7 เมษายน 2568 ความคืบหน้าเหตุตึกสตง.ถล่ม ที่ขณะนี้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างตึก สตง. เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568
ซึ่งต่อมามีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย และมีการประชุมเปิดคดีของคณะพนักงานสอบสวนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดประเด็นการสอบสวน แนวทางการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน สำหรับนำเข้าสำนวนคดี ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า สำหรับการลงพื้นที่เกิดเหตุ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีมติให้ประสานกับ กทม. เพื่อเตรียมเข้าพื้นที่ทำงานร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นต้น แต่เนื่องจากตอนนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญอันดับแรก คือการบรรเทาสาธารณภัย แต่เราก็ต้องประสานการปฏิบัติงาน เรื่องพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า หากดีเอสไอได้รับการประสานเพื่อเข้าพื้นที่ คาดว่า เจ้าหน้าที่กรมโยธาฯ จะดูในเรื่องของโครงสร้าง ส่วนสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ดูเรื่องเหล็ก ปูนนั้น เราก็จะต้องประสานเช่นเดียวกัน เพราะทราบว่า ทางเจ้าหน้าที่ สมอ. ได้เข้าไปปฏิบัติในพื้นที่ก่อนแล้ว รวมทั้งต้องขอเอกสารสรุปผลรายงานการตรวจสอบคุณภาพเหล็กเส้น ที่ใช้ในโครงการก่อสร้างด้วย
พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกดีเอสไอ
พ.ต.ต.วรณัน บอกด้วยว่า อยากประชาสัมพันธ์ขอให้กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่ชาวไทยทั้ง 3 ราย ให้ความร่วมมือ เข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพราะการหลบซ่อนย่อมไม่เป็นผลดี อีกทั้งตอนนี้ยังไม่ได้มีรายใด เป็นผู้กระทำถูกหรือผิด เพียงแต่ต้องมีการอธิบายถึงสถานะของพวกเขา กับการเข้าไปเกี่ยวข้อง กับการทำธุรกิจขนาดใหญ่แบบนั้น
นอกจากนี้ ในเรื่องของการขยายผลไปดูฐานการฟอกเงินนั้น อันดับแรก หากจะมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน จะต้องมีความผิดมูลฐานปรากฏก่อน ยกตัวอย่างหากมีประเด็นเรื่องคดีฮั้วประมูลเกิดขึ้น ก็จะขยายฐานความผิดเรื่องฟอกเงินได้ เป็นต้น หรือปรากฏตาม 28 ประเภทความผิดกฎหมายฟอกเงิน
พ.ต.ต.วรณัน เผยถึงความคืบหน้าเรื่องการเสนอแต่งตั้ง ที่ปรึกษาคณะปรึกษาคดีพิเศษ โดยมติของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ว่า สำหรับคณะปรึกษาคดีพิเศษ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา รวม 6 ราย ประกอบด้วย
1.ที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบสวนและการฟ้องคดี คือ นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ ผู้ตรวจการอัยการ และนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานสูงสุด
2.ที่ปรึกษาคดีพิเศษ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสอบสวนคดีพิเศษ คือ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
3.ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี คือ น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้สอบบัญชีสรรพากร
4.ที่ปรึกษาคดีพิเศษที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) - Anti-Corruption Organization of Thailand คือ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างวิศวกรโยธา
5.ดร.ธเนศ ศรีศิริโรจนากร ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างวิศวกรปฐพี เพื่อร่วมทำการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษในทุกมิติ
มีรายงานคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ วันพรุ่งนี้ (8 เม.ย.) เวลา 09.30 น. ที่ ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 7 กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไ ด้มีการเรียกสอบปากคำผู้รับเหมาช่วง 28 โครงการ ที่จีนได้มีการว่าจ้าง ว่าเป็นการว่าจ้างอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกรณีของบริษัท 9PK จำกัด ที่วานนี้ (6 เม.ย.) ได้มีผู้รับเหมาช่วง มาร้องเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกเบี้ยวค่าแรง ซึ่งระหว่างนี้พนักงานสอบสวน จะต้องทำการตรวจสอบหนังสือเอกสารสัญญาก่อน เพื่อดูรายละเอียดว่า มีการระบุเรื่องสัญญากันอย่างไรบ้าง สัญญาจ้างรับเหมาช่วงมีเนื้อหาอย่างไร รวมถึงบริษัทดังกล่าวได้เข้าไปรับจ้างเหมาช่วงได้อย่างไร เพราะปกติแล้วกรณีดังกล่าวจะไม่สามารถรับจ้างเหมาช่วงได้