16 ตุลาคม 2567 เมื่อเวลา 10.00 น. นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. เจ้าหน้าที่ สบส. และ อย. จะลงพื้นที่ตรวจสอบดิไอคอนเวลเนส คลินิกเวชกรรม ของ บ.ดิไอคอน กรุ๊ป ย่านรามอินทรา
โดย "ดิไอคอนเวลเนส คลินิกเวชกรรม" ตั้งอยู่บริเวณโซน J จำนวน 4 คูหา ในโครงการ HOME OFFICE แห่งหนึ่งย่านรามอินทรา พบว่าคลินิกดังกล่าวปิดทำการโดยมีป้ายกระดาษระบุข้อความปิดให้บริการ แปะไว้ที่ประตูกระจก
นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า หลังเมื่อวานที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขพร้อมเลขาธิการแพทยสภาได้เข้าแจ้งความ ให้ดำเนินคดีกับ "บอสหมอเอก" นายฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ หนึ่งในบอสดิไอคอน ที่มีการแอบอ้างตัวเองเป็นแพทย์ เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ และยังเป็นอีกบุคคลหนึ่งในระดับแม่ทีมที่ร่วมลงทุนทำธุรกิจกับ "บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด"
โดยจากการตรวจสอบ พบว่า นายเอก เรียนจบด้านเทคนิคการแพทย์ แต่ไม่ได้จบแพทย์เวชกรรม จึงไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้โดยตรง
และในวันนี้จะมีการตรวจสอบว่าคลินิกเปิดอย่างถูกต้องหรือไม่ ยาที่ใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ถูกต้องตามหลักการแพทย์หรือไม่ แต่เมื่อมาถึงเพราะว่าทางคลินิกได้ปิดให้บริการ แต่เบื้องต้นทราบว่าทางคลินิกมีใบอนุญาตเปิดสถานประกอบการอย่างถูกต้อง ซึ่งวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดไว้แล้ว
และหมอเอกเองไม่มีรายชื่อในแพทย์สภาซึ่งไม่ได้เป็นหมอ ตนจึงขอเรียกว่า "คุณเอก" แทน "หมอเอก" นอกจากนี้จะต้องดำเนินคดีกับคุณเอกให้เรียบร้อย โดยเฉพาะในคลิปที่มีการฉีดอะไรบางอย่างเข้าไปให้คนอื่นอย่างน้อย 5 คน ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นการฉีดอะไรเข้าไป และยังมีการกระทำที่มีการใส่ชุดกราวด์และใส่หูฟังหมอ แล้วยังพูดว่าตัวเองเป็นหมอ ซึ่งถ้าเป็นหมอแล้วไม่มีการขึ้นทะเบียนก็ถือว่าเป็นหมอเถื่อน
ในเมื่อคุณเอกไม่มาพบ ขั้นตอนต่อไปคือการออกหมายเรียกและหมายจับ เพราะคุณคือส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเข้าใจผิดในเรื่องของการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ซึ่งอยากให้คุณเอกออกมาพูดข้อเท็จจริง หากว่าท่านไม่ออกมาพูด ก็ต้องตามตัวท่านมา และจะตามจนเจอ
หากเห็นคนใส่เสื้อกราวด์ ใส่หูฟังหมอ บอกว่าตัวเองเป็นหมอแล้วขึ้นไปพูดบนเวที และมีคนเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง เชื่อว่าเขาเป็นคนมีความรู้ความสามารถ ก็ไปร่วมประกอบธุรกิจที่เขาทำอยู่ ประชาชนหลงเชื่อในเครดิตจนเกิดความเสียหาย เป็นการปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้น ผู้นั้นจะมีความผิดในทางฉ้อโกงประชาชน สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ทันที
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุเพิ่มเติมว่า หากผู้ใดที่บอกว่าเป็นแพทย์ สามารถเอาชื่อไปค้นหาได้เลยที่แพทย์สภา หากไม่พบฐานข้อมูลแสดงว่าไม่ใช่แพทย์ หากหลอกลวงก็มีความผิดต่อวิชาชีพเวชกรรม มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับถือว่าเป็นโทษรุนแรง
หากมีการประกอบวิชาชีพในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตด้วยนั้น จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และหากแสดงตนว่าเป็นผู้ดำเนินการ จะมีโทษจำคุกอีก 5 ปี ฉะนั้น จึงขอเตือนว่า หากไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์จริง อย่าให้บริการทางการแพทย์ หรือแสดงตนให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากมีโทษที่ร้ายแรงตามกฎหมาย