9 กรกฎาคม 2566 ความคืบหน้า กรณีเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่น ( อปท.) แห่งหนึ่ง นำรถกระเช้าสีส้ม บรรทุกซากเสาไฟเหล็กเคลือบ หรือ เสาโคมไฟสับปะรด ที่ตั้งอยู่บริเวณริมอ่าวประจวบฯ ไปขายที่ร้านขายของเก่า ในราคาหลักร้อยบาท
ทั้งที่เสาดังกล่าว มีราคารวมค่าติดตั้ง ต้นละ 8 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท ขณะที่สำนักงานโยธาธิการจังหวัดประจวบฯ จะทำการตรวจสอบ เพื่อหาหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้เกี่ยวข้องที่นำเสาไฟ ไปจำหน่ายในร้านรับซื้อของเก่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ ไปร้านรับซื้อของเก่าดังกล่าว และสอบถามเจ้าของร้าน ถึงความเป็นมา โดยเจ้าของร้านแจ้งให้สื่อมวลชน ไปสอบถามจากหน่วยงานต้นสังกัด ของเจ้าหน้าที่ที่นำเสาไฟมาขาย จากนั้นขอให้กลับมาสัมภาษณ์ตนภายหลัง แต่สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า เสาโคมไฟสับปะรดดังกล่าว มีรถกระเช้าสีส้ม ของเทศบาลบรรทุกนำมาขาย เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา
โดยทางร้านเข้าใจว่า หน่วยงานต้นสังกัดรับทราบ ยินยอมให้นำเอามาขาย แต่หลังจากมีการนำเสนอข่าว ก็ได้มีเจ้าหน้าที่กลุ่มเดิม พร้อมรถกระเช้าสีส้มคันเดิม กลับมาขอเสาไฟพร้อมคืนเงิน 1,000 บาท โดยอ้างว่า ลูกพี่ให้มาขอเอากลับคืนไปก่อน ซึ่งตนก็ไม่ขัดข้อง
เนื่องจากเป็นการรับซื้อตามปกติ โดยไม่ทราบการได้มาลูกค้า ขณะที่ทางร้านมีกล้องวงจรปิด บันทึกภาพทั้งหมดเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อความโปร่งใส สามารถยืนยันไว้ว่า มีบุคคลใด และรถของทางราชการคันไหน นำเสาไฟมาขาย
นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา รองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดประจวบฯ กล่าวว่า เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า เป็นญาติสนิทกับตน ยืนยันว่าไม่มีเจตนาทำผิดกฎหมาย จึงให้เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ทั้งหมด
ทราบว่า มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใด นำเสาไฟไปขาย และขอไปเอาเสากลับคืน ซึ่งเป็นความผิดสำเร็จ และเนื่องจากเรื่องนี้ มีการเสนอข่าว เป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป ทำให้หน่วยงานที่ใช้งบจัดซื้อ จะต้องรีบออกมารับผิดชอบ
ส่วน จ่าอากาศเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เสาไฟเก่าที่ถูกนำมาขาย น่าจะยาวประมาณ 6 เมตร ราคาต้นละ 1 แสนบาท ไม่ใช่เสาไฟสูง 4 เมตร ที่ถูกสนิมกัดกร่อนหักโค่น ที่สันเขื่อนสร้างจากงบ 6 ล้านบาท ของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา
สำหรับเสาไฟยาว 6 เมตร จะติดตั้งบนพื้น ตั้งแต่สะพานคลองบางนางรม ถึงค่ายลูกเสือม่องล่าย เป็นงบของโยธาธิการจังหวัด ปัจจุบันระบบไฟไม่สามารถใช้การได้ บางจุดมีไฟช็อตประชาชน และนักท่องเที่ยว นอกจากนี้บางจุดมีการชำรุดถาวร เนื่องจากมีการลักตัดสายไฟฟ้าไปขาย
หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องชี้แจงว่า 10 ปีที่ผ่านมา ใช้งบรวมกี่สิบล้าน เนื่องจากปัจจุบันโคมไฟสับปะรดมี 3 รูปแบบ และเหลือเสาไฟกี่ต้น เสาที่ชำรุดนำไปเก็บไว้ที่ไหน และต้องชี้แจงกับประชาชนว่า มีงบสร้างแต่ทำไม่มีงบซ่อม หลังจากสายไฟฟ้าสูญหาย หรือสร้างเสร็จแล้วในช่วงแรก เหตุใดไม่โอนทรัพย์สินให้เทศบาลเมืองประจวบฯ ดูแล บำรุงรักษา
สำหรับเสาไฟ ที่ลูกจ้างของเทศบาลแห่งหนึ่งนำไปขาย หน่วยงานเจ้าของงบ จะต้องรับผิดชอบโดยเร็ว แม้ว่าเสาชำรุด ก็ต้องปกป้องทรัพย์สินของทางราชการ ที่จัดซื้อจากเงินภาษีของประชาชน และจะต้องไปหาให้เจอว่า เจ้าหน้าที่นำเสาไฟขึ้นรถของทางราชการ แล้วเอาของกลางไปแอบไว้ที่ไหน วันนี้วันหยุดใครอนุมัติให้เอารถราชการ มาเก็บเสาไฟจากร้านของเก่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีเสาไฟสับปะรดอีกจำนวนมาก ถูกนำมาขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า โดยหน่วยงานเจ้าของงบไม่สนใจ
นายกมล แก้วเทศ นายกเทศมนตรีเมืองประจวบฯ กล่าวว่า เบื้องต้นเสาไฟสับปะรดดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเทศบาล เนื่องจากไม่ได้รับมอบ จากหน่วยงานที่ใช้งบจัดสร้าง แต่เมื่อเกิดการชำรุดเสียหาย หรือหักโค่น ทำให้เสี่ยงอันตรายกับประชาชน และนักท่องเที่ยว
เทศบาลมีหน้าที่ ดูแลเก็บทำความสะอาด เมื่อเจ้าหน้าที่ไปเก็บเสาไฟที่ชำรุด จะนำไปส่งมอบให้กับ 2 หน่วยงาน และต้องดูว่า เสาไฟที่เอาไปขาย เป็นของหน่วยใด ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ นำเอาเสาไฟไปขาย ให้กับร้านรับซื้อของเก่า ตนยังไม่ทราบ จึงต้องขอหาข้อมูลเพื่อความถูกต้อง