รัฐมนตรีเศรษฐกิจของ 10 ชาติอาเซียน ออกแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมที่มาเลเซียในวันพฤหัสบดี (10 เมษายน) โดยยืนยันว่า อาเซียนจะยังเจรจาอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์กับสหรัฐฯ เพื่อคลี่คลายข้อกังวลเรื่องการค้า ท่ามกลางความผันผวนจากมาตรการภาษีตอบโต้ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน
นอกจากนี้อาเซียนจะไม่ดำเนินมาตรการตอบโต้ใด ๆ เพื่อตอบสนองต่อการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และสนับสนุนให้องค์การการค้าโลกเป็นเวทีของการเจรจา และย้ำบทบาทขององค์การการค้าโลกในการปกป้องความขัดแย้งทางการค้า และส่งเสริมแนวทางแก้ไขปัญหาภายใต้ความร่วมมือและการเคารพข้อบังคับ
ขณะที่หวัง เหวินเถา รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีน ร่วมการประชุมกับซาฟรุล อับดุล อาซิซ รัฐมนตรีพาณิชย์ การค้า และการลงทุนของมาเลเซีย ผ่านวิดีโอ โดยหารือทั้งเรื่องความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างจีนและมาเลเซีย และจีนกับอาเซียน และภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยยืนยันว่า จีนพร้อมร่วมมือกับชาติคู่ค้า ซึ่งรวมถึง อาเซียน และแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อรักษาระบบการค้าพหุภาคี
ทรัมป์ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน ให้ขึ้นภาษีขั้นพื้นฐานแก่สินค้านำเข้าจาก 185 ประเทศและดินแดนเป็นอัตรา 10% โดยเริ่มมีผลแล้วเมื่อวันที่ 5 เมษายน และเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราสูงกว่ากับอีกเกือบ 60 ประเทศและดินแดนด้วยอัตราไม่เท่ากัน โดยหลังภาษีตอบโต้เริ่มมีผลในวันที่ 9 เมษายนได้เพียงหลายชั่วโมง ทรัมป์สั่งระงับนาน 90 วัน แต่ยังขึ้นภาษีจีนเป็น 125%
ขณะที่นักวิเคราะห์ มองว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังดำเนินต่อไปจะส่งผลกระทบต่อชาติอาเซียน ที่เป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของจีน และฐานการผลิตของอาเซียนมีความเกี่ยวพันสูงมากกับซัพพลายเชนของจีน ขณะเดียวกันอาเซียนสามารถสร้างความแตกต่างได้ หากมีเอกภาพและแสดงจุดยืนที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และจะเป็นตัวแปรสำคัญในศึกช้างชนช้างครั้งนี้
ด้านโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น แถลงแสดงความยินดีกับการตัดสินใจล่าสุดของสหรัฐฯ เรื่องการชะลอภาษี แต่บอกว่า ญี่ปุ่นยังคงต้องการให้สหรัฐฯ ทบทวนเรื่องภาษีตอบโต้, ภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม และภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนด้วย
และนายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลูซอน ของนิวซีแลนด์ เผยว่า เขาจะพูดคุยกับผู้นำโลกคนอื่น ๆ เพื่อจับมือกันต่อต้านการจำกัดการส่งออกและปกป้องการค้าเสรีของโลก โดยหนึ่งความเป็นไปได้ คือ ชาติสมาชิกภายใต้ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP และสหภาพยุโรป ร่วมมือกันส่งเสริมการค้าที่ยึดหลักข้อบังคับและให้คำมั่นอย่างชัดเจนว่าจะสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติจริงอย่างไร
นอกจากนี้อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โพสต์ใน X ขานรับการสั่งระงับภาษี 90 วันของทรัมป์ โดยระบุว่า เป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจโลก และย้ำว่า สถานการณ์ที่คาดเดาได้และชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การค้าและซัพพลายเชนเดินหน้าได้ และกำแพงภาษีมีแต่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภค พร้อมกับย้ำให้มีข้อตกลงการปลอดภาษีศุลกากร (zero-for-zero tariff) ระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ และยังคงยืนยันต้องการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับสหรัฐฯ ขณะเดียวกันจะแสวงหาหุ้นส่วนการค้าที่หลากหลายมากขึ้น และพร้อมทำการค้ากับประเทศอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนรวมกัน 87% ของการค้าโลก