การประชุมของคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยมลพิษพลาสติก ครั้งที่ 5 หรือ INC-5 เปิดฉากขึ้นที่เมืองปูซานของเกาหลีใต้ในวันจันทร์ (25 พฤศจิกายน) โดยมีผู้แทนจาก 175 ประเทศ, องค์กรระหว่างประเทศ, อุตสาหกรรมพลาสติก และผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมหารือจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม
INC ก่อตั้งขึ้นในปี 2565 ภายใต้มติของสหประชาชาติ เพื่อจัดทำสนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับแรก ที่มีผลผูกมัดทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้คำมั่นยุติมลพิษพลาสติกภายในปี 2573 โดยจะร่วมกันวางแนวทางอย่างครอบคลุมเพื่อแก้ไขปัญหาพลาสติกอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การบริโภค และการกำจัด รวมไปถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์จากมลพิษพลาสติก
ส่วนการเจรจา 4 ครั้งที่ผ่านมา มีความคืบหน้าน้อยมากเนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องขอบเขตของข้อบังคับ ซึ่งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ และประเด็นขัดแย้งหลัก คือ จะออกข้อบังคับจำกัดการผลิตโพลีเมอร์พลาสติก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่มีที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือไม่
บางประเทศอย่าง อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น รวมถึง สหภาพยุโรป ภายใต้กลุ่มแนวร่วมเป้าหมายสูง (High Ambition Coalition -HAC) เรียกร้องให้ออกมาตรการจำกัดการผลิตพลาสติก ส่วนเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคพลาสติกรายใหญ่ อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ขณะที่แนวร่วมเพื่อพลาสติกยั่งยืน (The Global Coalition for Plastics Sustainability) ที่ประกอบด้วยประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ อย่าง ซาอุดิอาระเบีย โต้แย้งว่า ควรให้ความสำคัญกับวิธีจัดการขยะพลาสติกและการส่งเสริมการรีไซเคิลมากกว่า
ส่วนสหรัฐฯ แสดงจุดยืนเมื่อเดือนสิงหาคมว่า จะสนับสนุนให้กำหนดเรื่องจำกัดการผลิตพลาสติกไว้ในสนธิสัญญา แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งในเดือนมกราคมปีหน้า จะกลับลำเรื่องนี้หรือไม่ โดยในสมัยแรกเขาถอนตัวจากข้อตกลงพหุภาคีหลายฉบับ และปฏิเสธให้คำมั่นชะลอหรือหยุดการผลิตน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
อย่างไรก็ตามอิงเกอร์ แอนเดอร์เซน กรรมการบริการของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ แสดงความมั่นใจว่า การประชุมครั้งนี้จะจบลงด้วยการบรรลุข้อตกลง หลังจากแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี20 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรียกร้องให้จัดทำสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่มีผลผูกมัดทางกฎหมายให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้