ศาลแขวงตะวันตกกรุงโซลมีคำสั่งในวันอังคาร (7 มกราคม) ให้ต่อเวลาหมายควบคุมตัวประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ที่มีอายุ 7 วัน และสิ้นสุดลงในเวลาเที่ยงคืนวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากได้รับคำร้องขอจากสำนักงานสอบสวนคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง หรือ ซีไอโอ แต่ซีไอโอไม่ได้เปิดเปิดเผยว่าศาลขยายเวลากี่วัน แต่คาดกันว่าอาจเกินกว่า 7 วัน เนื่องจากมีความท้าทายในการควบคุมตัว
ซีไอโอยื่นคำขอต่อศาลเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2566 ให้ออกหมายควบคุมตัวนายยุนเพื่อนำไปสอบปากคำข้อหาก่อกบฏและใช้อำนาจในทางมิชอบจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคม และศาลอออกหมายควบคุมตัวในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการออกหมายควบคุมตัวประธานาธิบดีที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่
แต่ความพยายามของชุดสอบสวนจากซีไอโอและตำรวจจำนวนหนึ่งเพื่อควบคุมตัวนายยุนที่ทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 3 มกราคมประสบความล้มเหลว เมื่อถูกขัดขวางจากหน่วยอารักขาประธานาธิบดี และประจันหน้ากันเกือบ 6 ชม. ก่อนถอนกำลังกลับ
โอ ทง วุน ผู้อำนวยการซีไอโอ แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันอังคาร โดยกล่าวขอโทษต่อประชาชนสำหรับความล้มเหลวในการควบคุมตัวนายยุน และน้อมรับความผิดชอบทั้งหมด หลังมีเสียงวิจารณ์ว่าขาดการเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการตามหมายศาล พร้อมกับยืนยันว่า จะเตรียมการอย่างรอบคอบสำหรับปฏิบัติการครั้งต่อไป ที่เชื่อว่าอาจเป็นโอกาสสุดท้าย
ขณะเดียวกันเขาวิจารณ์นายยุนและทำเนียบประธานาธิบดี โดยบอกว่า การขัดขวางการดำเนินการตามหมายศาลเข้าข่ายทำลายรากฐานของกฎหมายและความสงบเรียบร้อย และเป็นการกระทำที่สมควรได้รับการประณามอย่างรุนแรง
นอกจากนี้เขาตอบโต้อย่างหนักแน่นสำหรับข้อกล่าวหาว่า ซีไอโอไม่มีอำนาจสอบสวนข้อกล่าวหาก่อกบฏ โดยอ้างว่า การที่ศาลอนุมัติหมายควบคุมตัวตามคำขอของซีไอโอได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้ว
ด้านหน่วยอารักขาประธานาธิบดีกำลังเผชิญเสียงวิจารณ์อย่างหนัก หลังขัดขวางชุดสอบสวนเข้าควบคุมตัวประธานาธิบดี โดยอ้างว่าต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี แต่การที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและการตัดสินใจของศาล ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจำกัดอำนาจของหน่วยอารักขาประธานาธิบดี
และพรรคฝ่ายค้านกำลังผลักดันให้ยุบหน่วยงานอารักขาประธานาธิบดี โดยแสดงความกังวลว่า หน่วยงานนี้กำลังกลายเป็นกองทัพส่วนตัวของประธานาธิบดี และสัญลักษณ์ของระบอบเผด็จการ