30 ตุลาคม 2567 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายนพดล ธรรมวัฒนะ ผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.คนึงนิตย์ และนายแทนทอง ธรรมวัฒนะ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น ตลาดยิ่งเจริญ ในนาม บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะจำกัด
เดินทางมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางณฤมล ธรรมวัฒนะ นางกัญจนิดา ตันติสุนทร และนายอริย ธรรมวัฒนะ เป็นจำเลยที่ 1-3 ต่อศาลอาญาในข้อหา ร่วมกันกระทำความผิด ลงข้อความอันเป็นเท็จในหนังสือเชิญประชุม
นายนพดล เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก น.ส.คนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ ได้ใช้สิทธิโอนหุ้นบางส่วนของตนที่มีอยู่ให้กับ นายนพดล และนางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ แต่นางณฤมล ธรรมวัฒนะ กับพวกบังอาจใช้อำนาจหน้าที่ลุแก่อำนาจของการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นไม่ยอมโอนหุ้นให้กับนายนพดล และ นางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ
ตามคำร้องขอโดยไม่ให้เหตุผล และอ้างแต่เพียงข้อบังคับของบริษัทฯ ให้อำนาจกรรมการไว้ว่า "คณะกรรมการทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ที่จะปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมได้โดยไม่ต้องแสดงเหตุผล"
น.ส.คนึงนิตย์ และนายแทนทอง ธรรมวัฒนะ ผู้ถือหุ้นเห็นว่าข้อบังคับของบริษัทฯ ดังกล่าวไม่ถูกต้อง เป็น ข้อบังคับที่ให้กรรมการใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ขัดต่อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า
อันหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้ การให้อำนาจคณะกรรมการทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่ให้ความยินยอมการโอนหุ้น หรือให้มีการโอนหุ้นให้กับบุคคลที่คณะกรรมการพึงพอใจเท่านั้น
อีกทั้งยังขัดต่อข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตามพรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม ที่ว่า ข้อตกลงที่มีลักษณะ หรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติ หรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ
เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงที่ให้สิทธิที่จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือปฏิบัติตามสัญญาในระยะเวลาที่ล่าช้าโดยไม่มีสาเหตุอันสมควร
จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ที่สำคัญข้อบังคับดังกล่าวยังฝ่าฝืนข้อกำหนดในพินัยกรรมของนาง สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (เจ้ามรดก) ตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2531 อย่างชัดเจน
เมื่อข้อบังคับของบริษัทของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด ในข้อ 4 เป็นข้อบังคับที่ขัดต่อข้อกำหนดใน พินัยกรรม ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ขัดต่อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ว่าด้วยการโอนหุ้น ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นข้อบังคับที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้ขัดแย้ง และเป็นไปตามเจตนารมณ์ ตามพินัยกรรมของนางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (เจ้ามรดก)
น.ส.คนึงนิตย์ และนายแทนทอง ธรรมวัฒนะ ผู้ถือหุ้น จึงได้ร้องขอให้บอกกล่าวเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาให้แก้ไขข้อบังคับดังกล่าว แต่ นางณฤมล ธรรมวัฒนะ กับพวกรวมสามคน
ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ ไม่ยอมเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นภายในกำหนด 30 วัน ตามกฎหมาย ตามคำร้องขอของน.ส.คนึงนิตย์ และนายแทนทอง ธรรมวัฒนะ
นางณฤมล ธรรมวัฒนะ กับพวกรวม 3 คน ได้กระทำการโดยไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นความผิดทั้งทางแพ่ง และอาญาในส่วนความผิดทางแพ่งได้ยื่นฟ้องเพิกถอนมติที่ประชุมไว้แล้ว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง
ส่วนที่เป็นความผิดทางอาญา ได้ยื่นฟ้องนางณฤมล ธรรมวัฒนะ กับพวก ร่วมกันกระทำความผิดลงข้อความเท็จในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นต่างกรรมต่างวาระในวันนี้
1. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 นางณฤมล ธรรมวัฒนะ ได้ออกหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการบริษัท สุวพีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด ครั้งที่ 4/2567 ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. และกำหนดระเบียบวาระในการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 4/2567 ให้รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 3/2567
แต่บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะจำกัด ไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 3/2567 และไม่เคยดำเนินการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 3/2567มาก่อน การลงข้อความในหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 4/2567 ดังกล่าวจึงเป็นการลงข้อความในเอกสารเรียกประชุมของบริษัทอันเป็นเท็จ
เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ในการควบคุมการบริหาร กิจการตลาดยิ่งเจริญ ทำให้นางสาวคนึงนิตย์ และนายแทนทองได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499
2. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 นางกัญจนิดา ตันติสุนทร และนายอริย ธรรมวัฒนะ โดยความยินยอมจากนางณฤมล ธรรมวัฒนะ ได้ร่วมกันออกหนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 10 กันยายน 2567เวลา 10.00 น.
โดยอ้างมติคณะกรรมการบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด แต่ในความจริงคณะกรรมการบริษัท สุว พีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด ไม่เคยมีการลงมติให้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 แต่อย่างใด และนางสาวคนึงนิตย์ซึ่งเป็นกรรมการไม่ได้รับการบอกกล่าวให้เข้าร่วมประชุมและลงมติดังกล่าว การออกหนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 ดังกล่าว
จึงเป็นความผิดฐานลงข้อความอันเป็นเท็จในหนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ในการควบคุมการบริหารกิจการตลาดยิ่งเจริญ ทำให้นางสาวคนึงนิตย์ และนายแทนทองได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499
ภายหลังยื่นฟ้องแล้ว นายนพดล กล่าวว่า ได้รับมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องนางนฤมล,นางกัญจนิดา และ นายอริย ข้อหาลงเอกสารอันเป็นเท็จเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ห้างหุ้นส่วนจำกัดพ.ศ.2549 ประเด็นการโอนหุ้น
ซึ่งมีความพยายามทำเอกสารย้อนหลัง ให้เกิดความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่ามีการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 4 เพื่อรับรองรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 3 และเมื่อออกหนังสือเชิญวิสามัญก็ให้ผู้ไม่มีอำนาจลงนามในหนังสือ
และอ้างมติที่ประชุมคณะกรรมการ
ทำให้นางคะนึงนิดเสียอำนาจในจะออกเสียงลงคะแนนและไม่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมคดี โดยศาลรับคำฟ้องไว้ เป็นเลขคดี อ.3154/2567 โดยนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 20 ม.ค.2568 เวลา 09.00 น.ซึ่งตนเองจะเป็นพยานขึ้นเบิกความ
นายพนดล กล่าวต่อว่า ในระหว่างที่ยื่นฟ้องแพ่งและอาญาไม่ได้มีการประสานเพื่อที่จะพูดคุยเจรจากัน แต่ถ้าอีกฝ่ายจะเจรจา ตนก็ยินดีเพราะเมื่อคดีเข้าสู่ศาล
ก็น่าจะมีการเรียกให้เจรจาไกล่เกลี่ยกันก่อนซึ่งจริงๆแล้วเราอยากให้กฎหมายเป็นแนวทางกำหนดความถูกต้องเพราะที่ผ่านมาคดีความก็จบกันได้ด้วยการเจรจาไม่ได้มีคำพิพากษาใดๆออกมา แต่เมื่อมีการกระทำซ้ำแบบเดิมขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องมาฟ้อง
ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เคยฟ้องมาก่อนแล้วทั้งสิ้น ยกเว้นเรื่องการโอนหุ้น โดยคดีนี้ตนยื่นฟ้องเป็นคดีที่ 5 ซึ่ง4 คดีที่ผ่านมาเป็นคดีเเพ่ง
ทั้งนี้ ทนายความของ นายนพดล กล่าวเพิ่มเติมว่า คดีนี้เป็นคดีที่ยื่นฟ้องเอง ถ้ามีการเจรจาก่อนคำพิพากษาก็สามารถจะถอนฟ้องคดีได้ ซึ่งข้อหาดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี