2 สิงหาคม 2566 เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ และจับตาเป็นอย่างมาก กรณีเหตุการณ์ "โกดังพลุระเบิด" พื้นที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ บาดเจ็บ 121 ราย มีบ้านเรือนประชาชน เสียหาย 292 หลังคาเรือน เปรียบเสมือน "ระเบิดลูกใหญ่" ที่อยู่กลางประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คำถามที่สังคมอยากรู้คือ ทำไมถึงปล่อยให้มีวัตถุอันตรายเช่นนี้อยู่กลางชุมชน? ชาวบ้านรู้แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองกลับไม่รู้ และใครบ้างที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ครั้งนี้?
ทั้งนี้ ไม่ว่าการเคลื่อนย้าย และเก็บวัตถุไวไฟอันตรายล็อตนี้ จะได้รับอนุญาตจากทางราชการ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรือไม่ก็ตาม แต่หากพิจารณาระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ยืนยันได้เลยว่า พลุมรณะล็อตนี้ มีส่วนหนึ่งส่วนใดผิดกฎหมายอย่างแน่นอน
คำถามคือใครต้องรับผิดชอบ?
ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 กำหนดให้ “พลุ” “ดอกไม้ไฟ” หรือ “ดอกไม้เพลิง” เป็นวัตถุอันตราย โดยจัดเป็น วัตถุระเบิด ชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีดินปืนเป็นส่วนประกอบหลัก
ฉะนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้สถานประกอบการ หรือโรงงานผลิตต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชม และได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยทุกขั้นตอน
ที่สำคัญไม่อนุญาตให้ดัดแปลงที่พักอาศัยเป็นโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟ
ส่วนประกอบหลักของพลุและดอกไม้ไฟ เกิดจากการผสมกันของสารเคมีหลากหลายชนิด ที่สำคัญ หากมีความร้อนหรือประกายไฟเกิดขึ้น จะเกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง
ตามประกาศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม (เป็น 5 หน่วยงานที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบและตรวจสอบ) เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ. 2547 ในส่วนของการผลิตมีข้อบังคับคือ
- กำหนดลักษณะของอาคาร สถานที่ หรือบริเวณที่ผลิตดอกไม้ไฟ ต้องไม่ตั้งอยู่ในชุมชน กำหนดระยะห่างจากอาคารอื่นๆ และห่างจากแนวรั้วอย่างน้อย 20 เมตรโดยรอบ
- ต้องเป็นอาคารเอกเทศชั้นเดียว
- ต้องติดสายล่อฟ้าที่มีประสิทธิภาพ
- อาคารต้องสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ มั่นคง แข็งแรง ป้องกันไฟจากภายนอก ลุกลามเข้าภายในได้ พื้นต้องเป็นวัสดุ ที่ไม่ก่อประกายไฟ ราบเรียบ ไม่ลื่น ไม่แตก ทำความสะอาดง่าย ไม่ดูดซับของเหลว หรือสารเคมี ต้องถ่ายเทอากาศได้ดีและกำหนด
- ห้ามทำการใดๆหรือกิจการใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดประกายไฟหรือความร้อน เช่น การปรุงอาหาร การจุดธูปเทียน การเจาะ การเชื่อมและประสานโลหะหรือสิ่งอื่นใด เป็นต้น
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาพของกราฟิก สถานที่เก็บพลุ และดอกไม้ไฟ เหล่านี้ จะเห็นว่า ไม่เพียงจะผิดกฎหมายอย่างชัดเจนเท่านั้น
แต่ยังอยู่ไม่ไกลจากสถานที่ราชการอย่าง สถานีตำรวจ และที่ทำการ อบต. มากนัก
โดยเมื่อนับระยะด้วยการเดิน โกดังพลุที่ระเบิด อยู่ห่างจากโรงพัก สภ.มูโนะ แค่ 9 นาที เท่านั้น ส่วน อบต.มูโนะ ใช้เวลาเดินแค่ 4 นาที