สำนักงานของคาริม ข่าน อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เปิดเผยในวันพุธ (27 พฤศจิกายน) ว่า พบหลักฐานที่เชื่อได้ว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ยึดอำนาจบริหารประเทศผ่านการรัฐประหารเมื่อปี 2564 มีส่วนรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการกดขี่ข่มเหงและการเนรเทศกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา โดยเกิดขึ้นทั้งในเมียนมา และบางส่วนเกิดขึ้นบังกลาเทศ
สำนักงานอัยการใช้เวลาสอบสวนนาน 5 ปี เกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2559-2560 โดยกองทัพเมียนมาปราบปรามชาวโรฮิงญาที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมอย่างหนัก ส่งผลให้อย่างน้อย 700,000 คน อพยพข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ ท่ามกลางรายงานข่าวว่ามีการเข่นฆ่า การทารุณ การข่มขืน และการวางเพลิง
แถลงการณ์ของนายข่าน ระบุว่า สำนักงานอัยการ กล่าวหาว่า อาชญากรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 25 สิงหาคม 2560-31 ธันวาคม 2560 โดยการกระทำของกองทัพเมียนมา และได้รับการสนับสนุนจากตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน และพลเรือนที่ไม่ใช่ชาวโรฮิงญา
แต่ที่ผ่ามาเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยโต้แย้งว่า กองกำลังฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติการอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธที่โจมตีสถานีตำรวจหลายแห่ง
ต่อจากนี้ผู้พิพากษาของ ICC จะตัดสินใจว่าจะอนุมัติหมายจับหรือไม่ ซึ่งไม่มีกรอบเวลาชัดเจน แต่โดยทั่วไปใช้เวลาราว 3 เดือน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่อัยการ ICC ยื่นขอหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมา และนายข่าน กล่าวขณะอยู่ที่ค่ายผู้อพยพโรฮิงญาในบังกลาเทศ โดยให้คำมั่นว่า จะมีการออกหมายจับรายอื่น ๆ อีก
เมียนมาไม่ใช่ภาคีสมาชิกของ ICC แต่ในปี 2561 และ 2562 ผู้พิพากษาชี้ขาดว่า ศาลมีเขตอำนาจศาลที่สามารถพิจารณาคดีอาชญากรรมข้ามพรมแดน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในบังกลาเทศที่เป็นสมาชิกของ ICC และอัยการสามารถเปิดการสอบสวนอย่างเป็นทางการได้
ก่อนหน้านี้ในปี 2565 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของสหประชาชาติ เริ่มดำเนินคดีต่อเมียนมา หลังจากได้รับการฟ้องร้องจากแกมเบีย โดยเป็นการสอบสวนข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา