27 มกราคม 2568 ที่ที่มูลนิธิปวีณาฯ แม่พาลูกสาวนักเรียนชั้น ม.2 วัย 14 ปี เดินทางจาก จ.กำแพงเพชร เพื่อร้องทุกข์ต่อ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ หลังลูกสาวถูกเพื่อนนักเรียนชาย ม.2 ในห้องเรียนเดียวกัน 2 คน ร่วมกับรุ่นน้อง ม.1 และรุ่นพี่ ม.3 รวม 4 คน คอยกลั่นแกล้ง บูลลี่ ทำร้ายร่างกายเป็นประจำ ทั้งเตะฟุตบอลอัดใส่ที่ใบหน้า ถีบหลัง ใช้เท้าพาดไหล่ ตบศีรษะ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.67 เป็นเวลา 8 เดือน จนลูกสาวเครียดจัดไม่อยากไปโรงเรียน
ที่ผ่านมานำเรื่องไปบอกครู ครูก็ได้ทำโทษกลุ่มนักเรียนชายและทำทัณฑ์บนไว้ แต่ทั้ง 4 คนกลับไม่เข็ดหลาบ ยังแกล้งลูกสาวหนักกว่าเดิม จนกระทั่งวันที่ 17 ม.ค.68 ที่ผ่านมา ลูกสาวเครียดจัด คิดสั้นกินยาเกินขนาด 30 เม็ดหวังจบชีวิต พ่อแม่เห็นซ็อครีบพาลูกส่งโรงพยาบาล แพทย์ได้ทำการล้างท้องช่วยไว้ได้ทันต้องนอนโรงพยาบาลถึง 3 คืน 4 วัน และวินิจฉัยว่า ลูกสาวมีอาการเครียดสะสม ป่วยซึมเศร้า แม่ต้องการจะย้ายโรงเรียนให้ลูก และอยากให้มีการลงโทษและปรับพฤติกรรมเด็กนักเรียนชายกลุ่มนี้ จะได้ไม่ไปทำกับเด็กคนอื่นอีก
แม่กล่าวอีกว่า ลูกสาวเป็นเด็กค่อนข้างอ่อนแอ ไม่สู้คน ไปโรงเรียนทุกวัน ลูกสาวเล่าให้ฟังว่า เริ่มถูกกลุ่มเด็กนักเรียนชายกลั่นแกล้งช่วง ม.2 เทอม 1 โดย ด.ช.เอ กับด.ช.บี (ทั้งสองนามสมมุติ) ที่เรียนอยู่ห้องเดียวกันชอบบูลลี่หน้าตา ด่าหยาบคาย ตบศีรษะ ถีบหลัง ยกขาพาดไหล่ เอาหนังสือเรียน และสมุดเรียน รองเท้านักเรียน เสื้อคลุมนักเรียนไปทิ้งถังขยะ ค้นกระเป๋าเอาผ้าอนามัยไปเล่นและไปแขวนหน้าห้องเรียน ตะโกนพูดว่าเป็นของลูกสาว ทำให้อายคนอื่น
ที่หนักสุดวันที่ 14 มิ.ย.67 ขณะที่ลูกสาวนั่งอยู่กับเพื่อนผู้หญิงที่ข้างสนามฟุตบอล ด.ช.เอ ได้แกล้งเตะฟุตบอลมาอัดใส่หน้าอย่างจังจนหน้ามืดเป็นลม ขณะที่ ด.ช.บี ที่ยืนดูอยู่ก็หัวเราะชอบใจ หลังเกิดเหตุลูกสาวได้ไปบอกครูที่ปรึกษา ซึ่งครูได้ทำการตักเตือนไปแล้ว แต่ ด.ช.เอ กับด.ช.บี ก็ยังไม่หยุดพฤติกรรมกลั่นแกล้งลูกสาวตนมาโดยตลอด แถมยังข่มขู่ห้ามไปบอกครูหรือบอกพ่อแม่อีก ไม่งั้นจะโดนหนักกว่าเดิม และเวลาที่เพื่อนผู้หญิงจะเข้าไปช่วย ก็ถูก ด.ช.เอ กับ ด.ช.บี ข่มขู่ด้วยเช่นกัน
ส่วน ด.ช.ซี (นามสมมุติ) รุ่นน้อง ม.1 อายุ 13 ปี ก็ชอบแกล้งผลักลูกสาว ด่าหยาบคาบทุกครั้งที่เจอหน้า ขณะที่ ด.ช.ดี (นามสมมุติ) รุ่นพี่ ม.3 ได้ทำร้ายลูกสาว เช่น เตะก้อนหินใส่หัวและขา จุดไฟแช็กใส่หน้า และบูลลี่ เวลาที่ลูกสาวถูกกลั่นแกล้งจะอดทนไม่กล้าบอกครูและพ่อแม่ มีแค่บางครั้งที่ลูกสาวทนกับเหตุการณ์ไม่ไหวถึงจะมาบอก และดูเหมือนว่าลูกสาวจะถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจหนักขึ้นเรื่อยๆ
แม่มาสังเกตเห็นว่า ระยะหลังเวลาลูกสาวเลิกเรียนกลับมาบ้าน มักจะบ่นปวดหัวอยู่ตลอดไม่อยากไปโรงเรียน แม่จึงพาลูกไปหาหมออยู่บ่อยครั้งก็พบว่า ลูกมีอาการเครียดก็รักษามาตลอด กระทั่งลูกสาวมาคิดสั้นกินยาเกินขนาด แม่เสียใจมากที่ลูกทำแบบนี้ แม่ถามเหตุผลทำไมลูกถึงจะฆ่าตัวตาย ลูกบอกว่า "ถูกเพื่อนแกล้งครูก็ได้แต่ทำทัณฑ์บนเรียกตักเตือนเท่านั้น ไปโรงเรียนก็โดนหนักกว่าเดิมทุกวัน ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว" ฟังแล้วใจแม่แทบสลายอยากจะช่วยลูกให้ได้
ซ้ำร้ายหลังจากส่งลูกสาวไปล้างท้องรอดชีวิตแล้ว เมื่อเพื่อนที่โรงเรียนรู้ข่าว มีกลุ่มเพื่อนของเด็กนักเรียนชายทั้ง 4 คน ที่ก่อเหตุยังได้ส่งข้อความมาเยาะเย้ย เหน็บแนมว่า “โดนแค่นี้ถึงกับเป็นซึมเศร้าเลยหรือ?” หลังได้ข้อความลูกสาวก็พยายามจะฆ่าตัวตายอีก ทุกคนในครอบครัวจึงต้องดูแลน้องอย่างใกล้ชิด แม่คิดว่าเรื่องจะไปกันใหญ่แล้ว จึงมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปวีณาฯ
หลังรับแจ้งเรื่อง นางปวีณา ได้ประสาน ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ดร.ตฤณ ก้านดอกไม้ ผอ.ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งนี้ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร โดยได้มอบหมายให้ นายธีร์ดนย์ ศรีฟ้า ผอ.กลุ่มส่งเสริมความสุขและความปลอดภัย ศสป สพฐ. มาร่วมประชุมกับนางปวีณาและแม่ของ ด.ญ.วัย 14 ปี ผู้เสียหาย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพจิตใจ พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบโรงเรียนให้มีมาตราการลงโทษนักเรียนผู้กระทำผิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีกในโรงเรียนอีก
ด้าน นายธีร์ดนย์ กล่าวว่า หลังได้รับมอบหมายเรื่อง เบื้องต้นได้ประสานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน จ.กำแพงเพชร เรื่องการย้ายโรงเรียนของน้อง ซึ่งช่วงนี้ใกล้จะจบภาคการศึกษาช่วงชั้นเรียน ทางโรงเรียนเดิมจึงจะได้จัดการเรียนการสอน ให้กับน้องที่บ้านเพื่อให้จบชั้น ม.2 ก่อนจะย้ายไปโรงเรียนใหม่ ขณะเดียวกันทางกระทรวงศึกษาธิการ มีนักจิตวิทยาจะได้ส่งเข้าไปดูแลสภาพจิตใจของน้องด้วย โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะติดตามการช่วยเหลือดูแลสภาพจิตใจของน้อง ทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อไป
นางปวีณา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการช่วยเหลือเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาในโรงเรียน โดยได้ประสาน ผู้ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมและรับเรื่อง โดยได้ข้อสรุปดังนี้
1.ย้ายโรงเรียนให้เด็กนักเรียนหญิงผู้เสียหาย
2.ให้ตั้งคณะกรรมการสอบโรงเรียน ให้มีมาตรการลงโทษนักเรียนผู้กระทำผิด ซึ่งเด็กที่กระทำผิดต้องถูกลงโทษและปรับพฤติกรรม และให้ผู้ปกครองเข้ามารับทรา บเนื่องจากนักเรียนที่กระทำความผิดยังเป็นเยาวชน ซึ่งไม่ควรจะทำแบบนี้กับเพื่อน
3.เรื่องการดูแลสภาพจิตใจเด็กนักเรียนหญิงผู้เสียหาย โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ และนางปวีณาได้ประสาน นางสาวมะลิวัน สิทธิโยธี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกำแพงเพชร ลงพื้นที่บ้านของเด็กหญิงผู้เสียหายเพื่อร่วมฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วย โดยมูลนิธิปวีณาฯ จะร่วมกับ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ช่วยเหลือเด็กหญิงวัย 14 ปี นักเรียนหญิง ม.2 ผู้เสียหายรายนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป