กรณีเกิดการระบาดของโรคอหิวาตกโรคในพื้นที่ชเวโก๊กโก่ จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ตรงข้ามพื้นที่บ้านวังแก้ว ตำบลแม่ปะ และบ้านวังผา ตำบลแม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก ต่อมาพบ 2 แรงงานชาวเมียนมา ติด อหิวาตกโรคในเขตไทยอีกแล้ว ต้องรณรงค์ครั้งใหญ่
13 มกราคม 2568 ล่าสุด ทหารพรานจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 อ.แม่สอด จ.ตาก ร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านวังผา, อสม.บ้านวังผา
ได้รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมหยอดวัคซีนให้ชาวไทย-เมียนมาที่อยู่ในพื้นที่บ้านวังผา หมู่ที่ 4 ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก
ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ ติดตามสถานการณ์ และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคอหิวาตกโรคในหมู่บ้านวังผาที่ติดตามผู้ปกครองมาประกอบอาชีพรับจ้างที่อยู่ในพื้นที่ พร้อมกันนี้ได้ทำการหยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ทั้งนี้หลังจากที่เจ้าหน้าที่พบผู้ป่วยเป็นแรงงานเมียนมา 1 ราย ที่เป็นแรงงานเมียนมา
ด้าน นายปริญญา สายโรจน์ นายอำเภอแม่ระมาด ได้มอบหมายให้นายประเสริฐ วชิรญาณุวัฒน์ ปลัดอำเภอ เดินทางไปพบผู้ป่วย 1 รายคือ นายหน่าดา เปิยโซ อายุ 25 ปี อาชีพรับจ้างทำการเกษตร และพักรักษาตัวอยู่ที่องค์กรภาคเอกชน หรือSMRU ที่ให้บริการผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมาโดยเปิดเป็นคลินิกวังผา เขต ต.แม่กาษา อ.แม่สอด โดยแพทย์ที่ทำการรักษาแจ้งว่า ผู้ป่วยได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ และอนุญาตให้กลับไปทำงานได้ตามปกติ และได้จ่ายยาให้ไปรับประทานเพิ่มเติมอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ ได้สอบถาม นายถาวร แซ่เฮ่อ นายจ้าง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า นายหน่าดาฯ ได้มารับจ้างทำงาน และพักที่ห้างไร่ดังกล่าว (ซึ่งปลูกอยู่เอกเทศ มีระยะทางห่างไกลจากชุมชนบ้านวังผา) ได้ประมาณ 1 เดือนแล้ว และก่อนมีอาการป่วยได้ข้ามแม่น้ำเมยไปหาเพื่อนที่หมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ตรงข้ามกับห้างไร่ ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 800 เมตร เมื่อกลับมาพบมีอาการป่วยจึงนำไปรักษาที่ SMRU คลินิกวังผาจนหายเป็นปกติ
ด้าน นายปริญญา กล่าวว่า ให้ฝ่ายปกครองร่วมกับ อสม. ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนลูกจ้างแรงงานที่พักอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงให้ปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ ตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด โดยขณะนี้ยังไม่พบมีผู้ป่วยเพิ่มเติมแต่อย่างใด สำหรับมาตรการของสาธารณสุขนั้น มีการค้นหาผู้สัมผัส ผู้มีอาการ และ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง(มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เกิดโรคหรือข้ามไป-มาระหว่างประเทศ)โดยเน้นในจุดที่อยู่อาศัยในสวนยางพารา และพื้นที่ข้างเคียง , จัดการด้านสิ่งแวดล้อม เติมคลอรีนในบ่อน้ำตื้น หรือ แหล่งน้ำดื่ม/น้ำใช้ในพื้นที่เสี่ยงให้ครบถ้วน และให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นในพื้นที่เสี่ยง ในพื้นที่หมู่4 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8