svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เมนูพื้นถิ่นกินได้ 'สาหร่ายขนนก' ราคาพุ่ง 250 บาท/กก.

เกษตรกรรุ่นใหม่เพาะขยายพันธุ์สาหร่ายขนนก อาหารพื้นถิ่นหายากสามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี โดยใช้นวัตกรรมการเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด พร้อมส่งต่อชุมชนสร้างรายได้

อีกหนึ่งขั้นความสำเร็จของเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่คิดค้นต่อยอดการเพาะพันธุ์สาหร่ายให้เลี้ยงได้ตลอดปี โดยที่วศินะฟาร์ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านควนสำราญ ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งมีนายวศินะ รุ่งเรือง หนุ่มสตูลดีกรีปริญญาโทสาขาประมง วัย 28 ปี นำชมโรงเรือนเลี้ยงสาหร่ายขนนก หรือ ภาษาถิ่นเรียกว่า ลาโตส  ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเลี้ยงสาหร่ายขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดบนพื้นที่ 30 ไร่ แห่งเดียวในจังหวัดสตูลเป็นการนำสาหร่ายในธรรมชาติผ่านการเพาะเลี้ยงแบบอินทรีย์ในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดจนสามารถเลี้ยงสาหร่ายลาโตสจากพ่อแม่พันธุ์ธรรมชาติ ให้เกิดเป็นสปอร์ในโรงเรือนแบบปิดได้หลายต่อหลายรุ่น

เจ้าของวศินะฟาร์ม บอกว่า จากการลองผิดลองถูกขยายต้นอ่อนสู่ระบบการเลี้ยงในฟาร์มนับเป็นความท้าทาย และมุ่งมั่นกว่าจะมาเป็นวันนี้สาหร่ายขนนก มีการดูแลคล้ายปะการังที่อ่อนไหวง่าย การเพิ่มคาร์บอนธาตุเพื่อการสังเคราะแสงในพืช อาหารจุลินทรีย์ย่อยเป็นแร่ธาตุไนโตรเจน ซึ่งการเลี้ยงจะใช้ 1 ตะกร้ามีสาหร่ายฯ 100 กรัม ผ่านไป 2 สัปดาห์จะมีสาหร่ายเพิ่มขึ้น 300 กรัมทำให้ตัดแยกและแตกยอดใหม่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะส่งขายกิโลกรัมละ 200- 250 บาท โดยในอนาคตสามารถต่อยอดส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย

สำหรับสาหร่ายขนนก 1 ปีมีให้รับประทานเพียง 3 เดือนที่เป็นช่วงฤดูแล้งและร้อนจัดเท่านั้น สาหร่ายชนิดนี้มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ทำให้ต้องทานแบบสด ๆ ไม่สามารถนำไปแช่ตู้เย็นได้ และเป็นอาหารท้องถิ่นชั้นเลิศ และมีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามิน ไอโอดีน และ กรดอะมิโนหลายชนิดที่พืชบกไม่มีด้วย