทยสูงเป็นประวัติการณ์ ด้วยมูลค่าถึง 700,000 ล้านบาท
สภาผู้บริโภคเปิดเผยว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวน 7,565 เรื่อง โดยปัญหาส่วนใหญ่มาจากการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะการสั่งซื้อของผ่านเพจเฟซบุ๊ก สภาผู้บริโภคได้ดำเนินการให้คำแนะนำเบื้องต้น เจรจาไกล่เกลี่ยกับเพจที่มีปัญหา และในกรณีที่ไม่สามารถเจรจาได้ จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปิดเพจดังกล่าว
มาตรการสำคัญที่สภาผู้บริโภคผลักดันคือ “เปิดก่อนจ่าย” ซึ่งอนุญาตให้ผู้บริโภคสามารถเปิดพัสดุเพื่อตรวจสอบสินค้าได้ก่อนชำระเงิน มาตรการนี้จะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปกและการได้รับสินค้าที่ไม่ได้สั่ง
จนกระทั่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศควบคุมธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทาง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567
ปัญหาด้านการเงินและการธนาคารถือเป็นกลุ่มปัญหาอันดับสองที่สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 4,033 เรื่อง เศรษฐกิจไทยที่เปราะบางนำไปสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ค่าครองชีพที่สวนทางกับรายได้ และการกู้ยืมเงินจากแหล่งนอกระบบ เช่น
แอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อน ที่มีการจ่ายเงินไม่ครบวงเงิน คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงเกินควร และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น การนำข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่เพื่อสร้างความอับอาย
ในปี 2567 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และภัยออนไลน์จำนวน 1,829 เรื่อง โดยมิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวง เช่น โทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ส่ง SMS พร้อมลิงก์ปลอม หรือหลอกให้รักเพื่อให้โอนเงิน สภาผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำรายกรณี พร้อมแจ้งเตือนภัยผู้บริโภคให้ระวังการกดลิงก์และการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ
โดยสภาผู้บริโภคได้จัดเวทีเสวนา เพื่อยกระดับการป้องกันและเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากภัยไซเบอร์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจไซเบอร์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น
เสนอมาตรการหน่วงการโอนเงินตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไปเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และแจ้งเตือนผู้บริโภคทันทีเมื่อมีธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง