26 มิถุนายน 2566 ส่อเค้าบานปลายไม่จบง่าย ๆ แน่นอน กรณีกรมศุลกากร จับทุเรียน น้ำหนัก 8,420 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ในพื้นที่ จ.สระแก้ว โดยระบุ เป็นทุเรียนเถื่อน มีถิ่นกำเนิดต่างประเทศ ไม่ปรากฎเอกสารหลักฐาน แสดงการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงยึดของกลางทั้งหมด ส่งดำเนินคดี
ต่อมาเจ้าของล้งทุเรียน ได้ร้องเรียนกับ นายอัมรินทร์ ยี่เฮง เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสระแก้ว ว่า ทุเรียนดังกล่าวซื้อมาอย่างถูกต้อง จากเจ้าของสวนในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อนำมาส่งขายไปยังต่างประเทศ เนื่องจากทุเรียนใน จ.จันทบุรี มีไม่เพียงพอ และมีการเข้าแจ้งความเอาผิดเรื่องนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ล่าสุด เจ้าหน้าที่จากสำนักงงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ได้ทำการตรวจสอบเบื้องต้น ใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ( GAP ) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับพืชอาหาร มกษ.9001 – 2556 รหัสรับรอง กษ.03-9001-33-111-000625 รหัสแปลง 330803-9111-0019-0614 ชนิดพืช ทุเรียน พื้นที่ 10 ไร่ ของนายสมัย สุยคำไฮ บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 10 ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีระบุข้อความด้วยลายมือเขียนไว้ชัดเจนว่า ข้าพเจ้า นายสมัย สุยคำไฮ ขายทุเรียนให้กับโรงคัดบรรจุแผงไทซิงเต่า จำนวน 17,000 Kg วันที่ 24/6/66 ลงชื่อ และหมายเลขโทรศัพท์ไว้อย่างชัดเจน
แต่หลังจากที่ ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปตามหมายเลขที่ระบุ กลับได้รับคำตอบจากปลายทางว่า นี่ไม่ใช่หมายเลขนายสมัย และเมื่อสอบถามว่า หมายเลขนี้อยู่ที่ใด ได้คำตอบว่าอยู่จังหวัดระยอง และไม่ได้ขายทุเรียนชุดนี้ ซึ่งนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่า อาจมีการสวมสิทธิ์ สวมชื่อเกษตรกรรายนี้ ในการลงเอกสารใบ GAP เพื่อสร้างหลักฐานในการขายทุเรียน เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ศุลกากร
ซึ่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กำลังเร่งลงพื้นที่เพื่อหาตัวเกษตรกร ตามที่อยู่ดังกล่าว และยังไม่ยืนยันว่า มีเกษตรกรรายนี้จริงหรือไม่
นายนคร บุตรดีวงศ์ พาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ชี้แจงว่า ในวิธีการซื้อขายทุเรียนศรีสะเกษ ผู้ประกอบการต่างถิ่นเข้ามาในปีนี้ถือว่า มีเยอะขึ้น ในกระบวนการซื้อทุเรียนจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือซื้อไปจำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งอันนี้จะไม่มีปัญหาเท่าไหร่ อีกประเภทหนึ่งคือ ซื้อเพื่อไปส่งออกไปขายต่างประเทศ
โดยหลักแล้ว ล้งหรือผู้ประกอบการ ที่ซื้อทุเรียนจากศรีสะเกษ ต้องขอใบ หรือขอสำเนาใบการขึ้นทะเบียนใบ GAP จากเกษตรกรด้วย เหตุผลก็คือ ยกตัวอย่างเช่นทุเรียนที่ส่งไปจีนโดยปกติแล้ว จะต้องผ่านหน่วยงาน CCIC ของจีน หรือหน่วยงานรับรอง ตรวจสอบย้อนกลับของทุเรียน
เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นทุเรียนที่ส่งไปจีน ก็จะต้องมีแหล่งที่มา ก็คือต้นทาง ใบรับรอง GAP เป็นต้น และต้องเป็นล้งที่มีมาตรฐาน เป็นล้งที่กรมวิชาการเกษตรรับรองเป็นต้น จะทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ผลผลิตที่ส่งออกไป มีการผลิตจากต้นทางอย่างแท้จริง
กรณีที่เป็นข่าวการจับกุมของศุลกากร เบื้องต้นก็ทราบว่า มีสายข่าวแจ้งว่า มีการลักลอบขนทุเรียนนำเข้า จากต่างประเทศโดยไม่ได้เสียภาษี ต้องยอมรับว่า ปีนี้มีผู้ประกอบการเข้ามาซื้อทุเรียนศรีสะเกษ เป็นจำนวนมาก ซื้อไปจำหน่ายในประเทศเอง หรือซื้อส่งออกขายต่างประเทศก็เยอะ ในกระบวนการ ถ้าซื้อเพื่อไปส่งออก ก็จะมีกระบวนการที่ต้องมีหลักฐานในการผลิตต้นทาง ก็คือ ใบรับรอง GAP จากเกษตรกรไปด้วย
เพื่อเป็นการยืนยันว่า ได้มีการซื้อทุเรียนจากศรีสะเกษไปจริง ๆ ซึ่งตอนนี้ต้องรอทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล เนื่องจากตอนนี้ทางพาณิชย์จังหวัด ยังไม่ได้รับการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ทุเรียนที่มีการจับกุมดังกล่าว เป็นทุเรียนจากศรีสะเกษจริง ๆ หรือไม่
ในส่วนเกษตรกรที่ได้มีการรวบรวมที่หน้าสวน ได้โทรศัพท์แจ้งว่า ขณะนี้ชาวสวนได้ขายส่งต่อให้พ่อค้า - แม่ค้า ที่มารับซื้อกันโดยตรงเป็นจำนวนมาก เพราะได้เงินก้อน โดยทุกสวนจะออกใบเสร็จให้ เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับมาได้ตลอดว่า ซื้อไปจากสวนไหน จำนวนเท่าใด และหากเป็นทุเรียนจากสวนตน ทุกสวนจะสามารถจับได้ว่า ทุเรียนทุกลูกเป็นของตน เพราะมีจะมีลักษณะเด่นชัดเฉพาะสวนเท่านั้น
ขณะที่ นายธนฌัฏฐ์ ธนาณัฐพันธุ์ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ต.ภูเงิน อ.กันทรลักษ์ ได้นำทุเรียนมาจำหน่ายอยู่ภายในงาน เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ที่หน้าศาลากลางจังหวัด เล่าว่า ทุกครั้งที่ขายทุเรียนภูเขาไฟ ออกไปจากสวนตน จะมีใบเสร็จการซื้อขาย แจ้งราคา จำนวนทุเรียนกี่ลูกที่ขายออกไปชัดเจน สามารถตรวจสอบย้อนกลับมาได้ทุกครั้ง