การพบบอลลูนขนาดใหญ่ของจีนลอยอยู่เหนือความสูงในระดับ 60,000 ฟุต ในหลายรัฐของสหรัฐฯ มื่อวันศุกร์ (3 กุมภาพันธ์ 2566) โดยพื้นที่แรกที่พบคือรัฐมอนทานา ได้ส่งผลให้นายแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยกเลิกการเยือนจีนกะทันหันเมื่อวันศุกร์ (3 กุมภาพันธ์ 2566) และเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากมองว่าบอลลูนสอดแนมของจีนเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และแทนที่จะได้ไปเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อเสริมสร้างการสื่อสารและความร่วมมือระหว่างสองประเทศ กลับกลายเป็นการที่นายบลิงเคนต้องโทรศัพท์ถึงนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อตำหนิเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ และเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ และกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งบ่อนทำลายวัตถุประสงค์ของการเดินทางเยือนปักกิ่งของเขา
นายบลิงเคน มีกำหนดเดินทางเยือนจีนเมื่อคืนวันศุกร์ เพื่อพบปะกับนายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และหวังว่าจะได้เข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิงด้วย ซึ่งการยกเลิกการเยือนได้มีขี้น แม้ว่ากระทรวงต่างประเทศของจีนจะยืนยันว่า บอลลูนที่พบเป็นเพียง "เรือเหาะ" (airship) ของพลเรือนที่ถูกส่งขึ้นไปเพื่อตรวจสอบสภาพอากาศและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่ถูกพัดออกไปนอกเส้นทาง อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจแสดงความรับผิดชอบได้ ซึ่งสวนทางกับความเห็นของเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หลายคน ที่เชื่อว่าเป็นบอลลูนสอดแนมที่ถูกส่งเข้าไปลอยอยู่เหนือพื้นที่อ่อนไหวเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง โดยเฉพาะบริเวณที่ตั้งคลังแสงของฐานทัพอากาศมาล์มสตอร์ม (Malmstrom Air Force Base) ซึ่งเป็นที่ตั้งไซโลเก็บขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งล่าสุดพบว่าบอลลูนลอยไปอยู่เหนือเมืองแคนซัส ซิตี้ รัฐมิสซูรี
ตอนแรกกระทรวงกลาโหมได้พิจารณาจะยิงทิ้งบอลลูนสอดแนม โดยใช้เครื่องบินขับไล่ F-22 แต่ยกเลิกการตัดสินใจตอนที่เสนอรายงานสรุปต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน หลังจากมีการหารือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่รวมทั้งพลเอกมาร์ค มิลลีย์ ประธานเสนาธิการทหารร่วม และนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม โดยพิจารณาจากอันตรายที่จะเกิดกับชาวอเมริกันที่อยู่ทางพื้นดิน ในกรณีที่เศษชิ้นส่วนของบอลลูนที่มีขนาดใหญ่เท่ากับรถบัสรับส่งนักเรียน 3 คัน รวมกัน ถูกยิงให้ระเบิดกลางอากาศและตกสู่พื้นดิน และจากการประเมินก็พบว่าบอลลูนสอดแนม สามารถรวบรวมข้อมูลที่อ่อนไหวได้อย่างจำกัดเมื่อเทียบกับดาวเทียมจารกรรมของจีน
นอกจากความเคลื่อนไหวตื่นตัวทางฝั่งของรัฐบาลแล้ว เครือข่ายโซเชียลมีเดียของอเมริกันก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน โดยพบว่ามีการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องในกูเกิล เช่น "ตอนนี้บอลลูนสอดแนมอยู่ที่ไหนแล้ว" (where is the spy balloon now?) และ "ตามติดบอลลูนสอดแนม" (spy balloon tracker) หลายคนพยายามจะได้ภาพบอลลูนที่ชัดที่สุด โดยใช่กล้องส่องทางไกลหรือใช้เลนส์เทเลโฟโต (telephoto lenses) หรือเลนส์ระยะไกลที่ใช้สำหรับถ่ายวัตถุที่อยู่ไกลเกินกว่าจะเข้าไปใกล้ได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังส่งผลให้แคนาดาต้องตื่นตัวและเฝ้าติดตามบอลลูน ซึ่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้รับรายงานล่าสุดว่า บอลลูนได้ลอยเข้าไปในแถบละตินอเมริกา แต่ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นน่านฟ้าของประเทศใด