3 มกราคม 2567 ความคืบหน้ากรณีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (สยาม) จัดโครงการฉาวอบรมอาสาตำรวจคนจีน เก็บค่าอบรมหัวละ 38,000 บาท มีตำรวจ กก.สส.บก.น.3 เป็นวิทยากร หลังจบหลักสูตรมอบเสื้อกั๊กตำรวจ บัตรอาสาตำรวจ ทำให้สังคมตั้งคำถามทำได้หรือไม่ ล่าสุดที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 (บก.น.3 ) พล.ต.ต.เกียรติกุล สนธิเณร ผบก.น.3 พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ วันที รอง ผบก.น.3 ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว ได้เรียก ดร.หลี่ จาง (Dr.LI ZHANG) ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม และนักศึกษาจีน 3 คน เรียนระดับปริญญาโท ที่เข้าอบรมโครงการ และผู้จัดอบรม มาชี้แจงข้อเท็จจริง และใช้เวลาสอบสวนเกือบ 6 ชั่วโมง ก่อนทั้งหมดจะขึ้นรถคันเดียวกันกลับออกไป
พล.ต.ต.เกียรติกุล สนธิเณร ผบก.น. 3 เปิดเผยว่า วันนี้มีการสอบปากคำ 3 ส่วนคือ อาจารย์ชาวจีน ผู้จัดอบรมชาวจีนที่เอาบุคคลภายนอกเข้ามาอบรม และ นักเรียนนักศึกษาที่เข้าอบรม โดยวันนี้เป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว จะนำผลสอบข้อเท็จจริงไปรายงานให้กับผู้บัญชาการตำรวจนครบาลทราบ ในส่วนของนักศึกษาและอาจารย์ให้การว่า การเข้าอบรมในครั้งนี้ มี 27 คน เป็นชาวจีน 26 คน คนไทย 1 คน มีชาวจีน 13 คน เรียนทุนศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสยาม ส่วนอีก 13 คน เป็นคนนอก ที่ถูกเรียกเก็บเงิน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า เงินที่เก็บมานั้นเอาไปให้กับผู้ใด หรือมีการเรียกเก็บเงินจริงตามที่ทั้ง 13 คนกล่าวอ้างหรือไม่
ส่วน ดร.หลี่จาง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติมหาวิทยาลัยสยาม จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ผู้จัดอบรม แต่มีผู้จัดอีกคนที่เป็นชาวจีนเหมือนกัน ซึ่งก็มีส่วนเกี่ยวข้องกันโดยให้สมาชิกแจ้งข่าวเพื่อให้ชาวจีน ช่วยเหลือคนจีนที่ทำการค้าในไทย โดยเรื่องนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังไม่ได้มีการสอบถามมหาวิทยาลัยว่า ทราบเรื่องดังกล่าวหรือไม่
ส่วนตำรวจ 2 นายที่เข้าเกี่ยวข้องนั้น จากการสอบเบื้องต้น ทราบว่า ผู้จัดอบรมที่เป็นคนจีนรู้จักกับรองผู้กำกับสืบสวนนครบาล 3 เชิญไปเป็นวิทยากร และทางรองผู้กำกับก็ได้มีการขออนุญาตผู้กำกับสืบสวนนครบาล 3 เท่านั้น ยังไม่มีหนังสือมาถึงระดับผู้บังคับการ จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกมิติอีกครั้งว่า นายตำรวจทั้งสองคนมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ นอกเหนือจากการเป็นวิทยากรหรือไม่ ถ้าหากมีมูลจะพิจารณาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตั้งกรรมการสอบวินัยและอาญา
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น.มีการเซ็นคำสั่งให้ตำรวจทั้ง 2 นาย คือ พ.ต.อ.นิเวชร์ งามลาภ ผกก.สืบสวน บก.น.3 และ พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ช่วยวงศ์ รองผกก.สืบสวน บก.น.3 ย้ายเข้าไปปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจนครบาล ศปก.บช.น. โดยขาดจากตำแหน่งเดิม เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขิงคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (3 ม.ค.) เป็นต้นไป
เปิดข้อมูลการสอบข้อเท็จจริง จัดอบรมอาสาตำรวจให้ชาวจีน พบซื้อเสื้อกั๊ก-ป้าย-หมวกตราโล่ห์ หลังกระทรวงกลาโหม
นอกจากนี้นักข่าวยังได้ข้อมูลจาก คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ด้วยว่า เบื้องต้นวันนี้ มีการเรียกชาวจีนมาสอบปากข้อเท็จจริง 5 คน คือ นักศึกษาปริญญาโทชาวจีน ม.สยาม 3คน /อาจารย์หลี่ชาง /นาย Li Ming Long (หลี่หมิงหลง) ตำแหน่งของคนนี้ตามนามบัตร คือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมการค้าวาณิชธุรกิจไทย-จีน
ตอนแรกนายหลี่หมิงหลง คนนี้แฝงตัวอ้างว่าจะมาเป็นล่าม แต่ตำรวจพบข้อมูลว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง จึงได้ซักถามละเอียด โดยในช่วงแรก นายหลี่หมิงหลง ไม่ยอมให้การใดๆ และอ้างว่าสมาคมออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และก่อนหน้านี้จะไปอบรมที่พัทยา แต่โรงแรมไม่ว่าง แต่ภายหลังก็ยอมให้การ ซึ่งจากการสอบข้อเท็จจริง พบข้อมูลว่า นายหลี่หมิงหลง หลังจากไม่สามารถไปจัดอบรมที่พัทยาได้ ก็มาปรึกษากับ อาจารย์หลี่ชาง ที่เป็นอาจารย์ของ ม.สยาม เพราะอาจารย์หลี่ชาง ก็มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสมาคมฯ ด้วย
อาจารย์หลี่ชาง จึงให้ใช้สถานที่ ม.สยาม แล้ว โดยหตุผลที่ให้จัดที่อบรมมหาวิทยาลัยสยาม เพราะจะได้ไม่ต้องเช่าสถานที่ และมีนักศึกษาชาวจีน อาจารย์ชาวจีน หลายคนที่สนใจอบรมเป็นสมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรมและปัญหาการจราจร กับนักศึกษา ประกอบกับประเทศจีนประสานงานมาที่สมาคมฯ ช่วยคุ้มครองดูแลคนจีน ที่เป็นนักศึกษาปริญญาโท ม.สยาม ทางสมาคมฯ เลยต้องการให้ชาวจีนได้รับความปลอดภัย เพราะในบัตรที่ผ่านการอบรม ด้านหลังจะมีเบอร์แจ้งเหตุต่างๆ
จากนั้น อาจารย์หลี่ชาง ก็ติดต่อมายัง พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ รองผู้กำกับสืบสวน บก.น.3 เพื่อขอคำแนะนำว่า ถ้ามีการจัดอบรมแล้วจะออกบัตรแจ้งข่าวอาชากรรม รถติด ปัญหาจราจร จะต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะรู้จักกัน ซึ่ง ตำรวจ บก.น.3 ก็ให้คำแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องไป และตำรวจ บก.น.3 ได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรในวันเปิดอบรม ตำรวจจึงได้เดินทางไป
และจากการสอบข้อเท็จจริง ยังพบว่า การจัดอบรมครั้งนี้ มีบุคลาการของมหาวิทยาลัยสยาม 14 คน เป็นนักศึกษาชาวจีน 7 คน อาจารย์ชาวจีน 6 คน อาจารย์คนไทย 1 คน และเป็นคนนอกที่เป็นชาวจีน 13 คน โดยอ้างว่าเงินที่เก็บมาคนละ 38,000บาท เป็นการเก็บเงินจากชาวจีนคนนอกทั้ง 13 คนนี้ รวมทั้งหมดประมาณ 490,000บาท ส่วนนักศึกษาและอาจารย์ไม่ได้เก็บเงิน
ส่วนหมวก เสื้อ สัญลักษณ์ตำรวจที่แจกให้ อ้างว่า ไปซื้อมาจากหลังกระทรวงกลาโหม และมีค่าตอบแทนวิทยากร ซึ่งตำรวจบก.น.3 ไปแค่วันแรก รองผู้กำกับฯ เป็นวิทยากรวันแรก และมีวิทยากร คนอื่นๆ รวมถึงมีวิทยากร ที่เป็นทนายความด้วย ส่วนผู้กำกับสืบสวน บก.น.3 ไปเปิดวันอบรม และเป็นบุคคลที่ลงนามในใบประกาศ และผู้กำกับสืบสวนฯ ระบุว่า เซ็นไปให้แค่ใบเดียว แล้วทางที่จัดอบรมนำไปสแกน เองทั้งหมด
ส่วนการสอบข้อเท็จจริง นักศึกษาจีน 3 คนวันนี้ให้การว่า เขามาเรียนปริญญาโท ตามปกติ และเมื่อมหาวิทยาลัยประกาศว่าใครจะสมัครอบรมสมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรมและการจราจร จะมีการออกบัตรให้ ก็ได้สมัครเข้าอบรม เพราะมีจุดประสงค์ต้องการคุ้มครองนักศึกษาจีน เพราะบัตรมีอายุ 2 ปี
ทั้งนี้ จะเข้าข่ายความผิดอย่างไรบ้างนั้น พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ ระบุว่า ต้องพิจารณาว่า การจัดอบรมต้องได้รับการอนุญาตจากพื้นที่และมหาวิทยาลัยต้องรับรู้ และหากตรวจสอบแล้วว่าหนังสือที่ ส่งมาให้ทางตำรวจ บก.น.3 เพื่อขอคำแนะนำนั้น หากพบว่า ไม่ได้ออกจากมหาวิทยาลัย แล้วเป็นหนังสือปลอม ก็จะมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารราชการ และการจัดอบรมไม่ถูกต้องรวมถึงกรณีการใช้เครื่องหมายของตำรวจโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งบุคคลที่เข่าข่ายการกระทำความผิด ส่วนนี้ อาจารย์หลี่ชาง และ นายหลี่หมิงหลง ผู้จัดอบรม ทั้งนี้เชื่อว่า คนที่เป็นผู้เข้าร่วมอบรมไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด
ส่วนกรณีการเรียกเก็บเงิน 38,000 บาท จะต้องดูว่ามีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่ ซึ่งหากมีผู้เสียหายยืนยันจะเอาผิดก็ต้องดำเนินคดี ในความผิดฐานฉ้อโกง กับผู้จัดอบรม คือ นายหลี่หมิงหลง ด้วย