svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ทั่วไทย

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ตรวจ "หลุมยุบ" บนรอยเลื่อน พบทรุด-ขยายเพิ่ม

08 เมษายน 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย "หลุมยุบขนาดใหญ่" กลางไร่ หลังแผ่นดินไหวเมียนมา พบมีการทรุดตัว-ขยายวงเพิ่มขึ้น

จากกรณี นายณรงค์พัชญ์ นาคทรัพย์ นายอำเภอขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน รับแจ้งเหตุพบหลุมยุบ 6 หลุม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2 - 30 เมตร มีการทรุดตัวและขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่เกษตรกรรม บริเวณบ้านแม่สุริน หมู่ที่ 3 ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 31 มี.ค.68

ซึ่งเกิดเหตุหลุมยุบ หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมียนมา และแรงสั่นสะเทือนมีผลกระทบประเทศไทย และทำให้ตึก สตง. ในกรุงเทพฯ ราคากว่า 2 พันล้านบาท ที่กำลังก่อสร้าง ถล่มลงมาจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68

8 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย นายอำเภอขุนยวม หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดและระดับอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายหลุมยุบขนาดใหญ่บริเวณพื้นที่ทำกินของราษฎรหลังเหตุแผ่นดินไหว ที่ บ้านแม่สุริน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา

 

 

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ตรวจ \"หลุมยุบ\" บนรอยเลื่อน พบทรุด-ขยายเพิ่ม

โดยหลุมยุบเกิดกระจุกตัวเป็นกลุ่มในแนวเหนือ - ใต้ อยู่บนรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นรอยเลื่อนมีพลัง โดยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบแคบ ใกล้กับภูเขาหินปูน ชั้นดินที่เกิดหลุมยุบเป็นดินเหนียวปนทราย ทำให้น้ำขังในหลุมยุบมีลักษณะขุ่นข้น ปากหลุมมีลักษณะค่อนข้างกลมและสมมาตร รวมทั้งเป็นรูปกรวย บ่งชี้ถึงชั้นดินยุบตัวในแนวดิ่งลงสู่โพรงด้านล่างอย่างรวดเร็ว

 


ทั้งนี้หลุมยุบดังกล่าว เกิดจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวทำให้ระดับน้ำใต้ดินกวัดแกว่งขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แรงดันในช่องโพรงใต้ดินมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ชั้นดินถูกกัดเซาะ

เมื่อโพรงมีขนาดใหญ่ขึ้นและเพดานโพรงบางลงจนไม่สามารถรับน้ำหนักชั้นดินด้านบนได้จนทำให้พังทลายยุบตัวลงและกลายเป็นหลุมยุบในที่สุด

 

 

 

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ตรวจ \"หลุมยุบ\" บนรอยเลื่อน พบทรุด-ขยายเพิ่ม

 

 

 

 

เบื้องต้น สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 แนะนำ ข้อปฏิบัติ ดังนี้ 

 

 

1.ล้อมรั้วรอบบริเวณ ห้ามคนหรือสัตว์เลี้ยงเข้าใกล้ และปิดป้ายแจ้งเตือน 

2.เฝ้าระวัง และติดตามการทรุดตัวของพื้นดิน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวยังมีรอยแตกปรากฎอยู่ 

3.งดใส่ปุ๋ย พ่นยาในพื้นที่จนกว่าจะมีการถมกลบหลุมยุบ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน 

4.ทำการสำรวจธรณีวิทยาใต้ผิวดิน โดยวิธีธรณีฟิสิกส์ ซึ่งผลที่ได้จะนำมาใช้ในการกำหนดแนวทางลดผลกระทบต่อไป 

5.ชี้แจงสาเหตุและแนวทางป้องกันแก่หน่วยงานและประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

 

 

 

logoline