ฝรั่งเศสจัดพิธีกรรมทางศาสนาในพิธีเปิดมหาวิหารนอเทรอดามในกรุงปารีสอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ โดยมีการลั่นระฆัง และอาร์คบิชอพทำพิธีเคาะประตู 3 ครั้ง เพื่อเปิดมหาวิหารอย่างเป็นทางการ หลังมหาวิหารได้รับการบูรณะจากไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยมีการแสดงแสงสีที่ฉายคำว่า merci (เมอร์ซี) ซึ่งหมายถึง ขอบคุณ ในภาษาฝรั่งเศส บนผนังด้านหน้าอาคาร เพื่อขอบคุณทั่วโลกที่มีส่วนช่วยบูรณะมหาวิหาร
พิธีเปิดจัดขึ้นโดยมีแขกผู้มีเกียรติราว 1,500 คน ซึ่งรวมถึงผู้นำโลกหลายสิบคนเข้าร่วม และประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครงของฝรั่งเศส กล่าวยกย่องการร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ผู้บริจาค และผู้สนับสนุนจากทั่วโลก ที่ทำให้สามารถฟื้นฟูมหาวิหารแห่งนี้ได้สำเร็จ โดยโครงการบูรณะได้รับเงินบริจาคจากทั่วโลกมากกว่า 840 ล้านยูโร
มหาวิหารนอเทรอดาม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมโกธิคจากสมัยศตวรรษที่ 12 ประสบไฟไฟม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 ทำให้ยอดแหลมและหลังคาโค้งพังถล่ม ท่ามกลางสายตาของชาวปารีสในบริเวณที่เกิดเหตุและผู้ชมทางทีวีทั่วโลก และภายหลังการบูรณะมีการสร้างยอดแหลม และหลังคาโค้ง รวมถึงซ่อมแซมหน้าต่างกระจกสีและหินแกะสลักให้กลับมางดงามตามเดิม
ประธานาธิบดีมาครงได้เชิญผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วมพิธีเปิด ซึ่งรวมถึง ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ, ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน, เจ้าชายวิลเลียม มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ และจิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ซึ่งได้รับเลือกจากทรัมป์ให้คุมกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลเข้าร่วมงานด้วย
ส่วนพิธีมิสซาครั้งแรกที่จะจัดขึ้นในมหาวิหารอายุ 860 ปีแห่งนี้จะจัดขึ้นในเช้าวันอาทิตย์ (8 ธันวาคม) ตามเวลาท้องถิ่น โดยประธานาธิบดีมาครงคาดว่าจะเข้าร่วมพิธีด้วย ส่วนประชาชนจะเริ่มเข้าร่วมพิธีมิสซาได้ในรอบค่ำของวันเดียว และบัตรเข้าร่วมพิธีมิสซาที่จะจัดขึ้นวันละ 2 รอบ ในสัปดาห์แรกจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็วภายใน 25 นาที
เมื่อวันเสาร์ประธานาธิบดีมาครงได้เชิญทรัมป์ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคม 2568 และเซเลนสกีเข้าร่วมหารือเป็นการส่วนตัวก่อนเข้าร่วมพิธีเปิดมหาวิหาร ท่ามกลางความกังวลของชาติยุโรปเกี่ยวกับท่าทีของทรัมป์ต่อสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
เซเลนสกีโพสต์ในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับผลการหารือเพียงสั้น ๆ ว่า การหารือสามฝ่ายเป็นไปด้วยดี และทั้งสามคนอยากเห็นสงครามยุติโดยเร็วเท่าที่เป็นไปได้และเป็นธรรม
และมาครง ซึ่งได้พบปะกับทรัมป์ตัวต่อตัว บอกด้วยว่า การเยือนของทรัมป์ถือเป็นเกียรติแก่ชาวฝรั่งเศส แต่การที่เขาเชิญทรัมป์ ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เข้าร่วมพิธีเปิดมหาวิหาร ทำให้ถูกวิจารณ์จากสื่อว่า เป็นการ “รัฐประหารทางการทูต”
มาครงเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่โทรศัพท์แสดงความยินดีกับทรัมป์หลังการเลือกตั้ง และทั้งสองมีความสัมพันธ์ส่วนตัวอันดีในช่วงที่ทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก จนถูกเรียกว่า ความสัมพันธ์แบบ bromance หรือมิตรภาพลูกผู้ชาย