svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าวทั่วไทย

"นักวิชาการแม่โจ้" แนะใช้ "ไซยาไนด์" กำจัดปลาหมอคางดำ พื้นที่วิกฤติหนัก

อาจารย์ ม.ดังเชียงใหม่ เสนอใช้ "ไซยาไนด์" ปราบ "ปลาหมอคางดำ" ในพื้นที่วิกฤตหนัก หากใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล แต่ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด และดำเนินการโดยรัฐบาล แนะเฝ้าระวัง การขนย้ายปลาข้ามภูมิภาค หวั่นลูกปลาหมอคางดำหลุดรอด แพร่กระจายไปทั่วประเทศ

กรณีของ "ปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์" ที่ตอนนี้มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก และกำลังพยายามที่จะหาหนทางและลองหลายๆ วิธีการในการที่จะกำจัด เพราะกระทบกับระบบนิเวศ และสัตว์น้ำประจำท้องถิ่นของไทยเป็นอย่างมาก


26 กรกฏาคม 2567 รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ปลาหมอคางดำสามารถเคลื่อนตัวได้ทุกน้ำ "เกิดง่ายตายยาก" สามารถปรับสภาพอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้ง น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำเน่า ไปไหนมาไหนก็จะมีการเอาลูกเอาไว้ในปาก อัตราอัตราการรอดก็จะสูง ดังนั้นอัตราการเกิดก็เกือบจะ 100% ก็ทำให้การแพร่กระจายมันเร็ว

"ตอนนี้ทุกคน ก็พยายามทำความเข้าใจ ในเรื่องของปลาหมอคางดำ ช่วยกันหาวิธีจัดการ แต่ถ้าวันนึงที่วิกฤตจริงๆ หาทางออกไม่ได้ก็ต้องมีวิธีการจัดการอย่างเฉียบพลัน แต่เป็นวิธีการที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องเข้าใจและศึกษาอย่างถ่องแท้ ว่าจะมีผลอย่างไร  เป็นวิธีการที่ค่อนข้างที่จะฟังดูน่าตกใจ นั้นก็คือใช้ ไซยาไนด์ จัดการหมอคางดำ บางครั้งในกรณีที่วิกฤตหรือไม่สามารถควบคุมได้ หรือสัตว์ที่มีความสามารถที่ปรับตัวเก่งเกินไป  ก็มีวิธีการหนึ่งที่สามารถลองดูได้ อย่างสารไซยาไนด์ แต่ใช้ในบางพื้นที่ ที่ไม่สามารถใช้วิธีการอื่นๆได้แล้ว หรือลองแล้วยังไม่ได้ผล ซึ่งอาจจะทดลองในพื้นที่เล็กๆ หรือพื้นที่จำกัดที่สามารถควบคุมได้ ถ้าเป็นแหล่งน้ำเปิดควบคุมไม่ได้ก็จะสร้างความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน" รศ.ดร.อภินันท์ กล่าวต่อ

รศ.ดร.อภินันท์ เปิดเผยอีกว่า สารไซยาไนด์ เป็นสารต้องห้ามและเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ใช่ว่าใครจะทำได้ ต้องเป็นระดับรัฐบาล คนมีอำนาจในการอนุมัติในเรื่องนี้ถึงจะสามารถทำได้ สำหรับไซยาไนด์เป็นสารประจุลบในเหงือกปลามีการดูดซึมมีประจุบวกอยู่เยอะ การดูดซึมเข้าในกระแสเลือดของปลาก็จะเข้าไปกัดฮีโมโกลบิน และเม็ดเลือดของปลา เมื่อเม็ดเลือดมันจับตัวกับไซยาไนด์ ปลาก็จะไม่สามารถหายใจได้เลือดไม่หมุนเวียนก็ทำให้ปลาตาย ปลาอื่นๆก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

 

ถ้าเราจะเลือกใช้วิธีการนี้ สิ่งสำคัญพื้นที่ตรงนั้น ต้องเฉพาะพื้นที่ ที่มีปลาหมอคางดำจำนวนมาก เป็นพื้นที่วิกฤตที่ไม่สามารถจัดการได้ ดังนั้นต้องมีการสำรวจปลา หรือสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ว่าในพื้นที่นั้นๆ ว่ามีโครงสร้างประชากรสัดส่วนมากน้อยเพียงใด หากมีน้อยมากๆ หรือแทบไม่มี ก็ต้องมีการพูดคุยในการดำเนินการด้วย ไซยาไนด์

 

หากยังมีสัตว์ชนิดอื่นๆอยู่ในบริเวณนั้นได้อาจจะต้องใช้วิธีอื่นๆ เพราะว่าประชากรสามารถปรับตัวได้ ถ้าธรรมชาติสู้กับธรรมชาติก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการนี้ นอกจากใช้ไซนาไนด์แล้วก็มีเรื่องของการช็อตไฟฟ้าในกรณีที่วิกฤตทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของปลาไทยพื้นเมืองแทบจะไม่มีก็สามารถนำเอามาใช้ได้แต่ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมและการอนุญาตจากรัฐบาล  


“งานวิจัยจะเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ หาวิธีหยุดการกระบวนการออกไข่ของปลาหมอคางดำ  ต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมอย่างถ่องแท้ เรื่องของการบริหารจัดการของชุมชนการให้ความรู้ของบุคคลในท้องถิ่นจะต้องมีความเข้าใจ  เมื่อมีปลาหมอคางดำอยู่แล้วจะต้องทำยังไงต่อไป อย่างไรก็ตามพื้นที่ภาคเหนือ ยังไม่พบรายงานว่าเจอปลาหมอคางดำ การแพร่กระจายกว่าจะขึ้นมาในพื้นที่ภาคเหนือน่าจะใช้เวลาหลายปี แต่ก็ห้ามประมาทเพราะมีความเป็นไปได้ แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือการติดมากับลูกปลาชนิดอื่นๆเพราะตอนที่ยังเป็นลูกปลาสามารถคัดแยกได้ยากมากก็อาจจะมีโอกาสหลุดลงไปในแหล่งน้ำได้ ก็ต้องมีความระมัดระวังในการขนส่งปลาข้ามจังหวัดหรือภูมิภาค" “รศ.ดร.อภินันท์ เผยต่อ