27 มีนาคม 2568 เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 1 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 (ตม.1) พ.ต.อ.ระพีพัฒน์ อุตสาหะ รอง.ผบก.สตม.1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สตม.1 แถลงผลการปฏิบัติการ ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ความผิดเกี่ยวกับคนเข้าเมือง "เปิดปฏิบัติการเด็ดปีกแก๊งเวียดนาม ลอบขนคนจีนเถื่อนซุกกลางกรุง" จับกุม 7 ผู้ต้องหา
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากต่างด้าวสัญชาติจีนที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ว่ามีญาติที่อาศัยอยู่ประเทศจีนติดต่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากบุตรชายของญาติเชื่อว่า ถูกกลุ่มมิจฉาชีพล่อลวงว่าจะพาไปทำงานที่ประเทศเมียนมา จึงได้ทำการสืบสวน โดยพบว่าสัญญาณ GPS พิกัดสุดท้ายที่ส่งมาให้กับผู้เป็นบิดาที่อยู่ประเทศจีนนั้น เป็นย่านชุมชนในเขตหัวหมาก จึงนำกำลังเข้าปิดล้อม ก่อนตรวจพบชายชาวจีน 6 คน ซึ่งทั้ง 6 คนไม่มีหนังสือเดินทาง โดยมีชายชาวเวียดนาม เป็นผู้คอยนำอาหารมาส่ง
จากคำให้การทราบว่า เหยื่อชาวจีนรายดังกล่าว ได้มีการพูดคุยผ่านนายหน้าจัดหางาน ที่ล่อลวงว่าจะพาไปทำงานที่เมียนมาผ่านแอพพลิเคชั่นหนึ่ง โดยยินยอมสมัครใจที่จะเดินทางไปทำงานประเทศเมียนมาตามคำชักชวนของนายหน้า และได้มีการนัดติดต่อกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว เพื่อลักลอบเดินทางออกจากประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2568 โดยออกจากเมืองหนานหนิง โดยสารเรือเล็กมาขึ้นที่ฝั่งประเทศเวียดนาม จากนั้นเดินทางด้วยรถยนต์มายังกัมพูชา ลักลอบเดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติพื้นที่จังหวัดตราด เมื่อเข้ามาภายในประเทศไทยแล้ว จึงถูกส่งตัวมาพักอาศัยในห้องเช่าลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ อยู่บริเวณย่านชานเมืองกรุงเทพฯ เพื่อรอส่งตัวไปเมียนมา ซึ่งเหยื่อรู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะในการเดินทางแต่ละครั้งกลุ่มคนดังกล่าว จะกระทำแบบลับๆ มีการเปลี่ยนรถยนต์กลางทาง 2-3 ครั้ง จึงรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย และได้แจ้งพิกัดสุดท้ายให้กับบิดาที่ประเทศจีน จึงนำมาสู้การปิดล้อมดังกล่าว
ขณะที่ ชายชาวเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ที่นำอาหารมาส่งให้กับชาวจีนทั้ง 6 รายนั้น เจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจสอบหนังสือเดินทางพบว่า เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ผ่านจุดผ่านแดนบ้านคลองลึกด่าน ตม.จังหวัดสระแก้ว ซึ่งได้รับการตรวจลงตราและการอนุญาตยังไม่สิ้นสุด
จากการสอบปากคำ ชายชาวเวียดนาม ให้การปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว แต่ยอมรับว่าได้รับการว่าจ้างจากชาวเวียดนามรายหนึ่ง ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการหาคนเวียดนามที่สามารถพูดภาษาไทย และอยู่ในประเทศไทย จึงสนใจและติดต่อไป
จากนั้นผู้ว่าจ้างได้โทรติดต่อมาให้ทำหน้าที่จัดการรับคนต่างด้าวมาพักในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้ค่าตอบแทนรอบละประมาณ 3,000-5,000 บาท เมื่อตกลงรับงานแล้ว จะมีคนขับรถพากลุ่มคนจีนมาส่ง ตนมีหน้าที่ในการจองห้องพัก ,รับกุญแจ ,เปิดห้องพัก ,จ่ายเงินค่าเช่า และคอยส่งข้าว ,น้ำ ,อาหาร ให้กับต่างด้าวชาวจีนเท่านั้น ซึ่งทำมาแล้ว 3-4 ครั้ง
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาชายชาวเวียดนามในความผิดฐาน "ให้เข้าพักอาศัยซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย พ้นจากการจับกุม ส่วนชาวจีนทั้ง 6 คน ได้แจ้งข้อกล่าวหา "เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ผ่านการตรวจลงตราของพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ณ ช่องทางอนุญาตตามกฎหมาย"
นอกจากนี้ จากการสืบสวนถึงผู้ร่วมขบวนการพบว่า มีชาวไทย 2 ราย และชาวเวียดนาม อีก 1 ราย ซึ่งทราบชื่อของทั้ง 3 รายแล้ว ขณะที่ทางการสืบสวนเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวมีชาวจีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และอยู่ระหว่างการขยายผล
พ.ต.อ.ระพีพัฒน์ อุดสาหะ รอง ผบก.ตม.1 เปิดเผยว่า ส่วนการปูพรมตรวจคาราโอเกะ-บาโฮสต์ ทั่วกรุงเทพฯ รวบต่างด้าวเกินครึ่งร้อย เรื่องนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน จากนั้นทางตำรวจจึงได้ให้สายลับเข้าไปใช้บริการ การที่ให้สายลับเข้าไปแฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยวแบบนี้ จะได้รู้ว่าใครทำงานบ้าง เพราะถ้าตำรวจไปบุกจับเลย ต่างด้าวจะอ้างได้ว่ามาเที่ยวไม่ได้มาทำงาน จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการประชุมกัน กำหนดเป้าหมาย 10 จุด เป็นร้านอาหารที่เปิดเป็นคาราโอเกะ บาโฮสต์ ที่ให้พนักงานทั้งชายและหญิงร่วมดื่มกับลูกค้า
โดยเป้าหมาย 10 จุด กำหนดหลัก ๆ ในเขต บางบอน, บางขุนเทียน, คลองเตยใกล้ท่าเรือ และร่มเกล้ารอยต่อมีนบุรี-ลาดกระบัง เพราะเป็นพื้นที่ครอบคลุม กทม. จากนั้นคืนที่ 24 ต่อเนื่อง 25 มี.ค.2568 เมื่อไปถึงจุดหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจพบสถานที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นห้องทึบ บางแห่งมีการกั้นเป็นห้องส่วนตัวแบบห้อง VIP มีเวทีและจอคาราโอเกะสำหรับร้องเพลง และมีบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยหญิงสาว และมีบริกรเพศชายกำลังทำหน้าที่เอนเตอร์เทนลูกค้า
ทั้งนี้ ในการตรวจค้นทุกจุด ไม่มีจุดไหนไม่ประสบความสำเร็จ ในทุกร้านที่เข้าตรวจ พบคนต่างด้าวทุกร้าน รวมทั้งหมด 58 คน ในจำนวนนี้ มีคนเวียดนาม 4 คน ที่เหลือเป็นคนลาวทั้งหมด ตำรวจมีการแจ้งข้อหา "หลบหนีเข้าเมือง และอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด และในบางรายมีการแจ้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เข้ามาแบบวีซ่า 60 วัน ที่ไม่ได้รองรับการอนุญาตทำงาน
พ.ต.อ.ระพีพัฒน์ อุตสาหะ รอง ผบก.ตม.1 กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "เดี๋ยวนี้ร้านคาราโอเกะเริ่มเปลี่ยนเป็นบาร์โฮสต์แล้วในส่วนใหญ่ บาร์โฮสต์จะมีบริกรชายคอยเอนเตอร์เทน ส่วนคาราโอเกะก็มีบริกรหญิงคอยเอนเอตร์เทนเช่นกัน และที่ร้านเหล่านั้ต้องจ้างคนต่างด้าวอาจเกี่ยวกับราคาการจ้าง
ส่วนแนวโน้มการก่ออาชญากรรมของต่างด้าว จะสังเกตได้ว่าห้วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทย แต่หากถ้ามีคนรวมตัวกันเยอะๆในบางพื้นที่ ก็อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้ แต่การดึงดูดนักท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องที่ดี ช่วงก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศสูงถึง 45 ล้านคนต่อปี แต่ในช่วงปี 2566-2567 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 19 ล้านคน เป็นยอดที่ไม่สูงมาก แต่ก็ต้องมีการป้องกันอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ทาง ตม. ได้มีการประชาสัมพันธ์ทั้งแผ่นภาพ และข้อความวิ่ง เพื่อแจ้งเตือนเรื่องการกระทำผิดกฎหมายและการถูกล่อลวงไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น