svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ทั่วไทย

พ่อแม่สุดเศร้า ลูกถูกออกจาก รร.กลางคัน กสม.แนะชะลอส่งเด็ก 126 คนกลับเมียนมา

พ่อแม่สุดเศร้า ลูกถูกออกจาก รร.กลางคัน กสม.แนะชะลอส่งเด็ก 126 คนกลับเมียนมา หวั่นได้รับอันตราย ชี้ส่วนหนึ่งเคยเรียนในไทย ควรใจกว้างพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แก้ปัญหาสังคมไทยสูงวัย

7 กรกฎาคม 2566 ความคืบหน้ากรณี โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง มีการนำนักเรียนชนเผ่า มาเข้าเรียนเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ซึ่งภายหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบ และส่ง เด็กต่างด้าว จำนวน 126 กลับปลายทาง จ.เชียงราย เพื่อประสานผู้ปกครองผลักดันกลับ พร้อมดำเนินคดี ผู้อำนวยการโรงเรียม รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

พ่อแม่สุดเศร้า ลูกถูกออกจาก รร.กลางคัน กสม.แนะชะลอส่งเด็ก 126 คนกลับเมียนมา

ขณะที่ ผอ.โรงเรียน ยืนยันรับเด็กต่างด้าว มาเรียนถูกต้อง พร้อมแสดงความเสียใจ ที่เด็กไม่ได้เรียน พร้อมเผยวิธีการดึงเด็กจากชายแดนมาเรียน ทำกันมา 20 ปีแล้ว ขณะนักวิชาการ - ผู้รู้เรื่องสถานะบุคคล รุมจวกพรากเด็กจากโรงเรียนกลางคัน ส่วน ส.ส.เสนอการคุ้มครองเด็ก ใส่ในรัฐธรรมนูญ
พ่อแม่สุดเศร้า ลูกถูกออกจาก รร.กลางคัน กสม.แนะชะลอส่งเด็ก 126 คนกลับเมียนมา

ล่าสุด นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Workers Group -MWG) กล่าวถึงการส่งกลับเด็กต่างด้าว ทั้ง 126 คน ว่า นโยบายการปิดโรงเรียนขนาดเล็ก ให้ยุบไปรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ใหญ่นั้น ไม่ตอบโจทย์ด้านการศึกษา และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา เพื่อให้ความผิดแก่ผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นสมบูรณ์ โดยตั้งข้อหานำพาคนต่างด้าว

ฉะนั้นเด็ก ๆ เหล่านี้ ก็กลายเป็นสถานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ในแง่ของกฎหมาย ต้องรับโทษตามคดีอาญา และต้องส่งเด็กกลับไปยังประเทศต้นทาง การดำเนินการของตำรวจ กรณีนี้ไม่ถูกต้อง สำหรับหลักการการคุ้มครองเด็ก

เด็ก ๆ ควรได้เข้ารับการศึกษาในระบบ ไม่ว่าจะเป็นคนมีสัญชาติ หรือไม่มีสัญชาติใดก็ตาม เด็กไม่ได้มีความผิด และเด็ก ๆ ก็มีความหวังว่า จะได้เรียนหนังสือ คือโอกาสของพวกเขา จริง ๆแล้ว ไม่ควรส่งเด็กกลับ เพราะพ่อแม่และครอบครัว ต่างก็ยินยอมที่จะให้เดินทางมาเรียน การที่ส่งเด็กกลับ อาจจะทำให้พวกเขาเกิดความเสี่ยงได้ และอาจจะกลับมา และกลายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ต่อไป 

พ่อแม่สุดเศร้า ลูกถูกออกจาก รร.กลางคัน กสม.แนะชะลอส่งเด็ก 126 คนกลับเมียนมา

นายอดิศร กล่าวว่า รัฐไทยจะต้องไม่ส่งเด็กกลับไป หากพิสูจน์ได้ว่า อยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม พ.ศ.2565 การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า  บุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่ จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย 

โดยหลักการตามกฎหมาย ต้องยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก การเปิดโอกาสทางการศึกษา คือการลงทุนที่ต่ำที่สุด เด็ก ๆ เหล่านี้สามารถเติบโตไป เป็นแรงงานที่มีคุณภาพได้  ไทยเรามองเป็นปัญหาของความมั่นคงเป็นหลัก จึงไม่ได้มองเห็นในมิติอื่น ๆ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และขาดแคลนกำลังแรงงาน  วิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งคือการมอบการศึกษา เพื่อให้เข้าสู่ระบบ เพราะฉะนั้นเราต้องมองภาพไกล

ส่วนความคืบหน้ากรณีตำรวจ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำตัวเด็กทั้ง 126 คน ส่งไปยังจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งตัวกลับประเทศต้นทาง ล่าสุดได้มีการติดต่อผู้ปกครองเด็กจำนวนหนึ่งได้แล้ว ซึ่งได้ทยอยส่งตัวเด็กไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อผลักดันเด็กกลับเมียนมา 

นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้เดินทางไปที่บ้านพักเด็ก และครอบครัวจังหวัดเชียงราย กรมกิจการเด็กและเยาวชน ใน อ.แม่จัน ซึ่งมีที่ถูกออกจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 38 คน พักอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเด็ก
พ่อแม่สุดเศร้า ลูกถูกออกจาก รร.กลางคัน กสม.แนะชะลอส่งเด็ก 126 คนกลับเมียนมา  

นางปรีดา กล่าวว่า ข้อเสนอ กสม.คือ ขอให้คัดเรียนเด็กที่เคยเรียนในประเทศไทยออกมา และยินดีประสานกับโรงเรียน ที่เด็กเคยเรียน ซึ่งตอนนี้พบว่า มีอย่างน้อย 6 คน ที่เคยเรียนในประเทศไทย ขณะที่ทางตำรวจเห็นด้วยกับการระงับการส่งเด็ก และคัดแยกเด็ก

โดยขอให้ประสานกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ ขณะที่อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน โทรมาหารือ ซึ่งตนบอกไปว่า เรื่องนี้สลับซับซ้อน และแจ้งว่า ควรชะลอส่งกลับ ขณะที่เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว แจ้งว่าจ ะติดตามเด็กที่ถูกส่งกลับไปเมียนมาว่า ได้เข้าเรียนหรือไม่

ในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และปลัด พม. โดยระบุว่า ให้พิจารณาไม่ส่งหรือผลักดันเด็ก ไปยังประเทศต้น ทางหากเป็นอันตราย และขอให้ พม.ช่วยเหลือเด็กกลุ่มดังกล่าว
พ่อแม่สุดเศร้า ลูกถูกออกจาก รร.กลางคัน กสม.แนะชะลอส่งเด็ก 126 คนกลับเมียนมา

ผู้ปกครองรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนได้พบลูก 2 คนที่ส่งไปเรียนที่ จ.อ่างทอง แล้ว ตอนนี้เราถูกผลักดันกลับเมืองท่าขี้เหล็ก ที่ตัดสินใจส่งลูกไปเรียนที่อ่างทอง เพราะอยากให้ลูกได้มีโอกาสศึกษา ในระบบของไทย จึงตัดสินใจส่งให้ไปเรียน โดยตนเป็นคนพาลูกไปส่งยังโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในอำเภอแม่สาย และการไปเรียนครั้งนี้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

“อยากให้ลูก ๆ ได้มีการศึกษาเติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ สามารถเลี้ยงตัวเอง และมีความรู้ในการพัฒนาชีวิตตัวเอง ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ตอนแรกพอรู้ว่าเด็ก ๆ ถูกส่งกลับ รู้สึกตกใจและกังวล เป็นห่วงอย่างมากว่าจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงเป็นห่วงความรู้สึก ของผู้อำนวยการและครูในโรงเรียนว่า เขาต้องเจออะไรบ้าง เรากินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่หลายวัน

แต่ตอนนี้ลูกมาอยู่กับตัวเองแล้ว ก็สบายใจในระดับหนึ่ง แต่ที่เสียใจคือ ความรู้สึกของลูก ที่มีความฝันที่อยากจะเรียนภาษาไทย ในประเทศไทย ลูกคิดว่า อนาคตจะไม่มีโอกาสกลับเข้ามาประเทศไทยอีกแล้ว ตอนนี้ตั้งใจจะโทรศัพท์กลับไปหาผู้อำนวยการที่โรงเรียน เพื่อให้กำลังใจ” ผู้ปกครองรายนี้ กล่าว

ขณะที่ผู้ปกครองอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า เดิมทีลูกชายเรียนที่โรงเรียนบ้านอาแบ อ.แม่จัน ต่อมาลูกได้ขออนุญาตไปเรียนที่อ่างทอง เพราะเพื่อน ๆ ชวน และมีครูที่ไว้ใจได้มารับ พอเห็นข่าวที่เด็กถูกส่งกลับ รู้สึกตกใจและกังวลมาก แต่หลังจากที่ทราบว่า มีหน่วยงาน มูลนิธิ เข้าไปดูแลก็รู้สึกอุ่นใจขึ้นมา

ซึ่งตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปรับเด็กกลับมาอย่างไร เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน ถ้าจะเช่ารถไปก็ราคาแพง เพราะต้องลงจากดอยไปรับในเมือง สิ่งที่กังวลใจมากที่สุด คือเป็นห่วงความรู้สึกของเด็ก ๆ เนื่องจากลูกมีความฝัน อยากเรียนหนังสือที่สูง ๆ อยากพัฒนาตนเองมีอาชีพที่ดี ในการมาเลี้ยงดูแลครอบครัว ตอนนี้ไม่รู้ว่าจะได้เรียนต่อหรือเปล่า

อดีต ผอ.ขอความเป็นธรรม ยันต้องการให้การศึกษาเด็ก ตามกระบวนการ 

ขณะที่ นางกัลยา ทาสม อดีต ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ซึ่งถูกให้มาช่วยราชการ ที่ สพป.อ่างทอง เพื่อรอการตั้งกรรมการสอบสอบวินัยร้ายแรง เปิดใจกับทีมข่าวว่า เรื่องดังกล่าว ตนมีความตั้งใจ ที่จะให้การศึกษากับเด็ก โดยเข้ามารับตำแหน่ง มีนักเรียนเหลือเพียง 12 คน ก็ได้ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา และมีความเห็นตรงกันว่า จะใช้วิธีเดิม ที่เคยทำกันมา โดยการนำเด็กจากพื้นที่สูงทางภาคเหนือ มาเรียนที่แห่งนี้ โดยตอนไปรับ ตนเดินทางไปด้วย แต่นัดรอกันเป็นจุด โดยมีผู้ปกครองของเด็ก นำมาส่งให้ ไม่ทราบว่าเป็นเด็กสัญชาติเมียนมา 

เด็กที่นำมาก็ส่วนใหญ่ เป็นการบอกต่อ ระหว่างศิษย์เก่าที่นี่ทั้งนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเกี่ยวพันกับเรื่องการค้ามนุษย์ การกระทำทั้งหมด ทำเป็นรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งในปีที่ผ่านมาก็เคยทำเช่นนี้ แต่ไม่รู้ทำไมปีนี้จึงเกิดเป็นเรื่องดังกล่าว

หลังจากเด็ก เดินทางกลับ ไปที่ศูนย์พักพิงที่เชียงราย บางคนก็ยังโทรศัพท์กลับมา ร้องไห้อยากกลับมาเรียนหนังสืออีก ที่โรงเรียนของเราก็เป็นโรงเรียนที่พัฒนาเด็ก จนได้รับรางวัลหลายอย่าง ไม่แพ้โรงเรียนระดับจังหวัด จึงอยากให้มองถึงโอกาสของเด็กที่จะได้รับ ส่วนกระบวนการ ที่ทำตามระเบียบของการรับเด็กเข้าศึกษา และให้โอกาสเด็ก แต่ไม่ได้ทำตามระเบียบทางปกครองหรือกฏหมาย เพราะเราไม่ทราบถึงเรื่องนื้ 

ตอนนี้รู้สึกเสียใจ ที่ทำให้เด็กขาดโอกาสทางด้านการศึกษา เด็กหลายคนกลับไปแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะได้กลับเข้ามาเรียนในระบบการศึกษาอีกหรือไม่ เพราะถูกทิ้งโอกาสไปแล้ว ในเรื่องคดียืนยันว่า ตนจะสู้ให้ถึงที่สุด โดยจะสู้จากเจตนาที่เรามีให้กับเด็กที่ยากจน และขาดโอกาสทางการศึกษา โดยหลังจากเกิดเหตุ ทางนักสิทธิมนุษยชน ไม่เคยโทรหาหรือสอบถามกับตน แต่ก่อนหน้าที่เด็กจะเดินทางกลับ ประมาณวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีหนังสือที่ตนร้องขอให้คุ้มครองเด็ก ให้รับสิทธิทางการศึกษา โดยมีหนังสือมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน แต่ก็เงียบไป รวมถึงให้คุ้มครองสิทธิของ ผอ.จากการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ยังไม่มีการตอยรับมาอย่างใด 

นอกจากนี้ ยังเคยร้องไปยังศูนย์ดำเรงธรรมอ่างทอง แต่ก็ไม่มีการรับเรื่อง อ้างว่าเป็นคดีใหญ่ เหมือนตั้งเป้ามาที่เราเพียงอย่างเดียว จึงคิดว่าตนน่าจะได้รับความยุติธรรม ในส่วนการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงของ สพป.อ่างทอง ก็ อยู่นะหว่างการรวบพยาน แต่ยังไม่ได้มีการสอบสวนตนแต่อย่างใด 

ยืนยันว่ามีเจตนาที่ดี ในการที่จะให้โอกาสทางการศึกษากับเด็ก แม้ไม่รู้ว่ากระบวนทางทางด้านอื่นเป็นอย่างไร ก็จะสู้ให้ถึงที่สุด 

นางกัลยา ทาสม อดีต ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6