4 เมษายน 2568 จากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศพม่า ส่งให้ภาคเหนือและภาคกลาง ของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน หลายพื้นที่ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะอาคารสูง โดยเฉพาะเหตุตึก สตง.ถล่ม ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ย่านจตุจักร มีคนงานเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก เมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568
ต่อมา สมอ.ตรวจสอบพบว่าเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน โดยพบว่าบริษัทก่อสร้างดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งเป็นบริษัททุนจีน และในเวลาต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รับคดีตึก สตง.ถล่ม เป็นคดีพิเศษแล้ว
ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ได้งานก่อสร้างของรัฐไปกว่า 20 โครงการ มีข่าว “ซับฯงาน” ไปให้บริษัทรับเหมาของลูกหลานนายหทารใหญ่ แต่ยังไม่ชัดว่ามีเอี่ยวกับตึก สตง.ถล่ม ด้วยหรือไม่ ทำให้มีคำถามว่า ตัว บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ประมูลงานจำนวนมากไปทำไม และการซับฯงานต่อเป็นทอดๆ แบบนี้ กฎหมายเปิดให้ทำได้หรือไม่
โดย รายการข่าวข้นคนข่าว ทางเนชั่นทีวี ได้คุยกับ อัยการระดับสูง เกี่ยวกับข้อกฎหมาย กรณีการจ้างบริษัทอื่นมารับช่วงต่อ ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐ เพื่อไขความกระจ่าง
โดยอัยการ ให้ข้อมูลว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะสัญญาส่วนมากมีเขียนไว้ว่าสามารถจ้างช่วงได้ เเต่จะต้องได้รับอนุญาตจากคู่สัญญาเสียก่อน กรณีนี้ก็คือ สตง. ถ้าหาก สตง.อนุญาตก็ไม่มีปัญหา เเต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้รับจ้างช่วงต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
เเต่ถ้ามีทำลักษณะเป็นนายหน้า ประมูลงานเพื่อนำมาเเบ่งบริษัทในเครือข่ายทำ โดยใช้ช่องทางกฎหมายที่ว่า ตัวเองมีฐานของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูง อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ นำตรงนี้ไปใช้ประมูลงานมา แล้วมี พฤติการณ์ชัดๆ ว่าประมูลงานเพื่อนำไปขายต่อ กินเปอร์เซ็นต์ แบบนี้อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฮั้วประมูล ได้เหมือนกัน เเต่จะเอาผิดได้ ต้องมีข้อเท็จจริงพิสูจน์อย่างชัดเจน
เท่าที่ทราบตามข่าวคือ การประมูลงานก่อสร้างตึก สตง. เป็นการจับคู่ระหว่างอิตาเลียนไทย กับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ไปร่วมประมูลได้งานมา ไม่ใช่การนำงานมาขายต่อ หากจะกล่าวหา ข้อเท็จจริงก็ยังไม่ชัด ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเข้าข่ายฮั้วประมูลหรือไม่
ทางออกของเรื่องนี้ คือ สตง.ต้องเปิดสัญญาให้สังคมได้พิจารณาอย่างโปร่งใส ถ้าเปิดสัญญาก็จะบอกได้ว่า 2 บริษัทนี้ มีสถานะต่อกันอย่างไร มีการปล่อยบริษัทอื่นรับช่วงงานต่อหรือไม่