2 มกราคม 2567 ปีใหม่ปีนี้ อากาศค่อนข้างดี คนที่อยากสัมผัสลมหนาว บรรยากาศสบายๆ ต้องไปท่องเที่ยวภาคเหนือ เช่น ภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
แต่เชื่อหรือไม่ว่า หลายๆ พื้นที่ของอุตรดิตถ์ จังหวัดเดียวกัน ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ “อันซีน” คือ สวยงาม อาหารอร่อย ปลอดภัย แต่ไม่ค่อยมีใครเคยผ่านไปเยี่ยมเยือน
หนึ่งในนั้นคือ บ้านท่าเรือ อำเภอท่าปลา พูดชื่ออำเภอท่าปลา ของอุตรดิตถ์ หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นอำเภอที่ตั้งของเขื่อนสิริกิติ์ เชื่อว่าทุกคนคงร้อง...อ๋อ! เพราะเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ท่องจำขึ้นใจมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม
“เขื่อนสิริกิติ์” เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำน่าน ทำให้พื้นที่บางส่วนของอำเภอท่าปลา กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และทะเลสาบเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งก็คือที่บ้านท่าเรือนั่นเอง
เขื่อนสิริกิติ์เองก็มีชื่อท้องถิ่นว่า “เขื่อนท่าปลา” ก่อสร้างมานานถึง 56 ปีแล้ว ทำให้ชาวบ้านที่ท่าเรือมีอาชีพทำประมงน้ำจืด และบ้านท่าเรือก็มีตลาดเล็กๆ ขายส่งปลาสดๆ ทั้งยังมีแพท่องเที่ยว เพื่อพานักท่องเที่ยวออกไปชมทัศนียภาพของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ด้วย
บรรยากาศที่บ้านท่าเรือปีนี้มีน้ำเยอะเต็มอ่าง สามารถไปนั่งชิลล์ ชมวิว ทานอาหารในแพริมเขื่อน หรือใช้เรือลากแพไปเที่ยวชมเขื่อนก็ได้ มีทั้งแบบไป-กลับใน 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง ครึ่งวัน ทั้งวัน หรือแม้แต่ค้างคืนก็ได้เช่นกัน
เมื่อแพล่องไปในเขื่อน นอกจากชมวิวทิวทัศน์อันงดงามแล้ว ยังอาจได้เห็นร่องรอยของเมืองใต้บาดาล ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิม แต่ต้องอพยพผู้คน เพราะต้องจมน้ำจากการสร้างเขื่อน หากน้ำลดจะมองเห็นวัดและยอดเจดีย์
ระหว่างลองแพในเขื่อน ยังจะได้พบเรือยนต์เล็กๆ มาเทียบขายของ เป็นบรรยากาศการค้าขายแบบบ้านๆ น่ารักๆ ของบ้านท่าเรือ อย่าง คุณป้าวัยกลางคน ล่องเรือคนเดียวตระเวนขายส้มตำ และขนมขบเคี้ยว
คุณป้าบอกว่า บ้านท่าเรือปีนี้น้ำเยอะ สวยงาม อากาศดี จึงอยากให้มาเที่ยวกันมากๆ เพราะบรรยากาศแบบนี้ทิ้งช่วงไปนานถึง 13 ปีแล้ว
ส่วน หนุ่มเจ้าของแพท่องเที่ยวที่บ้านท่าเรือ เล่าว่า เขาเกิดที่หมู่บ้านริมทะเลสาบ และช่วยทำงานแพมาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งต่อยอดมาทำธุรกิจแพท่องเที่ยวด้วยตัวเอง
“เมื่อก่อนที่นี่มีนักท่องเที่ยวเยอะกว่านี้ แต่ด้วยพิษโควิด ทำให้ทุกอย่างซบเซา วันนี้สถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว แต่คนยังมาเที่ยวน้อยอยู่ เพราะลืมบ้านท่าเรือไป ก็อยากให้คนไทยแวะมาเที่ยว เยี่ยมเยือนบ้านท่าเรือกันเยอะๆ ให้มากกว่าเดิม”
สำหรับเมนูเด็ดที่เตรียมไว้รอให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง ก็คือ “ปลาตะโกกเผา” เป็นปลาน้ำจืดตัวโตที่จับกันสดๆ จากเขื่ีอน นำมาเผากับมะพร้าว ทำให้มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อหวาน ทานแล้วจะติดใจ
นอกจากนั้นยังมีปลาอื่นๆ ให้ได้รับประทานอีกมาก หรือจะซื้อหาจากตลาดปลาริมเขื่อน ซึ่งมีปลาสดๆ ให้เลือกหลายชนิด รวมถึงสินค้าแปรรูปจากปลา โดยเฉพาะปลาซิวตาสีน้ำเงิน และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกกันมาก เป็นผลผลิตของอำเภอท่าปลาเช่นกัน
บ้านท่าเรือแวะไปเที่ยวไม่ยาก เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างตัวเมืองอุตรดิตถ์กับเขื่อนสิริกิติ์ ใครที่เดินทางไปเที่ยวชมเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถแวะบ้านท่าเรือได้ทั้งขาไปและขากลับ ถ้าไปจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ ผ่านอุตรดิตถ์ ก่อนถึงเขื่อนสิริกิติ์ ก็เลี้ยวรถเข้าบ้านท่าเรือ ที่สามแยกท่าปลาได้
ส่วนใครที่เดินทางมาจากจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น น่าน เชียงราย เชียงใหม่ หากไปเขื่อนสิริกิติ์ก่อน ก็แวะไปเที่ยวกินปลาได้ที่บ้านท่าเรือ ขับรถเลยจากเขื่อนสิริกิติ์แค่ไม่กี่นาทีก็ถึงแล้ว
สำหรับเรื่องราวของอำเภอท่าปลา กับเขื่อนสิริกิติ์ ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 50 ปี หรือครึ่งศตวรรษ หลังชาวท่าปลาต้องเสียสละที่ดินทำกินเพื่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมและผลิตกระแสไฟให้คนไทยแล้ว แต่คนท่าปลากลับไม่มีที่ดินทั้งอยู่อาศัยและทำกินเสียเอง
ข่าวว่าการประชุม ครม.ครั้งแรกของปี 2568 จะปลดล็อกปัญหานี้ได้สำเร็จเสียที...จริงหรือไม่ต้องช่วยกันลุ้นเอาใจช่วยชาวท่าปลา