10 พฤศจิกายน 2567 พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยกับทีมข่าวเนชั่นทีวี ถึงความคืบหน้าทางคดี ทนายตั้ม นายษิทรา เบี้ยบังเกิด โกงเงินเจ๊อ้อย ว่า กรณีเงิน 39 ล้าน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุม รัดกุมทุกอย่าง โดยเฉพาะความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ ทนายตั้ม ภายหลังพบนายนุ คนสนิททนายตั้ม และ น.ส.สารินี นุชนารถ ภรรยาของ นายนุ ได้เดินทางไปถอนเป็นเงินสดออกมาจากธนาคาร ที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งย่านห้าแยกลาดพร้าว
ซึ่งหากตรวจสอบพยานหลักฐานทุกอย่างครบถ้วนว่า เกี่ยวข้องกับใคร และมีใครร่วมกระทำผิดด้วย ก็จะดำเนินการทางคดี ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเงินส่วนนี้ที่ตำรวจตรวจพบ ได้เรียกมาสอบปากคำในฐานะพยานไปทั้งหมดแล้ว ส่วนบุคคลเหล่านี้จะเปลี่ยนสถานะจากพยานเป็นผู้ต้องหาได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาพยานหลักฐาน ถ้าพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง รู้เห็น หรือมีเจตนาร่วมหรือไม่
ทั้งนี้จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มในสัปดาห์หน้าได้เลยหรือไม่นั้น ตำรวจก็จะทำทุกอย่างให้ต่อเนื่องรวดเร็วที่สุด และขณะนี้ ตำรวจอยู่ระหว่างการสืบสวนหาทรัพย์สินเพิ่มเติมของทนายตั้มและภรรยา ตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน หากเจอเพิ่ม ปปง.ก็จะดำเนินการยึดทรัพย์ตามระเบียบ
สำหรับผลการตรวจค้นสำนักงานกฎหมายษิทรา ลอว์เฟิร์ม เมื่อวันที่ 8 พ.ย.นั้น มีพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์พยานหลักฐานต่างๆที่ตรวจยึดมาได้
ส่วนการที่ทนายความของนายษิทรา จะหาพยานผู้เชี่ยวชาญคนกลาง ทั้งผู้เชี่ยวชาญการโอนเงินระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับไทย /ผู้เชี่ยวชาญในการคิดค่าคอมมิชชั่น /และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบก่อสร้าง มาให้การนั้น พล.ต.ต.สุวัฒน์ บอกว่า ก็รับฟังได้ทั้งหมด เพราะตำรวจไม่ได้หวังพึ่งพยานหลักฐานใดหลักฐานหนึ่ง เพราะต้องทำให้ครบถ้วนรอบคอบ และส่วนของตำรวจก็มีพยานหลักฐานอยู่แล้วด้วย ดังนั้นก็เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่ทำได้ และหากพามาเองได้ก็ควรพามาเองเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ไม่ใช่มาอ้างบุคคลที่ตำรวจไม่สามารถนำมาสอบได้ เพื่อประวิงเวลา แต่ยืนยันว่า ตำรวจสอบสวนกลางพร้อมให้ความเป็นธรรมอยู่แล้ว
ส่วนการที่ทนายความของ นายษิทรา ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการต่อสู้คดี พล.ต.ต.สุวัฒน์ มองว่า ก็ไม่มีผลอะไร ก็เป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา และตำรวจก็พร้อมให้ความเป็นธรรม ไม่ได้กังวลว่าเป็นนักกฎหมายแล้วจะรู้เรื่องกฎหมายเป็นอย่างดี เพราะทุกคนก็มีสิทธิเหมือนกันหมด ถึงไม่ใช่นักกฎหมายแต่เขาก็ปรึกษานักกฎหมายอยู่ดี ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกัน ส่วนใครจะแสดงความคิดเห็นในคดีกันยังไงก็ไม่เป็นไร เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และตำรวจก็ทำตามหน้าที่ให้ทางอัยการให้ศาลเห็น