มาโรส เซฟโควิช หัวหน้านโยบายการค้าของสหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่การค้าจากต่างประเทศกลุ่มแรกที่เยือนวอชิงตันในวันที่ 14 เมษายนนี้ เพื่อเจรจาเร่งด่วนเกี่ยวกับการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน แต่สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่เป็นหัวหน้าทีมเจรจา จะเยือนอาร์เจนตินาในวันนั้น ทั้งที่อาร์เจนตินามีมูลค่าการค้ากับสหรัฐฯ เพียง 16,300 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับการค้ากับสหภาพยุโรป ที่สูงถึงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์
ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในข้อกังวลของผู้เชี่ยวชาญว่า รัฐบาลจะสามารถจัดการเจรจากับประเทศต่าง ๆ ในเวลาเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร และยังคาดหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลง 90 ฉบับ ใน 90 วัน
ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์กับช่องข่าวเศรษฐกิจของฟ็อกซ์นิวส์เมื่อวันศุกร์ว่า เบสเซนต์, เจมีสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และโฮเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีพาณิชย์จะสามาถทำข้อตกลงได้ 90 ฉบับ ใน 90 วัน และสุดท้ายแล้วประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นหัวหน้าการเจรจา และไม่มีอะไรที่ทำโดยเขาไม่ได้ดูด้วยความระมัดระวัง
ขณะที่อดีตผู้แทนการค้าสหรัฐฯ บอกว่า การตัดสินใจเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลาเจรจาอย่างจริงจังพอสมควร และไม่มีทางว่าภายใต้กรอบเวลาดังกล่าวจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่ครอบคลุมกับประเทศใด ๆ ได้เลย
ปกติแล้วข้อตกลงการค้าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมักใช้เวลาเจรจาหลายปี และหากทรัมป์จะเจรจากับทุกประเทศในช่วเวลาสั้น ๆ การจัดทำเอกสารข้อตกลงฉบับเต็มหรือเอกสารกรอบข้อตกลงก็เป็นงานช้างแล้ว
แม้การกลับลำอย่างกะทันของทรัมป์ที่ระงับภาษี 90 วันเพื่อเจรจาจะเป็นข่าวดี แต่การประกาศนโยบายแบบช็อกโลกก็สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลกไปแล้ว หลังจากตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก
และในกรอบเวลา 90 วันนี้ ความพยายามเรียกความเชื่อมั่นในตลาดเงินกลับคืนมาก็เป็นอีกความท้าทายอย่างมาก นอกจากนี้การบรรลุข้อตกลงที่ทั้งถูกใจทรัมป์ และตลาดเงินก็เป็นงานยากด้วยเช่นกัน นักวิเคราะห์ มองว่า ทีมทรัมป์ควรจัดลำดับความสำคัญของประเทศที่จะเข้าเจรจาและยืดเวลาระงับภาษี 90 วันออกไปอีก
แต่ตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในกระทรวงการคลังและสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ที่จะรับผิดชอบการเจรจายังไม่ได้รับการแต่งตั้ง และยิ่งกว่านั้นอีกหนึ่งปัญหา คือ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจุดยืนของนโยบายการค้าของทรัมป์ และที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์แต่ละคนมีความเห็นของตัวเอง
บางประเทศ เช่น อังกฤษ และออสเตรเลีย พยามเจรจาการค้ากับรัฐบาลทรัมป์ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม ยังมีความคืบหน้าน้อยมาก และนักการทูต มองว่า ภายใต้กรอบ 90 วัน คงทำได้แค่พูดคุย ยังไม่ใช่การเจรจาด้วยซ้ำ